banner ad

มังคุด

| February 10, 2014

ชื่อต้น : มังคุด

ชื่อสามัญ : mangosteen
สถานการณ์การผลิต พื้นที่เพาะปลุกได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และสุราษฎร์ธานี
ปี 2565 เนื่อที่ให้ผลผลิต 419,962 ไร่ ผลผลิต 283,356 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 675 กิโลกรัม
ปี 2563 พื้นที่ปลูกลดลงร้อยละ 0.15 เนื่อที่ให้ผลผลิต 430,074 ไร่ ผลผลิต 336,861 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 783 กิโลกรัม เนื้อที่ปลูกทั้งหมด 448,904 ไร่
ปี 2562 เนื่อที่ให้ผลผลิต 426,679 ไร่ ผลผลิต 382,800 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 827 กิโลกรัม
ปี 2559 เนื่อที่ให้ผลผลิต 419,283 ไร่ ผลผลิต 187,801 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 448 กิโลกรัม
วิธีการขยายพันธุ์ : การเพาะเมล็ดและการเสียบยอด การขยายพันธุ์มังคุดด้วยการเสียบยอดบนต้นตอมังคุด เริ่มให้ผลผลิตหลังจากปลูกเพียง 3 ปี เร็วกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเริ่มให้ผลผลิตหลังจากปลูก 5-6 ปี
วิธีการปลูก :การปลูกเตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอก ใช้ระยะปลูก 6×6 หรือ 8×8 เมตร ช่วงออกดอกติดผลประมาณกลางเดือนเมษายนถึงสิงหาคม

การดูแลรักษา : หลังปลูกใหม่ควรให้น้ำสม่ำเสมอและจะขาดน้ำไม่ได้ ช่วงเตรียมการออกดอกต้องควบคุมการให้น้ำ ส่วนการให้ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักตัวสมบูรณ์แล้ว อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี และปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม และพ่นยูเรีย อัตรา 100-200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อกระตุ้นให้แตกใบอ่อน ถ้าใบอ่อนแตกแล้วให้พ่นปุ๋ยเกล็ด 0-52-34 อัตรา 100 กรัม น้ำ 20 ลิตร สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ และพ่นปุ๋ยทางใบ เช่น 15-30-15 อัตรา 60 กรัม และกรดฮิวมิค อัตรา 20 มิลลิลิตร ให้ทั่วทุกทรงพุ่ม (ช่วงเตรียมต้นก่อนการออกดอก)

การให้ปุ๋ยทางใบ

1. เตรียมความพร้อมของต้นหลังเก็บเกี่ยวสำหรับการออกดอก เพื่อเร่งให้เกิดการแตกใบอ่อนใน ช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่เกินเดือนกันยายน โดยการฉีดพ่นปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 100-200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้น

2. การชักนำให้ต้นออกดอก : ฉีดพ่นไซโตไคนิน ชนิด ไคเนติน (kinetin) เข้มข้น 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 5

3. การส่งเสริมการพัฒนาผลและคุณภาพผล : เพื่อบำรุงผลในมังคุดที่มีขนาดผลประมาณ 0.5 เซนติเมตร โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 30 กรัม ร่วมกับปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (0-52-34) อัตรา 10 กรัม และโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 10 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง

อาการยางไหลเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผล เมื่อได้รับน้ำมากเกินไปในช่วงผลใกล้แก่ ซึ่งน้ำเหล่านี้จะเข้าไปแทนที่อากาศส่วนหนึ่ง ทำให้ช่องว่างลดลง เกิดเป็นเนื้อใสที่เต็มไปด้วยน้ำ และที่สำคัญคือ เมื่อผลมังคุดมีน้ำมากก็จะขยายตัวมากเกินไป จึงมีผลทำให้ท่อน้ำยางแตก และเกิดอาการยางไหลในผลมังคุด ซึ่งสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า คือ น้ำยางสีเหลืองไหลออกมาเป็นจุดๆ บนเปลือก นอกจากนั้น การเสียดสีของผลด้วยกันเองหรือกับใบ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเนื้อแก้วและยางไหล

