banner ad

GAP ย่านาง

| December 20, 2013

GAP ย่านาง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliacora triandra Diels.

ชื่อสามัญ Cocculus, Indian Berry, Fishberry, Cocculus indicus

ชื่อวงศ์ MENISPERMACEAE

ชื่ออื่น จ้อยนาง (เชียงใหม่)เถาย่านาง เถาวัลย์เขียว (กลาง)ยาดนาง (สุราษฎร์ธานี)

1.ลักษณะของพืช

ย่านางเป็นไม้เถา อายุหลายปี มีเหง้าอยู่ใต้ดิน จะงอกต้นขึ้นมาจากใต้ดินหลายต้น บางครั้งดูเป็นกระจุก ปลายเถาอ่อนๆ มีขนสีเทานุ่มๆ เถาที่แก่จะไม่มีขน มีสีเขียว เถายาว 2 – 13 เมตรใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ใบรูปไข่แกมหอก เนื้อใบหนาแข็ง ผิวใบเป็นมัน เส้นใบจากจุดโคนใบมี 3 เส้น ดอกช่อสั้นๆ ดอกย่อยเล็กมาก สีเหลือง ช่อดอกออกตามง่ามใบ ผลกลมสีเขียว เมื่อสุกสีส้ม ผลโตประมาณเมล็ดข้าวโพด

2. สภาพพื้นที่ปลูก

ย่านางเป็นพืชที่พบในแหล่งธรรมชาติบริเวณป่าผสมผลัดใบ ป่าดงดิบและป่าโปร่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคอื่นก็มีกระจายทั่วไป ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นในดินทุกชนิดและปลูกได้ทุกฤดู ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวและการเพาะเมล็ด

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกท่อนพันธุ์จากเถาแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์พื้นเมือง

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : กำจัดวัชพืช และเศษวัสดุ ไถพรวน ตากดินประมาณ 7-15 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก ที่ย่อยสลายดีแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 2 ตัน/ไร่ และควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า 5.5-6.5 สำหรับพื้นที่ปลูกที่การระบายน้ำไม่ดี ควรใช้วิธียกร่องปลูก

4.2 การเตรียมพันธุ์ : โดยใช้กิ่งปักชำ

เลือกกิ่งพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรค และแมลงเข้าทำลาย ตัดกิ่งพันธุ์ให้มีความยาว ประมาณ 3-4 ข้อ หรือ มีตากิ่งอย่างน้อย 3 ตา และตัดใบออกจากกิ่งเล็กน้อย และทาปูนแดงบริเวณปลายกิ่งที่ตัดออก นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกในถุงเพาะชำ วางถุงเพาะชำไว้ในร่มที่มีแสงแดดรำไร รดน้ำให้ชุ่ม จนกิ่งปักชำออกรากจึงนำไปปลูก

4.3 วิธีการปลูก : ปลูกโดยใช้เมล็ดหรือขุดเอารากที่เป็นหัวไปปลูกในดิน รดน้ำให้ชุ่ม สักพักเถาย่านางก็จะคลี่กางเลื้อยขึ้นพันค้างที่เตรียมไว้ หรือหากไม่มีค้างก็มักเลื้อยพันต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ ระยะแรกควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อพืชแข็งแรงสามารถลดการให้น้ำได้เพราะย่านางเป็นพืชที่ทนต่อทุกสภาพแวดล้อม

5.2 การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกบ้างเป็นบางครั้ง

5.3 การกำจัดวัชพืช หมั่นดูแลทำความสะอาดรอบๆ บริเวณที่ปลูกย่านาง ไม่ให้วัชพืชอื่น ขึ้นมารบกวน

5.4 โรคและแมลง หนอนของผีเสื้อมวนหวาน จะกัดกินใบอ่อนและใบแก่ของต้นย่านาง ทำให้เกิดความเสียหาย ป้องกันกำจัด เมื่อพบหนอนให้นำไปทำลายเสีย

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : ให้เก็บเกี่ยวต้นย่านาง เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ อายุประมาณ 1 ปี โดยสังเกตจากใบจะมีขนาดใหญ่และมีสีเขียวเข้ม

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : เก็บเกี่ยวทั้งใบและเถา โดยตัดเถาที่เลื้อยอยู่บนค้าง หรือบริเวณโคนเถาและเหลือไว้ต้นละ 1-2 เถา เพื่อให้เจริญเติบโตและเก็บเกี่ยวในฤดูฝนต่อไป

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : นำส่วนที่เก็บเกี่ยวแล้ว มาทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้นพอประมาณ

7.2 การเก็บรักษา : ตากแห้งเก็บไว้ในภาชนะป้องกันความชื้นและแมลงรบกวน

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของไพล ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news