กระชายดำ
กระชายดำ
ชื่ออื่นๆ : หัวละแอน ขิงแดง ขิงทราย
ชื่อวงศ์ : -
ชื่อสามัญ : -
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia parviflora Wall.Ex Baker
กระชายดำแตกต่างจากกระชายทั่วไปที่ใช้เป็นเครื่องแกง คือ กระชายทั่วไปใช้ส่วนที่เป็นราก (tuber) ซึ่งงอกออกมาจากเหง้า (ลำต้นที่อยู่ใต้ดิน หรือ rhizome) มีกาบใบและใบซ้อนโผล่ขึ้นอยู่เหนือดิน ส่วนกระชายดำใช้ส่วนของลำต้นใต้ดิน (rhizome) หรือที่เรียกว่า หัว ลักษณะคล้ายขิง หรือขมิ้น แต่ขนาดเล็กกว่า เหง้าหรือหัวมีสีเข้มแตกต่างกัน ตั้งแต่สีม่วงจาง ม่วงเข้ม และม่วงดำ (ไม่ดำสนิทเหมือนถ่าน) เหง้ากระชายดำที่ดีควรมีลักษณะผิวเรียบมัน เปลือกบาง สีน้ำตาลคล้ำ หัวย่อยมีขนาดสม่ำเสมอในแต่ละเหง้า ใบรูปไข่มีขนาดใหญ่และมีสีเขียวเข้มกว่ากระชายทั่วไป ใบมีกลิ่นหอม ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนสีเขียว ผิวใบด้านล่างเป็นนวลแป้ง มีทั้งสีแดงเหลือบเขียวอ่อนหรือเป็นสีเขียวขึ้นกับชนิดของสายพันธุ์ ดอกมีสีชมพูอ่อนๆ ริมปากดอกสีขาว เส้าเกสรสีม่วง เกสรสีเหลือง
จังหวัดเลยเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ โดยเป็นพืชท้องถิ่นที่มีการปลูกและแปรรูปใน อ.นาแห้ว อ.ด่านซ้าย และ อ.ภูเรือ รวมพื้นที่ปลูกในจังหวัดเลยปี 2545/46 ประมาณ 3,000 ไร่
ปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมและจำแนกพันธุ์อย่างเป็นทางการ แต่กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมพันธุ์จากแหล่งปลูกเพื่อการค้า 12 แหล่ง ในจังหวัดเลย พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ สามารถจำแนกสายพันธุ์กระชายดำได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ สายพันธุ์ ใบแดง (สีเนื้อในเหง้า สีเข้ม ) และสายพันธุ์ ใบเขียว (สีเนื้อในเหง้า สีจาง ) ในทางการค้านิยมสายพันธุ์ที่มีสีเนื้อในเหง้าสีเข้ม โดยเฉพาะกระชายดำที่มีสีดำสนิทจะมีลักษณะหัวค่อนข้างเล็ก ชาวเขาเรียกว่า กระชายลิง ซึ่งหายาก
การปลูก
กระชายดำเป็นพืชดั้งเดิมของชาวเขา จึงเชื่อกันว่ากระชายดำที่มีคุณภาพ จะต้องปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500-700 เมตร(กรมวิชาการเกษตรกำลังศึกษาวิจัย) เจริญเติบโตและลงหัวได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำขัง ชอบแดดร่มรำไร เกษตรกรจึงนิยมปลูกกระชายดำระหว่างแถวไม้ยืนต้น การปลูกให้ใช้หัวแก่จัดอายุ 11-12 เดือน ในพื้นที่1 ไร่จะใช้หัวพันธุ์ 200-250 กก.ฤดูปลูกเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม-มกราคม โดยเฉลี่ยหัวพันธุ์1 กก.ให้ผลผลิต 5-8 กก.หรือ 700-1,000 กก./ไร่ ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณน้ำฝนและช่วงเดือนฝนตกที่ยาวนาน
การใช้วัสดุปลูกกระชายดำ เช่น กากมะพร้าวสับ พีทมอส แกลบดำ แกลบดิบ ทราย ค่า EC 2.0 เริ่มปลูกถึง 3 เดือน และค่า EC 3.0 ระยะ 3 เดือนขึ้นไป ค่า PH 5.7-5.8
การวัดเจริญเติบโต ความสูง จำนวนต้นต่อกอ
ปัจจุบันราคาเฉลี่ยกระชายดำลดลงมาก จากปี 2545 ที่ราคาประมาณ 160 บาท/กก. ลดลงเหลือ 17 บาท/กก. ในปี 2548 ปี 2564 ราคา 150-180 บาทต่อกิโลกรัม
การใช้ประโยชน์
ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานคุณภาพของกระชายดำในตำรับยาสมุนไพรของไทย แต่ได้มีการวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบทางเคมีที่สำคัญของกระชายดำ เช่น สารประกอบกลุ่มฟีนอลิก สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารแอนโธไซยานิน ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต้านความเหนื่อยล้า ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ รวมทั้งวิเคราะห์ปริมาณและคุณภาพของน้ำมันหอมระเหย ซึ่งกระชายดำสายพันธุ์ ใบเขียว และสายพันธุ์ ใบแดง มีสารดังกล่าวแตกต่างกัน
กระชายดำเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้โรคบิด ปวดท้อง ลมป่วงทุกชนิด โดยใช้หัวว่านฝนผสมกับเหล้าโรง ถ้าป่นเป็นผงทั้งหัวและต้นผสมด้วยน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดลูกกลอน นอกจากนี้ยังใช้กวาดแก้ตานซางในเด็ก หรือรับประทานเป็นยาอายุวัฒนะ ปัจจุบันนอกจากจะใช้ประกอบเป็นตัวยาโดยตรงแล้ว ยังนำไปบดเป็นผง บรรจุซองชงน้ำร้อนดื่มบำรุงสุขภาพ ใช้ดองดื่มเพื่อให้เกิดความกระชุ่มกระชวย ทำลูกอม และที่นิยมที่สุด คือ ทำไวน์กระชายดำ
หัวข้องานวิจัย เป้าหมายได้กระชายดำพันธุ์ดี ปริมาณสารสำคัญและผลผลิตสูง ปลอดโรค คุณภาพดี เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม
1. พันธุ์ : ข้อมูลประจำพันธุ์ พันธุ์ที่เหมาะสมต่อพื้นที่ พันธุ์แนะนำ พันธุ์ปลอดโรค
2. การเก็บเกี่ยว : อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม วิธีการเก็บเกี่ยว วิธีการเก็บรักษา
3. การแปรรูป : กระชายดำอบแห้ง กระชายดำผง สารสกัดกระชายดำ
4. ด้านคุณภาพ : โรคเหี่ยว ความสมบูรณ์ของผลผลิต ปริมาณสารสำคัญไม่คงที่
5. เทคโนโลยี การจัดการโรคเหี่ยว การปลูกซ้ำพื้นที่เดิม การจัดการดิน ความต้องการธาตุอาหาร อัตราการใช้หัวพันธุ์ ระยะปลูก crop requirement
โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute
Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