ลักษณะอาการ : เนื้อมังคุดที่เป็นเนื้อแก้ว จะใสและมีลักษณะคล้ายฉ่ำน้ำอยู่ภายใน อาการเนื้อแก้วมักเกิดกับกลีบเนื้อหรือพูที่มีเมล็ดและลุกลามไปยังพูข้างเคียง มังคุดเนื้อแก้วจะมีความกรอบและรสชาติค่อนข้างจืด ถ้าอาการรุนแรงอาจสังเกตได้จากภายนอก คือ ผิวของเปลือกจะมีรอยร้าวตามแนวนอน ถ้ารอยร้าวนั้นยาวอาการเนื้อแก้วในผลจะมีมาก แต่หากอาการเนื้อแก้วมีเพียงเล็กน้อยจะ ไม่สามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติใดๆ บนผิวของผล

การแพร่ระบาด : ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติในช่วงผลมังคุดใกล้แก่ อายุต้น สภาพดิน และการจัดการสวน ต้นมังคุดที่มีอายุมากก็มีโอกาสที่จะเกิดเนื้อแก้วได้น้อยกว่าต้นอายุน้อย มังคุดที่ปลูกในดินที่มีลักษณะเป็นทราย มีโอกาสจะเกิดเนื้อแก้วได้มากกว่าในดินเหนียว และการจัดการน้ำที่เหมาะสม จะช่วยให้เกิดอาการเนื้อแก้วน้อยลง

การป้องกันกำจัด

1. มีการจัดการต้นมังคุดให้ออกดอกเร็วกว่าฤดูกาล เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนที่ฝนจะตกชุก

2. มีการให้น้ำมังคุดอย่างสม่ำเสมอในช่วงติดผล การบำรุงรักษาต้นให้มีความสมบูรณ์ ปราศจากความเสียหายจากอาการใบไหม้ ใบจุดหรือใบร่วง ซึ่งจะช่วยให้มังคุดมีทรงพุ่มที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์

3. มีการให้น้ำเหนือทรงพุ่มเป็นระยะๆ ในขณะที่ผลมังคุดเจริญเติบโตเต็มที่

———————————————-

อาการยางตกในผล

สาเหตุ

1. การกระทบกระแทกของผลในขณะเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการขนส่ง

2. ได้รับน้ำมากเกินไปจากสภาวะฝนตกต่อเนื่อง ทำให้สภาวะน้ำภายในผลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ท่อน้ำยาง (latex vessel) แตก

ลักษณะอาการ : ผลมังคุดที่ได้รับการกระทบกระแทกจากการเก็บเกี่ยวและการขนย้าย หากไปถึงมือผู้บริโภคเร็วก็ยังพอรับประทานได้ แต่ถ้าทิ้งไว้นานเปลือกจะแข็ง เนื้อในแห้งแข็งและมียางแทรกอยู่ในเนื้อไม่สามารถรับประทานได้ สำหรับอาการที่ไม่รุนแรงเนื้อยังรับประทานได้แต่จะมีรสฝาดหรือขมของยางติดมาด้วย ?ส่วนอาการยางไหลภายในผล เกิดจากการที่ต้นมังคุดได้รับน้ำในปริมาณมากและต่อเนื่อง ในช่วงที่มังคุดใกล้แก่

การแพร่ระบาด : ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน อายุต้น สภาพดิน การจัดการสวนและวิธีการเก็บเกี่ยว การจัดการลัง การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

การป้องกันกำจัด : เก็บเกี่ยวให้ผลมังคุดได้รับความกระทบกระแทกน้อยที่สุด ก็จะสามารถรักษาคุณภาพของเนื้อภายในให้ มีคุณภาพดีอยู่ได้นานวัน

————————————————-

โรคที่สำคัญ

1.โรคใบจุด/แผลแตกยางไหล/ผลเน่า

ลักษณะอาการ : เกิดอาการแผลจุดสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทาบนใบ ขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน อาจจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ขอบแผลค่อนข้างจะมีสีม่วงเข้ม แผลเก่าๆ บริเวณกลางแผลพบจุดเล็กสีดำกระจายอยู่ ซึ่งจุดดำๆ เหล่านี้คือส่วนขยายพันธุ์ของรา ถ้าเป็นโรครุนแรงจะทำให้ใบสูญเสียเนื้อที่ในการสังเคราะห์แสง มีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของมังคุด นอกจากนี้รายังสามารถเข้าทำลายลำต้น โดยเฉพาะในระยะต้นกล้า

การแพร่ระบาด : ราสาเหตุสร้างสปอร์แพร่กระจายไปตามลม ระบาดมากในฤดูฝน ถ้าพบโรคใบจุดที่ใบมากและช่วงที่ติดผลมีความชื้นสูง ฝนตกชุก โรคจะเข้าทำลายผลมังคุดด้วย

การป้องกันกำจัด

1. การทำความสะอาดแปลงปลูก กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งสะสมโรค

2. พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช? ในช่วงที่มังคุดแตกใบอ่อน ได้แก่ คอปเปอร์อ็อกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 30-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร คาร์เบนดาซิม 50% WP อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

3. ป้องกันกำจัดแมลงพวกหนอนชอนใบ เพื่อลดการเกิดแผลบนใบ

———————————————————————-

2. โรคผลเน่าแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อ Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Penz. & Sacc.

