banner ad

GAP หญ้าปักกิ่ง

| December 20, 2013

GAP หญ้าปักกิ่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Murdannia loriformis (Hassk.)Rolla Rao et Kammathy

ชื่อวงศ์ COMMELINACEAE

ชื่ออื่น หญ้าเทวดา เล้งจือเช่า (จีน)

 

1. ลักษณะของพืช

ไม้ล้มลุก ใบเลี้ยงเดี่ยว อายุหลายปี ลำต้น กลม สีเขียว เห็นข้อปล้องชัดเจน สูงประมาณ 10 เซนติเมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบที่โคนต้นกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาว 10 เซนติเมตร ใบส่วนบนสั้นกว่าใบที่โคนต้น ดอกเป็นช่อดอก ออกที่ปลายยอด รวมกันเป็นกระจุกแน่น ใบประดับย่อยค่อนข้างกลมซ้อนกัน สีเขียวอ่อน บางใส กลีบดอกสีฟ้าหรือม่วงอ่อน ร่วงง่าย ผลแห้ง แตกได้ มีหญ้าหลายชนิดที่คล้ายคลึงกับหญ้าปักกิ่ง เช่น หญ้ามาเลเซีย จึงต้องระมัดระวังในการเลือกมาใช้ เพราะอาจจะเป็นอันตรายหรือไม่มีผลการรักษาตามที่ต้องการได้

2. สภาพพื้นที่ปลูก

-ชอบดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง

-ชอบดินที่มีความชื้นสูง แต่ต้องระบายน้ำได้ดี

-ชอบแดดร่ำไร แต่ไม่ควรโดนแดดจัดทั้งวัน

หรืออยู่ในที่ร่มมากเกินไป

 

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลง

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : -

 

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : เริ่มจากการเตรียมดิน โดยพรวนดินให้ร่วนซุย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัมต่อไร่ ยกร่องดินให้สูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อช่วยการระบายน้ำ

4.2 การเตรียมพันธุ์ : นำหญ้าปักกิ่งที่แยกมาจากต้นอื่น มาปักลงในดินที่เตรียมไว้ ห่างกันต้นละ 10-15 เซนติเมตร เมื่อหญ้าปักกิ่งงอกแล้วจะขยายเข้าหากันเอง

4.3 วิธีการปลูก : การปลูกโดยใช้เมล็ด เอาเมล็ดจากดอกที่แก่แล้วมาขยี้ให้แตก แล้วโรยลงบนดินที่เตรียมไว้ ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ เมล็ดจะเริ่มงอก

 

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ : ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้ง ในหน้าร้อน

จะรดน้ำเป็นเช้าเย็นก็ได้ และคอยดูแลอย่าให้น้ำขัง เพราะหาก

มีน้ำขัง หญ้าปักกิ่งจะตายได้

5.2 การใส่ปุ๋ย : การปลูกหญ้าปักกิ่งที่สำคัญ คือ

ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงดิน หรือปลูกหญ้าปักกิ่งใต้ต้นไม้ผล หรือไม้ดอกที่ต้องใช้ปุ๋ย หรือฉีดยาฆ่าแมลง

เพราะจะไม่เหมาะกับการนำหญ้าปักกิ่งดังกล่าวไปรักษาโรคต่างๆ

5.3 การกำจัดวัชพืช :ใช้มือถอนวัชพืชออก

5.4 โรคและแมลง :ไม่พบโรคและแมลงที่สำคัญในหญ้าปักกิ่ง

 

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เมื่อหญ้าปักกิ่งอายุได้ 3 เดือนขึ้นไป

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : หญ้าปักกิ่งที่ปลูกด้วยวิธีแยกต้น หากจะนำมาใช้เป็นยา ควรจะใช้เมื่อมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป แต่ถ้าปลูกหญ้าปักกิ่งด้วย วิธีการเพาะเมล็ด หากจะนำมาใช้เป็นยา ต้องใช้เมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 5 เดือน สำหรับการใช้ต้นหญ้าปักกิ่งให้ใช้ทั้งต้นและราก

 

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : ควรเก็บเอาหญ้าปักกิ่งทั้งต้นและราก คัดเอาแต่ใบที่สมบูรณ์เก็บไว้ ส่วนใบซีดเหลืองควรคัดออกก่อน นำมาล้างให้สะอาด โดยล้างเศษดินที่ติดมากับรากให้สะอาด และระวังดินที่ติดโคนต้น นำไปล้างให้สะอาดและสรงน้ำต่ออีก 2 ครั้ง จนสะเด็ดน้ำและแห้งดี หั่นหญ้าปักกิ่งเป็นชิ้นๆ ขนาด 0.5 เซนติเมตรนำไปตากแดดประมาณ 5-7 วัน เวลาตากควรเกลี่ยให้ทั่วและเกลี่ยบ่อยๆ ในระหว่างวัน หรืออบให้แห้งอุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส ความชื้นไม่เกินร้อยละ 11

7.2 การเก็บรักษา : หลังจากอบ และทิ้งไว้ให้เย็น เก็บใส่ถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้แน่น นำไปเก็บในที่เย็น หรือห้องที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่โดนแสงแดด และระวังการเข้าทำลายของโรคและแมลง

 

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของหญ้าปักกิ่ง ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news