GAP มะแว้งเครือ
GAP มะแว้งเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum trilobatum Linn.
ชื่อสามัญ -
ชื่อวงศ์ SOLANACEAE
ชื่ออื่น มะแว้ง มะแว้งเถา มะแว้งเถาเครือ (ทั่วไป)
1. ลักษณะของพืช
เป็นไม้เถาแกมไม้พุ่ม ลำต้นเป็นเถา มีสีเขียวอ่อน ขนาดเล็ก ส่วนต่างๆ ของลำต้น หนามโค้งแหลม สั้น กระจายอยู่ทั่วไป แต่ไม่มีขน ใบ เป็นใบเดี่ยว ติดเรียงสลับหรือเยื้องกันเล็กน้อย และมักเป็นกระจุกตามปลายๆ กิ่ง ใบป้อมกว้าง 1.5-5 ซม. ยาว 1.5-6 ซม. โคนใบป้านกว้าง ปลายใบมน เนื้อใบบาง เกลี้ยง สีเขียวอ่อนท้องสองด้าน ขอบใบหยักเป็นคลื่น เว้าแหว่ง ก้านใบมีหนาม ดอกช่อสีม่วง ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ช่อละ 2-8 ดอก ช่อเกลี้ยงไม่มีขน แต่มีหนาม กลีบรองกลีบดอกมี 5 แฉกแหลม เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง กลีบดอกมี 5 แฉกเช่นกัน โคนกลีบตัดกันเป็นพืดด้านนอกของกลีบ มีขนประปราย ส่วนด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้เห็นแต่อับเรณูดูเป็นหลอด รวมกันเป็นกระจุกสีเหลืองอยู่ตรงกลาง หลอดท่อรังไข่เกลี้ยง ยาวยื่นเหนืออับเรณูมาเล็กน้อย ผล กลมเกลี้ยง อุ้มน้ำ โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ผลสุกสีแดง และภายในมีเมล็ดมาก
2. สภาพพื้นที่ปลูก
– ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด
- ชอบดินร่วนระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุพอสมควร
- ต้องการน้ำ และความชื้นปานกลาง ถ้ามีน้ำเพียงพอจะสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปี
- ต้องการแสงแดดมาก
- พื้นที่ที่ปลูกเป็นการค้าจะอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี
3. พันธุ์
3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกท่อนพันธุ์จากเถาแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์
3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์พื้นเมือง
4. การปลูก
4.1 การเตรียมดิน : ไถพรวนดินให้ร่วนซุย กำจัดเศษวัชพืช และเศษไม้ใส่ปุ๋ยคอก พรวนดินอีกครั้ง คลุกเคล้าให้เข้ากัน ขุดหลุม ขนาด 15 x 15 x 15 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 1.5 x 1.5 เมตร เว้นทางเดิน 50 เซนติเมตร
4.2 การเตรียมพันธุ์ : เก็บเมล็ดจากผลแก่จัดเป็นสีแดง อย่าตากทิ้งไว้นาน เพราะจะทำให้อัตราการงอกลดลง แกะเมล็ดออกล้างน้ำ แล้วเพาะในถุงทันที ถ้าเมล็ดมีการพักตัว ทำลายการพักตัวของเมล็ด โดยการนำเมล็ดแช่ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 5 นาที นำเมล็ดเพาะในถุงดำรดน้ำให้ชุ่ม ใช้เวลาเพาะกล้า 45-60 วัน แล้วจึงทำการย้ายลงแปลงปลูก
4.3 วิธีการปลูก : นำต้นกล้าที่เตรียมไว้ลงหลุมหรือจะปลูกด้วยเมล็ด ด้วยการหยอดเมล็ดลงในหลุมปลูกแล้วกลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป ให้เตรียมค้างโดยใช้เสาไม้ไผ่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ความยาว 2 เมตร และมีไม้ไผ่ผ่าซีกผูกในแนวขวาง 2 แถว ห่างจากพื้นดิน 75 เซนติเมตร และ 150 เซนติเมตร ตามลำดับ
5. การดูแลรักษา
5.1 การให้น้ำ รดน้ำให้ดินมีความชื้นสม่ำเสมอ
5.2 การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 0.5 กิโลกรัม/ต้น เมื่อตัดต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรก
5.3 การกำจัดวัชพืช คอยกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้น โดยใช้มือถอน
5.4 โรคและแมลง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ป้องกันกำจัดโดยใช้สารสะเดาฉีดพ่นทุก 3-5 วันที่มีการระบาด
6. การเก็บเกี่ยว
6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่ออายุ 8-10 เดือน
6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : เก็บในระยะที่ขั้วผลเริ่มเปลี่ยนสี เป็นระยะที่ผลแก่แต่ยังไม่สุก (ผลที่แก่เต็มที่จะมีสีส้มเข้ม) เนื่องจากต้นมะแว้งเครือมีหนามแหลมคม ควรสวมถุงมือป้องกันในการเก็บ ทยอยเก็บผลผลิตเพราะผลมะแว้งเครือจะทยอยสุก
7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา
7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว นำผลผลิตที่เก็บได้ล้างน้ำ ผึ่งให้หมาด เด็ดขั้วผลออกอบแห้งด้วยเครื่องอบแห้งแบบอุโมงค์ โดยใช้อุณหภูมิการอบ 80 องศาเซลเซียส 2 ชั่วโมง 75 องศาเซลเซียส 2 ชั่วโมง และ 60 องศาเซลเซียส 2 ชั่วโมง บรรจุใส่ถุงหรือภาชนะที่ปิดสนิท
7.2 การเก็บรักษา นำมะแว้งเครือที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส 2 ชั้นปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่สะอาด เย็นไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำลาย ทำให้คุณภาพลดลง มะแว้งเครือแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือน ควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้มีความชื้น และมีแมลงรบกวน
8. สุขลักษณะและความสะอาด
- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต
- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี
- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
9. การบันทึกข้อมูล
ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของมะแว้งเครือ ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่
1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน
3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา
Category: GAP