ลักษณะอาการ : เริ่มแรกเป็นแผลจุดเล็ก สีดำบนผล ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้น โรคเกิดได้ตั้งแต่ผล สีน้ำตาลจนถึงผลแก่ ถ้าสภาพแวดล้อมมีอุณหภูมิและความชื้นสูง จะพบราสร้างกลุ่มของสปอร์สีส้ม เป็นวงซ้อนกัน เจริญอยู่บนแผล สามารถเข้าทำลายได้ทั้งส่วนของใบและผล โรคมีระยะพักตัวเป็นเดือน โดยไม่แสดงอาการในระยะผลอ่อน แต่จะแสดงอาการเมื่อผลแก่ โดยเฉพาะใกล้เก็บเกี่ยว

การแพร่ระบาด : ราสร้างสปอร์แพร่กระจายไปตามลมและฝน ระบาดมากในช่วงฤดูฝนและระยะใกล้เก็บเกี่ยว

การป้องกันกำจัด

1. การทำความสะอาดแปลงปลูก และทำลายส่วนที่เป็นโรค

2. พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช ได้แก่ คาร์เบนดาซิม 50% WP อัตรา 10-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ไอโปรไดโอน 50% WP อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

—————————————————–

3. โรคผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว

สาเหตุ : เกิดจากผลมังคุดได้รับการกระทบกระเทือนจากการเก็บเกี่ยว การขนส่ง ทำให้เกิดอาการยางตกในหรือเนื้อแก้ว ซึ่งเป็นสภาพเอื้ออำนวยให้เชื้อราสาเหตุโรคพืชสามารถเข้าทำลายให้เกิดการเน่าเสียได้ หรือเกิดจากสภาพการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม มีความร้อนและความชื้นสูง รวมทั้งระยะเวลาในการเก็บรักษานาน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เชื้อสาเหตุโรคพืชหลายชนิด เข้าทำลายทำให้เกิดอาการเน่าเสียภายในเนื้อผลได้

การแพร่ระบาด : อาการเน่าของเนื้อภายในผลจะพบภายหลังการเก็บเกี่ยวประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในสภาพการเก็บเกี่ยวแล้วเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง ส่วนใหญ่พบเกิดกับผลที่มีปัญหาเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้อง เกิดแผลหรือรอยช้ำต่างๆ ซึ่งทำให้ราสามารถเข้าทำลายเนื้อผลภายในได้ง่าย

การป้องกันกำจัด : เกษตรกรผู้ปลูกควรต้องดูแลรักษาในเรื่องการป้องกันกำจัดโรคพืช ตั้งแต่ช่วงออกดอกและติดผลอ่อน โดยการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช ได้แก่ คาร์เบนดาซิม 50% WP อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เบโนมิล 50% WP อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ?เพื่อลดความเสี่ยงจากราที่อาจจะเข้าไปในผล และไปทำความเสียหายในช่วงหลังเก็บเกี่ยว

———————————————–

แมลงศัตรูที่สำคัญ

1.เพลี้ยไฟ Scirtothrips dorsalis Hood (เพลี้ยไฟพริก) และ ?Scirtothrips oligochaetus Karny (เพลี้ยไฟมังคุด) จะดูดกินน้ำเลี้ยงของมังคุด ถ้าเข้าทำลายช่วงออกดอกและติดผลอ่อน จะทำให้ดอกและผลแห้งและร่วง ส่วนผลที่ไม่ร่วง เมื่อมีการพัฒนาโตขึ้น จะเห็นรอยทำลายชัดเจน มีลักษณะเป็นแผลขรุขระสีน้ำตาลที่เรียกว่าผิวขี้กลาก ผลมังคุดที่มีลักษณะดังกล่าวจึงขายได้ในราคาต่ำ ใบอ่อนมังคุดที่แตกใหม่ทุกครั้ง เป็นตัวดึงดูดให้เพลี้ยไฟเข้ามาทำลาย โดยเฉพาะเมื่อมังคุดมีการทยอยแตกใบอ่อน ทำให้การระบาดของเพลี้ยไฟเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ?เพลี้ยไฟจะระบาดรุนแรงในช่วงอากาศแห้งแล้ง ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม บนทรงพุ่มมังคุดจะพบเพลี้ยไฟปริมาณมากทางทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก บริเวณด้านบนของทรงพุ่ม ช่วงเวลา 9.00-11.00 น.

