GAP ส้มแขก
GAP ส้มแขก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia atroviridis Griff
ชื่อสามัญ Malabar Tamarind
ชื่อวงศ์ GUTTIFERAE (CLUSIACEAE)
ชื่ออื่น มะขามแขก ส้มมะวน (Peninsular); ส้มพะงุน (ปัตตานี); ส้มควาย (ตรัง); อาแซกะลูโก (มลายู-ยะลา)
1. ลักษณะของพืช
ไม้ยืนต้นสูง 5-7 เมตร ลำต้นกลม ตรง เปลือกสีน้ำตาลอมดำ เมื่อลำต้นเป็นแผล จะมียางสีเหลืองออกมา เนื้อไม้แข็ง ใบเดี่ยวเรียงตรงกันข้าม ใบแก่สีเขียวเข้ม ใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดง ใบแคบค่อนข้างยาวขอบใบเรียบปลายใบเรียว ฐานใบสอบเข้าหาก้านใบคล้ายรูปสามเหลี่ยมยอดกลับลง เส้นใบมีจำนวนมากมองเห็นชัด ใบยาว 11.5-20 ซม. กว้าง 4-5 ซม. ก้านใบยาว 1.4-2 ซม. ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้ เป็นช่อดอกย่อยเล็กๆ ติดอยู่ด้านข้างดอกโตกว่าอยู่ตรงกลาง ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยวแทงออกจากปลายยอด กลีบเกลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ แต่กลีบดอกเล็กกว่า ปลายเกสรตัวเมียโค้ง สีแดงเข้มเป็นก้อนกลม ผลเป็นแบบผลเดี่ยว ผลแก่สีเขียว ผลสุกสีเหลือง เนื้อผลหนา 2 ซม. รกอยู่ตรงกลางมีเมล็ด 11 เมล็ด มีช่องว่างภายในผล 11 ช่อง เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วผลไปยังปลายผล มี 8-10 ร่อง ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้นๆ ละ 4 กลีบ ทั้งสองชั้นเรียงสลับกัน เมล็ดแข็งมีเมล็ดสมบูรณ์ 2-3 เมล็ดต่อผล ภายในเมล็ดมีใบเลี้ยงอวบหนา เนื่องจากมีอาหารสะสมอยู่มาก เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ไม่มีเอนโดเสปิร์ม
2. สภาพพื้นที่ปลูก
- ส้มแขกจะชอบพื้นที่ในเขตร้อนชื้นมีฝนตกชุก
- เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล
- เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป แต่ชอบดินร่วนปนดินเหนียวริมน้ำ
- ชอบแสงแดดแบบรำไรถึงปานกลาง
3. พันธุ์
3.1 การเลือกพันธุ์ :
1.เลือกพันธุ์ส้มแขกที่มีความต้านทานโรคและแมลง
3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์พื้นเมืองทางภาคใต้ตอนล่าง
4. การปลูก
4.1 การเตรียมดิน : ขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง 30 x 30 x30 เซนติเมตร ระยะปลูก 9 x9 เมตร ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ รองก้นหลุม
4.2 การเตรียมพันธุ์ : มี 3 วิธี โดยการเพาะเมล็ด การตัดราก และการเสียบยอด
- การตัดราก โดยเลือกต้นส้มแขกที่ให้ผลแล้ว หรืออายุประมาณ 8 ปี ขึ้นไป เลือกรากที่อยู่ลึกจากผิวดิน 2-3 นิ้วเป็นรากขนาดนิ้วก้อยที่สมบูรณ์ ตัดรากตรงบริเวณที่ห่างจากโคนประมาณ 1 คอก แล้วดึงรากที่ยังติดกับต้นแม่ขึ้นมาให้เหนือผิวดิน 3-4 นิ้วใช้ไม้ค้ำยันและมัดให้รากส่วนนั้นตั้งตรง ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ รากที่ถูกตัดจะเริ่มแตกตาแตกกิ่ง พออายุได้ 1 เดือน ก็สามารถตัดรากส่วนนั้นให้ขาดจากต้นแม่ แล้วนำไปชำในถุง หรือปลูกในหลุมได้เลย
- การเพาะเมล็ดและเสียบยอด โดยนำเมล็ดส้มแขกมาเพาะในถุงเพาะชำ จนมีอายุได้ 1 ปี จึงนำไปปลูก หรือใช้เป็นต้นตอสำหรับเสียบยอด โดยกิ่งพันธุ์ที่ใช้เสียบยอดมาจากต้นแม่พันธุ์ที่เป็นต้นตัวเมีย ดูแลรดน้ำ จนกระทั่งกิ่งพันธุ์เชื่อมสนิทกับต้นตอ และแตกยอดใหม่
4.3 วิธีการปลูก
- นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ มาปลูกลงในหลุม กลบดินให้แน่น และมีไม้ยึดลำต้นกันโยก ถ้าแดดจัดต้องพรางแสงแดด ในระยะแรกปลูกด้วยหรือจะแซมกับไม้ผลอื่น เช่น ลางสาด ลองกอง ทุเรียน หรือต้นยาง แม้จะห่างเพียง 1 เมตรก็ยังขึ้นได้ดี เพราะส้มแขกชอบอาศัยอยู่ใต้ร่มเงาของไม้อื่น
- ต้นส้มแขกมี 2 เพศ แยกต้น โดยต้นที่เพาะจากเมล็ดจะได้ผลผลิตส้มแขก เมื่ออายุ 8 ปีขึ้นไป ส่วนต้นที่เสียบยอด จะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป
5. การดูแลรักษา
5.1 การให้น้ำ :ในระยะแรกปลูกถ้าฝนไม่ตก ควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
5.2 การใส่ปุ๋ย : ถ้าดินปลูกเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ดินร่วนเหนียว หรือดินเหนียว ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 20-20-0 โดยหว่านให้ทั่วใต้ทรงพุ่มห่างจากโคนต้นอย่างน้อย50 เซนติเมตรและพรวนดินกลบปุ๋ย
5.3 การกำจัดวัชพืช : หมั่นดูแลกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกส้มแขก
ไม่ให้ขึ้นมารบกวน
5.4 โรคและแมลง : ไม่พบโรคและแมลงที่สำคัญในส้มแขก
6. การเก็บเกี่ยว :
6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : ส้มแขกจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 5-7 ปี ถ้าปลูกโดยใช้เมล็ดปลูก แต่ถ้าปลูกโดยวิธีการเสียบยอดจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3-4 ปี ซึ่งจะออกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม
6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : ทำการเก็บผลส้มแขกที่มีขนาดโตเต็มที่ และไม่เป็นโรคหรือโดนแมลงทำลาย
7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา
7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : เก็บผลที่มีขนาดโตเต็มที่มาล้างน้ำทำความสะอาด 3 ครั้ง หั่นเป็นชิ้นบางๆ และตากแดดจัดๆ ประมาณ 3 วัน
7.2 การเก็บรักษา
- นำส้มแขกที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส และปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด
- หมั่นคอยดูแลและระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำให้คุณภาพส้มแขกลดลง
- ส้มแขกแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีความชื้น และโรคแมลงเข้าทำลาย
8. สุขลักษณะและความสะอาด
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม
- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต
- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี
- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
9. การบันทึกข้อมูล
ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของส้มแขก ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่
1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน
3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา
Category: GAP