banner ad

GAP มะกรูด

| December 20, 2013

GAP มะกรูด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystrix DC.

ชื่อสามัญ LeechLime,Mauritius Papeda, Kaffir Lime,PorcupineOrange

ชื่อวงศ์ RUTACEAE

ชื่ออื่น มะขูด, มะขุน (ภาคเหนือ) ส้มกรูด, ส้มมั่วผี (ภาคใต้) มะหูด (หนองคาย) โกร้ยเขียด (เขมร) มะขู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

1. ลักษณะของพืช

มะกรูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นกลม แตกกิ่งก้าน ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ใบเป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดียว สีเขียวหนา มีลักษณะคอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากันกับ แผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน ใบสีเขียวแก่ค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ดอกออกเป็นกระจุก 3-5 ดอก กลีบดอกหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ผลมีรูปร่างแตกต่างกันเล็กน้อยตามสายพันธุ์ มีผลใหญ่ ผิวขรุขระมาก และมีจุกที่หัว บางพันธุ์ผลเล็กเท่ามะนาว ผิวขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่หัว

2. สภาพพื้นที่ปลูก

-เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง

-มะกรูดชอบแสงแดดจัดจนถึงแดดปานกลาง

 

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรคและแมลง เป็นพันธุ์ที่สมบูรณ์

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : ที่นิยมปลูก มี 2 ชนิด คือ พันธุ์ผิวขรุขระ ค่อนข้างหนา ลูกใหญ่ และพันธุ์ผิวเรียบ ค่อนข้างบาง ลูกเล็ก

 

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ขุดหลุมลึกและกว้าง30 เซนติเมตรเท่ากัน คลุกดินกับปุ๋ยคอกเก่า ในกรณีดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์

4.2 การเตรียมพันธุ์ : โดยใช้เมล็ดและการใช้กิ่งตอน ที่นิยมสามารถเตรียมได้ 2 วิธี คือ การตอนโดยการตอนกิ่งจากต้นแม่พันธุ์ แล้วนำมาชำในถุงชำเพื่อให้กิ่งแข็งแรง ข้อดีของการใช้กิ่งตอน คือ ให้ผลผลิตเร็ว แต่ข้อเสีย คือไม่ทนต่อแรงลม เพราะไม่มีรากแก้วช่วยยึดดิน

4.3 วิธีการปลูก : นำกิ่งพันธุ์ หรือต้นพันธุ์ ลงปลูกในหลุมที่คลุกเคล้าปุ๋ยคอกแล้ว ใช้ดินกลบให้มิดราก และเสมอขอบหลุม ปักไม้มัดเชือกยึดกันล้ม รดน้ำให้ชุ่ม

 

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้นํ้า : เกษตรกรที่ปลูกมะกรูดเป็นการค้า จะให้น้ำแบบน้ำหยด แบบปล่อยไปตามร่อง หรือแบบลากสายยางรดน้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับความสะดวกของผู้ปลูก และควรหมั่นดูแลให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง เช้าและเย็น หลังจากมะกรูดตั้งตัวดีแล้ว สามารถเว้นได้ตามความเหมาะสม เพราะมะกรูดเป็นพืชทนแล้งได้ดี

5.2 การใส่ปุ๋ย :ใส่ปุ๋ยคอกประมาณ5 กิโลกรัมด้วยวิธีโรยรอบทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้นประมาณ1 ฟุตแล้วรดน้ำตาม เมื่ออายุ 1 ปี ควรใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา50 กรัมด้วยวิธีเซาะร่องลึก และกว้าง 2 นิ้วเท่ากัน เป็นวงรอบทรงพุ่มห่างจากโคนต้น 1-2 ฟุตโรยปุ๋ยตามร่องให้เสมอกัน พร้อมกลบดินและรดน้ำตาม

5.3 การกำจัดวัชพืช กำจัดวัชพืชก่อนการเตรียมแปลงปลูก และคอยถอนออกอย่างสม่ำเสมอ

5.4 โรคและแมลง

1. โรคแคงเกอร์ ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น และผล จะเริ่มมีรอยแผลสีน้ำตาลเข้ม ต่อมาแตกเป็นสะเก็ด แข็งขรุขระ คล้ายขี้กาก ตอนกลางของแผลจะยุบตัวลง รอบแผลมีวงแหวนสีเหลืองซีดล้อมรอบ การป้องกันกำจัด ตัดกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลาย ช่วงการระบาดของโรครุนแรงฉีดพ่นด้วยคอปเปอร์ออกไซด์ 30% ดับบลิวพี อัตรา 30-45 กรัมต่อน้ำ20 ลิตร หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ อัตรา 8-12 กรัม ต่อน้ำ20 ลิตร ตามทรงพุ่มให้ทั่ว ห้ามใช้สารเคมีก่อนเก็บผลผลิตอย่างน้อย 2 สัปดาห์

2. หนอนชอนใบ ซึ่งใบที่ถูกทำลายจะมีอาการบิดงอ การป้องกันกำจัด ให้ตัดกิ่งและใบที่พบการระบาดเผาทำลายทิ้ง หากเกิดช่วงการระบาดรุนแรง พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแมลงอิมิดาโคลพริด 10 เอสแอล อัตรา 8 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ และงดเว้นการใช้สารเคมีก่อนเก็บผลผลิตอย่างน้อย 2 สัปดาห์

 

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เริ่มเก็บใบมะกรูดเมื่ออายุได้ 2-3 ปี ส่วนผลสดจะเริ่มเก็บผลมะกรูดได้เมื่ออายุ 3-4 ปีขึ้นไป

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว

- การเก็บเกี่ยวใบมะกรูด ตัดเป็นกิ่งยาวประมาณ 50 เซนติเมตร พร้อมกับการตัดแต่งกิ่งลำต้นเพื่อให้ต้นพักตัว และแตกกิ่งใหม่

- การเก็บเกี่ยวผลมะกรูด ให้เก็บผลมะกรูดโดยเลือกผลที่สมบูรณ์ไม่มีโรคและแมลงทำลาย และเก็บในช่วงที่มีความชื้นต่ำ และอุณหภูมิไม่สูงเกินไป

 

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว :

- ใบมะกรูดสด โดยใช้กิ่งมะกรูดที่มีใบ มาล้างให้สะอาด และทิ้งไว้ให้แห้ง กำเป็นมัดเพื่อจัดส่งจำหน่าย

- ใบมะกรูดแห้ง เด็ดใบออก ล้างน้ำให้สะอาด ตากแดดหรืออบที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง จนกว่าจะแห้ง

- ผิวมะกรูด นำลูกมะกรูดมาล้างน้ำให้สะอาด ฝานเอาแต่ผิวมะกรูด ตากแดดหรืออบที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง จนกว่าจะแห้ง

7.2 การเก็บรักษา

- นำใบมะกรูดหรือผิวมะกรูดที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส และปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด

- หมั่นคอยดูแลและระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำให้คุณภาพมะกรูดลดลง

- มะกรูดแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีความชื้น และโรคแมลงเข้าทำลาย

 

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของมะกรูด ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news