พืชอาหาร : เพลี้ยไฟพริกระบาดทำลายไม้ผลหลายชนิด เช่น มะม่วง เงาะ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ทุเรียน ลิ้นจี่ และลำไย เป็นต้น ส่วนเพลี้ยไฟมังคุด อาจพบระบาดในมะม่วง ระยะการเจริญเติบโตของมังคุดที่พบการระบาด : ระยะใบอ่อน ดอก และผลอ่อน ศัตรูธรรมชาติ : แมงมุมแมงชนิดต่างๆ

การป้องกันกำจัด : ระยะวิกฤตที่ควรทำการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในมังคุด คือ ช่วงฤดูแล้งขณะที่มังคุดอยู่ในระยะออกดอก ติดผลอ่อน การพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชควรพ่น 3 ครั้ง คือ ระยะก่อนดอกบาน 7 วัน ขณะดอกบาน และหลังบานแล้ว 7 วัน หากเป็นการระบาดนอกฤดูการออกดอกติดผล ควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ยเกิน 1 ตัวต่อยอด พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ? ได้แก่ ฟิโปรนิล 5% SC อัตรา 10 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 10 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ?คาร์โบซัลแฟน 20% EC อัตรา 50 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไซเพอร์เมทริน/โฟซาโลน 28.75% EC อัตรา 40 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

—————————

2. เพลี้ยแป้ง (mealybug) Pseudococcus cryptus Hempel (เพลี้ยแป้งมังคุด)ดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกและผลอ่อน โดยจะเริ่มระบาดเมื่อผลมังคุดอายุประมาณ 2 เดือน จนถึงระยะเก็บเกี่ยว เมื่อผลโตใกล้เก็บเกี่ยวเพลี้ยแป้งจะไปฝังตัวดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้กลีบเลี้ยง และมูลหวานที่เพลี้ยแป้งขับถ่ายออกมาจะดึงดูดให้เกิดราดำขึ้นเป็นคราบเกาะติดผิวมังคุด พืชอาหารได้แก่ ใบมะพร้าว ใบมะม่วง ฝักมะขาม และผลมังคุด จะพบระบาดในช่วงมังคุดระยะผลอ่อน และผลแก่

ศัตรูธรรมชาติ : ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งที่พบ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส Mallada basalis Walker ด้วงเต่าลาย Nephus ryuguus (H. Kamiya) และแตนเบียนในวงศ์ Eulophidae

การป้องกันกำจัด

1. ถ้าพบระบาดไม่มาก อยู่เป็นกลุ่มเฉพาะผลใดผลหนึ่งให้เก็บผลเหล่านั้นเผาทำลาย

2. ควรมีการสำรวจตั้งแต่มังคุดเริ่มติดผล การระบาดในมังคุดผลเล็ก สามารถพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ประสิทธิภาพดีกว่าการป้องกันกำจัด เมื่อเพลี้ยแป้งระบาดในผลโต เมื่อพบเพลี้ยแป้งระบาดมากกว่าร้อยละ 10 ของผลสำรวจ พ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ คาร์โบซัลแฟน 20% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร คาร์บาริล 85% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

3. การแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมักมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งไปปล่อยยังจุดต่างๆ จึงต้องป้องกันมด โดยใช้เศษผ้าชุบน้ำมันเครื่องพันรอบโคนต้น

