banner ad

GAP หญ้าหนวดแมว

| December 20, 2013

GAP หญ้าหนวดแมว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Orthosiphon aristatus (Blume) Miq.

ชื่อสามัญ Kidney tea plant, Java tea

ชื่อวงศ์ LAMIACEAE หรือ LABIATAE

ชื่ออื่น บางรักป่า (ประจวบคีรีขันธุ์) อีตู่ดง (เพชรบูรณ์)

1. ลักษณะของพืช

เป็นไม้ล้มลุก สูง 30-60 เซนติเมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยม โคนต้นอ่อนโค้ง ปลายตั้งตรง ตามยอดอ่อนมีขนกระจาย ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปไข่ หรือ รูปข้าวหลามตัด กว้าง 2-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นฟันเลื่อยห่างๆ ยกเว้นขอบที่โคนใบจะเรียบ มีขนตามเส้นใบทั้งด้านบนและด้านล่าง เนื้อใบบาง ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร มีขน ดอกสีขาวหรือขาวอมม่วงอ่อน ออกเป็นช่อกระจายที่ยอดเป็นรูปฉัตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ริ้วประดับรูปไข่ยาว 1-2 มิลลิเมตร ไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง งอเล็กน้อย ยาว 2.5-4.5 มิลลิเมตร เมื่อเป็นผลยาว 6.5-10 มิลลิเมตร ด้านนอกมีต่อมน้ำมันหรือเป็นปุ่มๆ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดตรงเล็ก ยาว 10-20 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นปาก ปากบนมีหยักตื้นๆ 4 หยัก โค้งไปทาด้านหลัง ปากล่างตรง โค้งเป็นรูปช้อน ผลรูปขอบขนานกว้าง แบน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ตามผิวมีรอยย่น

2. สภาพพื้นที่ปลูก

เจริญเติบโตได้ในทุกภาคของประเทศ ในพื้นที่ที่มีความลาดเอียงต่ำ และพื้นที่ราบ

ปลูกได้ในดินทุกชนิด ที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป็นดินทรายควรเพิ่มอินทรีย์วัตถุ

ชอบสภาพดินชื้น จนเกือบแฉะแต่น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำดี

ชอบที่ร่มหรือแดดรำไร

สามารถปลูกกลางแจ้งได้แต่ต้องให้ดินมีความชื้นตลอดเวลา

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์

1. เป็นพันธุ์ที่ให้กิ่งใบที่มีความสมบูรณ์

2. ลำต้นมีความแข็งแรงให้ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบมีขนาดใหญ่

3.เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็วให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ

4.เป็นพันธุ์ต้านทานหรือทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตเชิงการค้า ได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ไถพรวนดิน เก็บซากพืชปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชควรยกร่องขนาดกว้างประมาณ 50-60 เซนติเมตร สูงประมาณ 25 เซนติเมตร

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ใช้ต้นหรือกิ่งที่สมบูรณ์ ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ตัดกิ่งปักชำให้มีตาติดอยู่ 3-4 ตา โดยตัดปลายก้านให้เฉียง นำไปปักลงในกระบะเพาะในแกลบดำ หรือ ดินปักชำที่เป็นดินร่วนปนทรายหรือดินผสมทราย และตัดใบออกให้เหลือใบแต่น้อย ปักให้เอน 45-60 องศา กลบดินให้แน่น รดน้ำให้สม่ำเสมอจนแตกราก และมีใบงอกออกมา จึงย้ายลงปลูกในแปลง

4.3 วิธีการปลูก : นำกิ่งชำมาปักลงดิน ระยะปลูก 30×30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ถ้าเป็นพันธุ์พุ่มใหญ่อาจเพิ่มระยะปลูกให้มากขึ้น เมื่อทำการย้ายกิ่งปักชำมาปลูกใหม่ๆ ควรทำร่มให้ประมาณ 1 สัปดาห์ จนพืชตั้งตัวได้

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ หญ้าหนวดแมวเป็นพืชที่ต้องการน้ำและความชื้นมาก ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันทั้งเช้าและเย็น ส่วนในฤดูฝนให้สังเกตจากความชื้นของดิน หากดินมีความชื้นสูงก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ

5.2 การใส่ปุ๋ย เนื่องจากเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ง่าย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ปุ๋ย

5.3 การกำจัดวัชพืช โดยการใช้แรงงานถอนวัชพืชออกจากแปลงปลูก

5.4 โรคและแมลงที่สำคัญ : ไม่มีโรคและแมลงที่สำคัญของหญ้าหนวดแมว

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเกี่ยวเมื่อต้นหญ้าหนวดแมวเริ่มออกดอก

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : จะเก็บเกี่ยวเก็บใบที่สมบูรณ์ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป โดยเด็ดตรงส่วนยอดของลำต้นแต่ละยอดยาวประมาณ 1 คืบ ส่วนนี้คือส่วนที่มีใบอ่อนและใบจวนแก่ ยอดไหนมีดอกก็สามารถเก็บนำมาใช้ได้

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : นำหญ้าหนวดแมวมาคัดเลือกเศษวัชพืชและใบที่เหลืองทิ้ง ล้างน้ำให้สะอาด ตัดหรือหั่นให้มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตรผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาเกลี่ยบนภาชนะที่สะอาด คลุมด้วยผ้าขาวบาง เพื่อกันฝุ่นละออง แล้วนำไปตากแห้ง หรืออบที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง พลิกกลับบ่อยๆ จะช่วยให้แห้งเร็วขึ้น จนกระทั่งหญ้าหนวดแมวแห้งกรอบ จึงเก็บใส่ถุงพลาสติก กรณีไม่มีตู้อบสมุนไพร ให้นำหญ้าหนวดแมวที่หั่นเสร็จใส่ถาด นำไปวางบนชั้นที่มีความแข็งแรง สูงจากพื้นดินประมาณ 6070 เซนติเมตร ตากแดดนานประมาณ 3 วัน (ควรจะกลับวัตถุดิบทุก 3- 4 ชั่วโมง ต่อวัน)

7.2 การเก็บรักษา : ใบที่ตากจนแห้ง นำมาเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดสนิทป้องกันการดูดความชื้น

- เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย

- นำเข้าจัดเก็บที่ห้องที่มีความชื้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำให้คุณภาพหญ้าหนวดแมวลดลง

- หญ้าหนวดแมวแห้ง ที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้มีความชื้น และมีแมลงรบกวน

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของหญ้าหนวดแมว ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

 

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news