banner ad

GAP รางจืด

| December 20, 2013

GAP รางจืด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thumbergia laurifoliaLindl.

ชื่อสามัญ Babbler’s Bill Leaf.

ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE

ชื่ออื่น กำลังช้างเผือก, ขอบชะนาง, เครือเทาเขียว, ยาเขียว,รางจืด (ภาคกลาง), รางเย็น (ยะลา) จอลอดิเออ, ซั้งกะ, ปั้งกะล่ะ, พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ,ดูเหว่า (ปัตตานี) ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), น้ำนอง (สระบุรี), ย้ำแย้, แอดแอ (เพชรบูรณ์)

1. ลักษณะของพืช

เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อย อายุหลายปี เถามีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนาน หรือรูปไข่ ความกว้างใบประมาณ 4-7 ซม. ความยาวใบ 8-14 ซม. ขอบใบเว้าเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนใบเป็นรูปหัวใจ ใบเกลี้ยงไม่มีขน และใบที่อยู่ล่างๆ ก็มักจะใหญ่กว่าใบที่อยู่ถัดขึ้นไป ดอกเป็นดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 3-4 ดอก กลีบดอกมีสีม่วงแกมน้ำเงิน มีใบประดับสีเขียวหรือสีขาวปนสีน้ำตาลแดงหรือสีแดงหุ้มดอกอยู่ มีกลีบดอกขนาดใหญ่ 5 กลีบ ที่ฐานดอกมีลักษณะเป็นกรวยตื้นๆ เป็นรูปแตร หลอดกรวยยาวประมาณ 1 ซม. ปลายดอกจะแยกออกเป็น 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อัน ผลเป็นฝัก เมื่อแห้งแตกได้ มักพบตามป่าดงดิบ ป่าละเมาะ หรือทุ่งหญ้า รางจืดสามารถปลูกได้ทั่วไป

2. สภาพพื้นที่ปลูก

-เป็นพืชที่เจริญเติบโตขึ้นอยู่ตามป่าดงดิบ ป่าละเมาะ หรือทุ่งหญ้า

-เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย และมีความชุ่มชื้นสูง

-ต้องการแสงแดดปานกลาง

 

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกพันธุ์จากแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์และต้านทานต่อโรคและแมลง

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์ของรางจืด มี 3 สายพันธุ์ คือ

 

1. รางจืดดอกแดง

2. รางจืดดอกขาว

3. รางจืดดอกม่วง (รางจืดพันธุ์พื้นเมือง)

4.การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ให้ขุดหลุมขนาด 50x50x30 ซม. ระยะปลูก 1×1 เมตร ตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุมปริมาณ 125 กรัมต่อต้น ก่อนทำการปลูก ควรทำค้างปลูกอาจใช้ค้างปูนหรือค้างไม้ก็ได้ ค้างรางจืดควรมีขนาดใหญ่ เนื่องจากรางจืดเป็นไม้เถาขนาดกลาง และมีการเจริญเติบโตเร็ว

4.2 การเตรียมท่อนพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการใช้เถาปักชำหรือเพาะเมล็ด

4.3 วิธีการปลูก : นำท่อนพันธุ์รางจืดที่มีความสมบูรณ์ ใช้กิ่งปักชำที่มีตาประมาณ 5-6 ตา ยาวประมาณ 20-30 ซม.มาปักชำในหลุมๆ ละ 2-3 ต้น กลบดินที่โคนให้แน่น และพรางแสงด้วยแสลน 50% จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มจนกว่าจะแตกใบอ่อน

ฤดูการปลูกที่เหมาะสม คือ ฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน กรกฏาคม

 

5. การดูแลรักษา

5. 1 การให้นํ้า : รางจืดต้องการน้ำในช่วงเริ่มปลูกมากกว่าช่วงอื่นๆ หลังจากนั้นมีการให้น้ำบ้างในช่วงฤดูแล้ง

5.2. การใส่ปุ๋ย : ควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 500 กรัมต่อต้น รอบโคนต้นทุกๆ 6 เดือน

5.3 การกำจัดวัชพืช : ควรหมั่นดูแลทำความสะอาดบริเวณที่ปลูกรางจืด ไม่ให้วัชพืชอื่นขึ้น

5.4 โรคและแมลง : รางจืด ไม่มีโรคและแมลงที่สำคัญ

 

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : รางจืดเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว :โดยตัดเถาที่มีขนาดใหญ่บริเวณโคนเถาและเหลือไว้ต้นละ 1-2 เถา เพื่อให้เจริญเติบโตและเก็บเกี่ยวในฤดูฝนต่อไป

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว: นำมาทำความสะอาด หั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำไปอบหรือตากแดดจนแห้ง บรรจุใส่ภาชนะที่สะอาด รางจืดสด 1 ต้น สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2-3 กก.สด และอัตราส่วนผลผลิตใบสด : ผลผลิตใบแห้ง เท่ากับ 10 :1 กิโลกรัม อัตราส่วนผลผลิตต้นสด : ต้นแห้ง เท่ากับ 5 : 1 กิโลกรัม

7.2 การเก็บรักษา : รางจืดที่ตากแห้ง ถ้าต้องการเก็บรักษาไว้ ควรใส่กระสอบเก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่อับชื้น โดยแยกส่วนของใบและเถาออกจากกัน บรรจุใส่ถุง ใน 1 ถุง มีอัตราส่วนใบต่อต้น หรือเถา 6 : 4 โดยน้ำหนัก

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของรางจืด ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news