————————————

4. หนอนชอนใบ (leafminer) ?Acrocercops sp. และ Phyllocnistis sp. หนอนชอนใบ Acrocercops sp. ชอบทำลายใบอ่อนที่มีอายุมาก โดยตัวหนอนที่ฟักจากไข่ชอนไชกัดกินและขับถ่ายอยู่ในระหว่างผิวใบ รอยทำลายเป็นลักษณะแผ่กว้างเป็นแผ่นสีดำ ส่วนหนอนชอนใบ ?Phyllocnistis sp. ชอนไชทำลายใบอ่อนมังคุดที่มีอายุน้อยกว่า พบการระบาดรุนแรงมากขณะมังคุดแตกใบอ่อน โดยเฉพาะต้นกล้าของมังคุด ตัวหนอนที่ฟักจากไข่ ชอนไชเป็นทางยาว ใบมังคุดที่ถูกทำลายจะแคระแกรน บิดเบี้ยว ทำให้มังคุดชะงักการเจริญเติบโตในระยะต้นกล้า แต่ต้นมังคุดที่โตแล้วจะทำให้มังคุดแตกใบอ่อนบ่อยครั้ง เพื่อชดเชยใบที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งใบอ่อนเป็นตัวดึงดูดแมลงศัตรูชนิดอื่นๆ เข้ามาทำลายมังคุดเพิ่มขึ้น พบการระบาดของหนอนชอนใบทั้งสองชนิด รุนแรงในเขตจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนที่มีการแตกใบอ่อนของมังคุด

ศัตรูธรรมชาติ : พบแตนเบียนของหนอนชอนใบมังคุดประมาณ 10 ชนิด โดยในเดือนธันวาคม พบหนอนชอนใบมังคุดถูกแตนเบียนทำลายสูงสุด ร้อยละ 80.6 และต่ำสุดร้อยละ 16.3 ในเดือนพฤศจิกายน

การป้องกันกำจัด : แตนเบียนที่พบมากที่สุด คือ A. citricola ถ้าพบหนอนชอนใบระบาดรุนแรง (ใบอ่อนถูกทำลาย มากกว่าร้อยละ 30) และไม่พบแตนเบียนให้พ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช คาร์บาริล 85% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

——————————————-

5. หนอนกินใบอ่อน (Leaf eating caterpillar) Stictoptera columba (Walker), Stictoptera cucullioides Guenee และ Stictoptera signifera (Walker) ทำลายกัดกินใบอ่อนมังคุดจนเหลือเฉพาะก้านใบหรือบางครั้งหมดทั้งใบ หนอนชนิดนี้เป็นผีเสื้อกลางคืน ในตอนกลางวันจึงไม่ค่อยพบตัว โดยจะทำลายมังคุดในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันหลบลงดิน หรือหลบอาศัยตามเศษซากใบไม้ หรือระหว่างใบในทรงพุ่มที่มืด หากระบาดรุนแรงใบอ่อนจะถูกกินจนหมด?ถ้าหนอนระบาดในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ซึ่งเป็นการแตกใบอ่อนชุดสุดท้ายก่อนการออกดอก จะมีผลกระทบต่อการเกิดตาดอกและผลผลิต โดยพบการแพร่ระบาดของหนอนกินใบอ่อนทุกแหล่งปลูกมังคุด ในขณะที่มีการแตกใบอ่อน โดยเฉพาะหนอนกินใบอ่อน S. cuculliodes พบระบาดรุนแรงมาก ที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ศัตรูธรรมชาติ : พบหนอนกินใบอ่อนมังคุดถูกแตนเบียนทำลายเป็นจำนวนมาก

การป้องกันกำจัด เนื่องจากหนอนกัดกินทำลายใบอ่อนมังคุดในเวลากลางคืน และทิ้งร่องรอยการทำลายให้เห็น หากสำรวจพบใบอ่อนมังคุดถูกทำลายเกินร้อยละ 20 ให้พ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช คาร์บาริล 85% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

————————————–

6. ไรขาวพริก (broad mite) Polyphagotarsonemus latus Banks ทำลายบริเวณใบอ่อนหรือยอดอ่อนของมังคุด เชื่อกันว่าสามารถปล่อยสารพิษลงสู่พืชในขณะที่ดูดกินจากต่อมน้ำลาย ทำให้การเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ผิดปกติ ลักษณะอาการผิดปกติ คือ ส่วนขอบใบอ่อนจะม้วนลง แข็งกระด้าง หงิกงอผิดรูป และแคระแกรน หรือทำให้สีของใบอ่อนซีด หรือเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ร่วงหลุดไปในที่สุด?ถ้าไรขาวพริกเข้าทำลายมังคุดในระยะผลอ่อน โดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงผลอ่อนที่เริ่มติดผล และหลบซ่อนตัวอยู่ภายใต้กลีบเลี้ยง พบมากกับผลที่อยู่ในทรงพุ่ม ผิวของผลอ่อนที่ถูกทำลายจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน และสีจะเข้มขึ้น เมื่อการทำลายรุนแรงมากขึ้นผิวจะด้านสาก และเมื่อผลแก่ ผิวผลจะด้านไม่เป็นมัน ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ จะพบการระบาดในระยะผลอ่อน

