banner ad

GAP มะลิ

| December 20, 2013

GAP มะลิ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Jasminum sambac (L.) Aiton

ชื่อสามัญ Jasmine

ชื่อวงศ์ OLEACEAE

ชื่ออื่น มะลิขี้ไก่ เตียมูน มะลิลา ข้าวแตก

1.ลักษณะของพืช มะลิเป็นพืชใน สกุล Jasminum  วงศ์ Oleaceae  พืชใบเลี้ยงคู่ เป็นพุ่ม ไม้เลื้อย และ/หรือไม้รอเลื้อย ใบมีทั้งใบเดี่ยวและใบรวม การเรียงตัวของใบมีทั้งแบบใบอยู่ตรงกันข้าม ใบแบบสลับกัน ดอกมีสีขาว กลีบดอกมีชั้นเดียวหรือหลายชั้น เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อ ดอกจะออกจากยอดหรือข้างกิ่งส่วนมากมีกลีบเลี้ยง4-9 กลีบ กลีบดอกมี 4-9 กลีบ

สถานการณ์

ปี 2565 มะลิมีพื้นที่ปลูกรวมประมาณ 7,369.58 ไร่  ผลผลิตเฉลี่ย 156.33 กก./ไร่ (ผลผลิตสูงช่วงเม.ย. -มิ.ย และผลผลิตต่ำช่วง ก.ย-ธ.ค. ลค่าการนำเข้ามะลิ  เป็นเงิน 69,518,958.94 ล้านบาท ราคามะลิ ปี 2566 เฉลี่ย 570-850 บาท/กก. พื้นที่ปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร นครปฐม และอื่นๆ

2. สภาพพื้นที่ปลูก มะลิชอบดินร่วนซุยมีการระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสมบูรณ์ และมีค่าความเป็นกรด-ด่างประมาณ 6.0-7.0 หากดินมีความสมบูรณ์ต่ำ ควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และพื้นที่ปลูกมะลิต้องเป็นที่โล่งแจ้ง เพราะมะลิต้องการแสงแดดมาก เพื่อให้ออกดอกตามต้องการได้

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกกิ่งพันธุ์ที่เป็นกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมาปักชำ

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์มะลิลา ได้แก่ พันธุ์แม่กลอง พันธุ์ราษฎร์บูรณะ พันธุ์ชุมพร

พันธุ์ฺต่างๆ ได้แก่ มะลิลาซ้อน มะลิซ้อน  มะลิถอด  มะลิฉัตรหรือมะลิพิกุล  มะลิเขี้ยวงูหรือมะลิก้านแดง  มะลิงาช้าง  มะลิพวง  มะลิวัลย์  พุทธชาด  และปันหยี

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ไถพรวนยกร่องระยะ 90-120 ซม. แล้วใส่ปุ๋ยคอก ขุดหลุมลึก กว้างและยาว ด้านละ 50 ซม.ปรับปรุงดินโดยใช้ดิน+ปุ๋ยคอก+ใบไม้ผุ อัตราส่วน 1:1:1 พร้อมกับเติมปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 46-0-0 (ซุปเปอร์ฟอสเฟต) อย่างละ 1 กำมือ คลุกเคล้าทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วใส่กลับลงไปในหลุมใหม่ ระยะปลูก 70-100 ซม.

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ตัดกิ่งพันธุ์ให้มีความยาวประมาณ 4 นิ้วหรือมีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ ตัดใบออกให้เหลือเพียง 2 ใบ นำกิ่งมะลิไปจุ่มในฮอร์โมน IBA (Indole Butyric Acid) และ NAA (Naphthalene Acetic Acid) ในอัตราส่วน 1:1 ความเข้มข้น 4,500 ppm. นำปักชำลงในภาชนะเพาะ รากจะออกภายใน 3 อาทิตย์ นำไปปลูกในถุงขนาด 2×3 นิ้ว โดยใส่ดิน+ขุยมะพร้าว+ปุ๋ยคอก อัตรา 3:1:1 จนต้นมะลิแข็งแรงดี แล้วจึงนำไปปลูกต่อไป

4.3 วิธีการปลูก : นำต้นมะลิที่ได้เตรียมไว้แล้วลงปลูกในดิน จากนั้นกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ มะลิต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำ ควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาดเสียก่อนทั้งนี้อาจให้น้ำวันละครั้งหรือสองวันครั้งหรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้ โดยให้ในตอนเช้าแต่ระวังอย่าให้น้ำท่วมหรือขังอยู่ในแปลงนานๆ เพราะจะทำให้มะลิใบเหลือง แคระแกรน และตายได้

5.2 การใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 16-16-16 อัตราขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่ม หรือใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ใส่เดือนละครั้ง โดยการหว่านและรดน้ำตามด้วย นอกจากนี้ยังใส่ปุ๋ยน้ำ เช่น ไบโฟลาน ผสมฉีดไปพร้อมกับสารเคมีด้วยแต่ไม่นิยมใช้ในฤดูหนาว

5.3 การตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งกิ่งหลังเก็บดอก ประมาณ 3-5 วันจะแตกยอดใหม่ ประมาณ 7-9 วันจะเริ่มแทงช่อดอก และ 15-17 วันจะเก็บเกี่ยวดอก

