banner ad

GAP มะขามแขก

| January 3, 2014

GAP มะขามแขก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alexandrina Mill.

ชื่อสามัญ Indian Senna, Tinnevelly Senna, Alexandria senna

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE

ชื่ออื่น -

1. ลักษณะของพืช

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.60-1.5 เมตร ใบเป็นช่อแบบขนนก มีใบย่อย 3-7 คู่ ใบย่อยรูปรีหรือรูปหอก โคนใบสอบแคบหรือมน ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ มีขนาดกว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-5.0 เซนติเมตร ก้านใบย่อยสั้นมาก ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อ ใบประกอบแบบขนนก ก้านใบหลักออกเรียงสลับใบย่อยออกตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ 8-9 คู่ มีลักษณะใบรียาวแยกออกเป็นรูปเข็ม ฐานใบไม่สมมาตร ไม่ค่อยมีขนปกคลุม ใบมีเนื้อคล้ายหนัง มีสีเขียว มีหรือไม่มีเส้นใบเห็นชัด ผลเป็นฝักแบนๆ โค้งงอเล็กน้อย มีสีเขียว แต่พอแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ด 6-12 เมล็ด กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร

 

2. สภาพพื้นที่ปลูก

- ปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อน ทนต่อความแห้งแล้งได้พอสมควร

- เจริญเติบโตได้ในดินทุกสภาพ ชอบดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุพอสมควร

- ชอบความชุ่มชื้นปานกลาง ไม่ชอบน้ำท่วมขัง

- ปลูกได้กลางแจ้ง เป็นพืชที่ไวต่อแสง

 

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์

1.เลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง

2.เป็นพันธุ์ที่ถูกต้องตรงตามความต้องการปลูก

3. เลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์ดั้งเดิมจากที่มาจากอินเดีย และปัจจุบันเป็นพันธุ์ปลูกที่ จ.ลพบุรี

 

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : พื้นที่ลาดเอียงเล็กน้อย ให้ไถพรวนและปลูกได้ทันที แต่ในพื้นที่ราบ ให้ไถพรวนแล้วหว่านปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบ ยกร่องแบบสามเหลี่ยม ควรย่อยดินให้ละเอียดก่อนหยอดเมล็ด

4.2 การเตรียมพันธุ์ : เลือกเมล็ดที่มีความสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย

4.3 วิธีการปลูก : ปลูกโดยหยอดเมล็ดลงหลุมๆ ละ 2-3 เมล็ด ถ้าดินแห้งมากควรรดน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้ 1 วัน พอดินหมาดจึงหยอดเมล็ด มีระยะระหว่างต้น50 ซม.และระยะระหว่างแถว 1-1.2 เมตรกลบเมล็ดด้วยดินบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม ต้นอ่อนจะงอกประมาณ 3-4 วัน

- ฤดูปลูก ควรปลูกในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม

- เมล็ดพันธ์ที่ใช้ปลูกประมาณ 1 กิโลกรัมต่อไร่

- มะขามแขกเป็นพืชที่มีอายุสั้นเพียง 1-2 ปี จึงจำเป็นต้องปลูกทดแทนต้นเก่าที่โทรมทุกปี

 

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ มะขามแขกต้องการน้ำในระยะ 1 เดือนแรกเท่านั้น จึงต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

5.2 การใส่ปุ๋ย หลังจากงอกแล้วประมาณ 30 วัน ถ้าใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักใส่อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่ ระหว่างแถว

5.3 การกำจัดวัชพืช ดายหญ้าบริเวณรอบโคนต้น แล้วพูนดินกลบโคนให้ร่องสูงขึ้น เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี
5.4 โรคและแมลง

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด -

แมลงที่สำคัญ

1. ด้วงปีกแข็งสีดำ ทำลายช่อดอก ฝัก และใบอ่อนในเวลากลางคืน ป้องกันกำจัดโดยนำส่วนที่เข้าทำลาย ไข่และตัวของแมลง ไปเผาทำลาย

2. หนอนเขียวข้างเหลือง จะกัดกินยอดอ่อนและดอก

3. หนอนเจาะลำต้น ต้นจะมีอาการเหี่ยวที่ยอด และลำต้นเหนือรอยเจาะ

การป้องกันกำจัด

1. กำจัดหนอน และไข่ของแมลง ออกจากส่วนของต้นพืช

2. ถอนต้นที่แมลงเข้าทำลาย นำออกนอกแปลง และเผาทำลายทิ้ง

 

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม :

การเก็บเกี่ยวใบ เริ่มเก็บเกี่ยวใบเมื่ออายุ 45-60 วัน

การเก็บเกี่ยวฝัก เก็บเกี่ยวหลังจากติดฝัก 21-23 วัน ฝักจะมีสีเขียวปนน้ำตาล

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : โดยตัดยอดเหนือใบแก่ รูดเอาแต่ใบย่อย การตัดใบควรทำ 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 20 วัน จากนั้นปล่อยให้ออกดอกเพื่อเก็บฝัก โดยฝักเก็บระยะที่เริ่มมีเมล็ดใสๆ

 

7.การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ย

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : ผึ่งใบที่เก็บเกี่ยวในที่ร่มประมาณ 2-4 วัน นำไปผึ่งแดดอีกครั้งประมาณ 1 วัน เพื่อให้แห้งสนิท หรืออบที่อุณหภูมิ 55-60 องศาเซลเซียสนาน 8-12 ชั่วโมง สำหรับฝัก แล้วนำมาผึ่งแดด นาน 4 ชั่วโมง และนำไปผึ่งลมจนแห้งสนิท

7.2 การเก็บรักษา : บรรจุในภาชนะที่สะอาด และปิดฝาให้สนิท ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 ปี เพราะปริมาณสารสำคัญจะลดลง

7.3 การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ : เก็บเมล็ดที่แก่จัด จากฝักที่เก็บก่อนจะแตกอ้า หรือเมล็ดหลุดร่วงลงพื้นดิน เพื่อให้ได้เมล็ดที่สะอาดเก็บไว้ทำพันธุ์ และนำมาคัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ ไม่เล็กลีบ และผึ่งลมให้แห้งก่อนนำไปเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเย็น

 

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของมะขามแขก ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่างๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news