พืชอาหาร : มันฝรั่ง โหระพา กะเพรา ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว ถั่วลันเตา ไผ่ ปอกระเจา เยอบีร่า หม่อน ชา เบญจมาศ องุ่น มะม่วง มังคุด ลองกอง ส้มเขียวหวาน ส้มโอ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ฝ้าย กุหลาบ ลำโพง ส้ม แตงกวา

ศัตรูธรรมชาติ : ศัตรูธรรมชาติของไรขาวพริกที่พบ ได้แก่ ไรตัวห้ำ Amblyseius cinctus Corpus and Rimando

การป้องกันกำจัด : สารเคมีป้องกันกำจัดไรหลายชนิดที่มี ประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดไรขาวพริก โดยฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน และพ่นซ้ำหากพบการระบาดอีก ได้แก่ อามีทราซ 20% EC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร กำมะถันผง อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

———————————–

วัชพืชที่พบในสวนมังคุดสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท คือ

1. วัชพืชประเภทใบแคบ มีลักษณะที่สำคัญ คือ ลำต้นเป็นข้อปล้องชัดเจน ใบรูปเรียวยาว เส้นใบขนานกัน เช่น หญ้าปากควาย หญ้าตีนกา หญ้าคา และหญ้าโขย่ง

2. วัชพืชประเภทใบกว้าง มีลักษณะใบที่แผ่กว้างและขนาดใหญ่กว่าวัชพืชใบแคบและกก เช่น กระดุมใบใหญ่ สาบม่วง และสาบแร้งสาบกา

3. วัชพืชประเภทกก ลักษณะใบคล้ายวัชพืชใบแคบ ลำต้นอาจกลมหรือเป็นสามเหลี่ยม แต่ไม่มีข้อปล้อง เช่น แห้วหมู และกกตุ้มหู

การป้องกันกำจัด

1. แปลงปลูกใหม่ ก่อนปลูกไถพลิกหน้าดินปรับพื้นที่ กำจัดวัชพืชในพื้นที่ออกให้หมด แล้วจึงกำหนดหลุมปลูก ขุดหลุมกว้าง ตากดิน เก็บชิ้นส่วนวัชพืช เช่น หัว เหง้า ไหลของวัชพืช และตอไม้ยืนต้นออกให้หมด หลังปลูกคลุมโคนต้นมังคุดด้วยฟางข้าว หรือเศษใบไม้แห้ง ซึ่งจะช่วยป้องกันการงอกของเมล็ดวัชพืช และรักษาความชื้นให้ต้นมังคุด

2. ระยะที่ต้นมังคุดยังเล็ก (ช่วง 4 – 5 ปีแรก) เนื่องจากต้นมังคุดโตช้าและระยะปลูกห่าง ทำให้มีพื้นที่ว่างมาก วัชพืชจึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแข่งขันกับต้นมังคุด จึงต้องเลือกวิธีการควบคุมวัชพืชที่เหมาะสม เช่น ปลูกพืชแซม ปลูกพืชคลุมดิน เช่น ถั่วพร้า ถั่วขอ ถั่วซิรูเลี่ยม โดยต้องมีการดูแลไม่ให้ต้น? ถั่วเหล่านี้ขึ้นพันต้นมังคุด ใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว ใบหญ้าคา หญ้าแฝก แกลบ เศษซากวัชพืช ?ใช้แรงงานตัดหรือถาก หรือใช้เครื่องตัดหญ้า ระหว่างแถวและระหว่างต้นมังคุด โดยต้องกำจัดวัชพืชก่อนวัชพืชออกดอก การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช พ่นก่อนวัชพืชออกดอกและความสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร และขณะพ่นควรมีลมสงบ ใส่หัวหลอบเพื่อป้องกันละอองสารปลิวไปสัมผัสใบและต้นมังคุด ได้แก่ ไกลโฟเสต 48% SL อัตรา 150?200 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร กลูโฟสิเนต-แอมโมเนียม 15% SL อัตรา 200 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร พาราควอต 27.6% SL อัตรา 150 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตรโดยพ่นคลุมต้นวัชพืชให้ทั่วในพื้นที่ 1 งาน