การบังคับการออกดอกของมะลิลา กระตุ้นการแตกตาโดยการงดน้ำหรือตัดแต่งกิ่ง และพ่นสารโปแตสเซียมไนเตรท ประมาณ 3-5 วัน ตาผลิและแทงช่อดอกประมาณ 7-9 วัน พ่นคลอมีควอทคลอไรด์ อัตรา 10 มลต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเมพิควอทคลอไรด์ อัตรา 0.175 มลต่อน้ำ 20 ลิตร หลังจากการตัดแต่งกิ่ง 5-8 วัน มะลิจะเพิ่มการสะสมอาหารในต้น

5.4 การกำจัดวัชพืช ทำการกำจัดวัชพืชรอบๆ ต้นมะลิโดยการใช้จอบถางออก หรือใช้มือถอน

5.5 โรคและแมลง

1. โรครากเน่า รากจะเน่าเปื่อยและมีเส้นใยสีขาว การป้องกันกำจัด ต้นที่เป็นโรคให้ถอนต้นและดินในหลุมไปเผาไฟ แล้วใช้ปูนขาวราดลงดิน

2. โรคแอนแทรคโนส พบจุดสีน้ำตาลอ่อน บนใบขอบแผลเป็นสีน้ำตาลแก่เห็นเด่นชัด แผลจะขยายลุกลามออกไป และมีลักษณะเป็นวงซ้อนกัน

3. โรครากปม ต้นจะแสดงอาการขาดธาตุอาหาร เนื่องจากไส้เดือนฝอยจะไปอุดท่อน้ำท่ออาหารไว้เมื่อถอนต้นดูจะพบว่าที่รากมีปมเล็กๆอยู่ทั่วไป ถ้าเฉือนปมนี้ดูจะพบถุงสีขาวเล็กๆ ขนาดเมล็ดผักกาดฝังอยู่ การป้องกันกำจัด ปลูกมะลิสลับกับพืชอื่น และใส่ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น

4. หนอนเจาะดอก ลักษณะลำตัวสีเขียวขนาดเล็ก ปากหรือหัวดำ ระบาดมากดูฝน โดยการกัดกินดอกทำให้ดอกผิดรูปร่างไป เป็นแผล เป็นรู

5. หนอนกินใบ ระบาดมากในฤดูฝน โดยจะพับใบมะลิเข้าด้วยกัน แล้วซ่อนตัวอยู่ในนั้น และจะกัดกินทำลายใบไปด้วย

6. หนอนเจาะลำต้น จะทำลายโดยการเจาะลำต้น ทำให้ต้นแห้งตาย อาการเริ่มแรกจะมีใบเหลืองและหลุดร่วง ตรงบริเวณโคนต้นจะมีขลุยไม้ที่เกิดจากการกัดกินของตัวหนอนกองอยู่เห็นได้ชัด การป้องกันกำจัด ถ้าพบต้องรีบทำลายโดยทันที โดยการถอนต้นมะลิและทำลายตัวหนอนเสีย

7. เพลี้ยไฟ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและดอก ทำให้ส่วนที่ถูกทำลาย หงิกงอ แคระแกรน เสียรูปทรง

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : : การเก็บเกี่ยวดอกมะลิต้องเก็บขณะดอกยังตูมอยู่  มีความเจริญเต็มที่ ให้เก็บตอนเช้ามืด มีลักษณะสีขาวนวล ดอกเริ่มบานเวลาบ่าย เช้าจะร่วง ดอกมะลิที่ใช้ทำยาจะใช้ดอกที่เริ่มบาน จึงต้องเก็บล่วงหน้าก่อนดอกจะบาน 1 วัน มะลิลาเริ่มเก็บผลผลิตเมื่ออายุ 4-5 เดือน และจะให้ผลผลิตสูงในช่วง 1-3 ปี ปริมาณเฉลี่ย 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากนั้นผลผลิตจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว ใช้มือเด็ดตรงก้านดอกใต้กลีบเลี้ยง ให้มีกลิบเลี้ยงติดมาด้วยจะทำให้มะลิคงความสดได้นาน

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : ดอกมะลิแห้งเพื่อใช้ทำยา ให้นำมาล้างให้สะอาด และผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาเกลี่ยบนกระด้ง คลุมด้วยผ้าขาวบาง เพื่อกันฝุ่นละออง แล้วนำไปตากให้แห้งในที่ร่ม หรืออบที่อุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส จนแห้งสนิท และเกลี่ยบ่อยๆ จะช่วยให้ดอกแห้งเร็วขึ้น

7.2 การเก็บรักษา :

- ดอกมะลิสด เป็นสมุนไพรไม้หอม และสกัดน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อรักษาความสด และลดความเสียหาย ด้วยความเย็นจากน้ำแข็ง หรือ ด้วยน้ำเย็นอุณหภูมิประมาณ23 องศาเซลเซียสจนดอกสดแข็ง แล้วบรรจุดอกมะลิในถุงพลาสติก และใช้น้ำแข็งรองพื้น และปูทับถุงมะลิ เก็บรักษาไว้ได้ 11 ชั่วโมง

- ดอกแห้ง เก็บในภาชนะที่มีฝาปิดสนิทป้องกันไม่ให้ดูดความชื้นเพิ่มขึ้น และไม่ให้กลิ่นหอมระเหยออกไป

- เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย

- นำเข้าจัดเก็บที่ห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันการกระทบแสงแดด และระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าทำลาย ทำให้คุณภาพลดลง

 

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของมะลิ ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news