3. ระยะที่ต้นมังคุดมีทรงพุ่มแผ่กว้างแล้ว ปัญหาวัชพืชจะลดน้อยลง แต่สำหรับวัชพืชที่เหลืออยู่ในรัศมีทรงพุ่มมังคุด ใช้วิธีการตัดหรือถาก 1-2 ครั้ง ช่วยลดปัญหาวัชพืชได้ นอกจากนี้ การคลุมโคนต้นด้วยเศษซากวัชพืช แกลบ หรือฟางข้าว ช่วยลดปัญหาวัชพืชได้

————————-

ดัชนีการเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยวของผลมังคุด คือ ช่วง 11-13 สัปดาห์ (77-91 วัน) หลังดอกบาน หรือการเปลี่ยนแปลงสีผิว

ระดับ 1 ผลสีเขียวตองอ่อนทั้งผล เป็นผลอ่อนเกินไป ห้ามเก็บเกี่ยวโดยเด็ดขาด เพราะคุณภาพด้อยมาก ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับการบริโภค

ระดับ 2 ?ผลมีสายเลือด (เกิดจุด แต้ม หรือประสีม่วงแดง)?เหมาะต่อการเก็บเกี่ยว แต่ยังไม่เหมาะต่อการบริโภค เพราะเนื้อยังติดเปลือก แต่เหมาะต่อการส่งไปจำหน่ายยังตลาดห่างไกล ผลมังคุดในวัยนี้ใช้บริโภคได้ภายใน 4 วัน หลังการเก็บเกี่ยว (ณ อุณหภูมิเขตร้อน)

ระดับ 3 ผลมีสีน้ำตาลแดงเรื่อๆ เกือบทั้งผล ผลในระยะนี้จะต้องทำการเก็บเกี่ยวให้หมด ไม่ควรปล่อยให้ผลติดกับต้นเกินวัยมากกว่านี้

ระดับ 4 ผลมีสีน้ำตาลแดงผลระยะนี้อาจจะใช้บริโภคได้ แต่เปลือกยังมียางสีเหลืองอยู่บ้าง

ระดับ 5 ผลมีสีม่วงแดง?ระยะนี้ใช้บริโภคได้

ระดับ 6 ผลมีสีม่วงเข้มหรือม่วงดำ?เป็นระยะที่เหมาะต่อการรับประทานให้อร่อยได้มากที่สุด ผลมังคุดวัยนี้จะมีสภาพที่เหมาะต่อการรับประทาน อยู่ได้ประมาณ 10 วัน ถ้ามีการเก็บรักษาไว้ ณ อุณหภูมิห้องอย่างถูกต้อง

————————–

การแบ่งเกรดมังคุด

ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรมังคุดของสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกษ. 2-2556) แบ่งชั้นคุณภาพมังคุดเป็น 3 ชั้นคุณภาพ
1. ชั้นพิเศษ (Extra class) ผลมังคุดชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดีที่สุด มีกลีบเลี้ยงและขั้วผลสมบูรณ์ ตำหนิที่ผิวโดยรวมต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ผิวของผล มีเนื้อแก้ว และ/หรือเนื้อมียางสีเหลืองในผลได้ไม่เกิน 5% ของจำนวนผลหรือน้ำหนัก ความคลาดเคลื่อนยอมให้มีได้ไม่เกิน 5% โดยจำนวนหรือน้ำหนัก

2. ชั้นหนึ่ง (Class I ) ผลมังคุดชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดี อาจมีความผิดปกติหรือตำหนิได้เล็กน้อย โดยตำหนิที่ผิวผลโดยรวมต้องไม่เกิน 30% ของพื้นที่ผิวผล มีเนื้อแก้ว และ/หรือเนื้อมียางเหลืองในผลได้ไม่เกิน 10% ของจำนวนผลหรือน้ำหนัก ความคลาดเคลื่อนยอมให้มีได้ไม่เกิน 10% โดยจำนวนหรือน้ำหนัก

3. ชั้นสอง (Class II) ผลมังคุดในชั้นนี้รวมผลมังคุดที่มีคุณภาพ แต่มีคุณภาพตามข้อกำหนดขั้นต่ำ? มีตำหนิที่ผิวผลโดยรวมต้องไม่เกิน 50% ของพื้นที่ผิวผล และมีเนื้อแก้ว และ/หรือเนื้อมียางเหลืองในผลได้ไม่เกิน 20% ของจำนวนผลหรือน้ำหนัก ความคลาดเคลื่อนยอมให้มีได้ไม่เกิน 10% โดยจำนวนหรือน้ำหนัก

การเก็บรักษา

ที่อุณหภูมิน้อยกว่า 5 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 5 วัน ที่อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 8-10 วัน ที่อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 14-28 วัน ที่อุณหภูมิมากกว่า 20 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 10-14 วัน

การรม ด้วยสารเมทธิลโบรไมด์จะมีผลกระทบทำให้อายุการเก็บรักษาของมังคุดสั้นลงได้ สำหรับการบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้มังคุดคงความสดได้ดี คือ การบุกล่องด้วยถุงหรือ ฟิล์มพลาสติก

—————————–

คุณค่าอาหารและสรรพคุณ : เนื้อมังคุดมีคาร์โบไฮเดตร เส้นใย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบี1 วิตามินบี2 ไนอะชิน และวิตามินซี เนื้อมังคุดให้พลังงานต่ำมีเส้นใยอาหารมากกว่า ถ้ารับประทานมังคุดหลังจากรับประทานทุเรียน ฤทธิ์เย็นจะช่วยลดความร้อนในร่างกาย ทำให้ไม่เป็นแผลร้อนใน เปลือกผลสุกตากแห้งมีรสฝาด สามารถช่วยรักษาอาการท้องเสีย ท้องเดินได้ เพราะเปลือกมังคุดแห้งมีสารแทนนิน (tannin) ออกฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน

ดาวน์โหลด คู่มือการดูแลมังคุด 52 สัปดาห์

GAP มังคุด

การสร้างมูลค่าเพิ่ม

- การแปรรูปขั้นต้น น้ำมังคุด 100% ส่วนผสมน้ำผลไม้ มังคุดลอยแก้ว มังคุดกวน

-การแปรรูปขั้นกลาง แกะเนื้อแช่แข็ง ฟรีซดราย  น้ำสกัดมังคุด ไวน์มังคุด

-ส่งเสริมกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ยกระดับมาตรฐานการผลิต

ปัจจุบันนำเปลือกมังคุดมาทำเป็นเครื่องสำอาง สบู่ โลชั่น ยาสระผม ผสมอาหารและยา ใบใช้ทำสีย้อมผ้า เมล็ดใช้ผสมในอาหาร ผสมในมังคุดกวน น้ำมังคุดผสมเมล็ด น้ำมังคุด น้ำเปลือกมังคุดหมัก เบเกอรี่ไส้มังคุด น้ำส้มสายชูหมักจากมังคุด ที่มีการพัฒนาเชื่อมโยงเกษตรกร ผู้ประกอบการ และตลาดเข้าด้วยกันจนสามารถจำหน่ายเป็นสินค้าในตลาด และบางผลิตภัณฑ์กำลังพัฒนารูปแบบ รูปลักษณ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในยุควิถีใหม่

การใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสในดินปลูกมังคุด ช่วงตุลาคมชักนำดอก ใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 ทำให้ฟอสฟอรัสตกค้างในดิน ใช้เชื้อราไมโคไรซ่า ลดการตรึงฟอสฟอรัสในดิน เชื้อเอ็คโตไมคอร์ไรซาที่ละลายฟอสเฟต นำเชื้อเห็ดมาแยก ทดสอบเชื้อในจาน pdb หาการละลายฟอสฟอรัส 3 5 7 9 11 วัน ทำในกล้ามังคุด เก็บที่ 3  6 9 เดือน พบ เห็ดโคนขาว เห็ดเสม็ด เห็ดระโงกเหลืองสร้างเคลียร์โซนดี เห็ดหนอนขาว clavaria vermicularis มีประสิทธิภาพดีสุด  ที่ระยะ 6 เดือนทำให้ฟอสฟอรัสหลุดออกมาได้ดีที่มีประโยชน์

การพัฒนาเม็ดดินเผาจากเปลือกมังคุด และการทำวัสดุปลูกจากเปลือกมังคุด

สารสกัดจากเปลือกมังคุดในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และเสริมสุขภาพ

Category: GAP, VDO, พืชไม้ผล, พืชไม้ผล บ-ม

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news