banner ad

GAP ไพล

| December 20, 2013

GAP ไพล

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr

ชื่อพ้อง Zingiber cassumunar Roxb.

ชื่อสามัญ -

ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ชื่ออื่น ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ว่านไฟ (ภาคกลาง) มิ้นสะล่าง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

1. ลักษณะของพืช

เป็นพืชล้มลุก ลำต้นใต้ดินที่เรียกว่าเหง้า เนื้อสีเหลือง และมีกลิ่นหอมเฉพาะ ลำต้นเทียมแทงขึ้นมาจากดินสูงประมาณ 0.7-1.5 เมตร. ใบออกตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะยาวเรียว และปลายแหลม เนื้อในบาง โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มโดยรอบก้านใบ ดอกออกเป็นช่อแทงจากดินโดยตรง มีกลีบประดับซ้อนกันแน่น มีดอกสีเหลืองอยู่ระหว่างกลีบประดับ

2. สภาพพื้นที่ปลูก

เจริญเติบโตได้ดีในเขตกึ่งร้อน

สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม อุณหภูมิสูงสุดประมาณ35 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดต้องไม่ต่ำกว่า18 องศาเซลเซียส

ลักษณะดิน ควรเป็นดินเหนียวปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำขัง

ความต้องการแสง ปลูกได้ทั้งที่แจ้ง และที่ร่มแดดรำไร

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ :

1. เลือกพันธุ์ที่ให้ผลิตสูง ทนทานต่อโรค และมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยไม่น้อยกว่า 2%

2. เป็นพันธ์ที่ถูกต้องตรงตามความต้องการปลูก เนื่องจากพันธุ์ไพลมีหลายชนิด และมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ได้แก่ ไพลหยวก ไพลพื้นเมือง ไพลปลุกเสก (Z. montanum (Koenig) Link ex Dietr) ไพลม่วง หรือ ไพลดำ (Z. ottensii Valeton.) ไพลเหลือง (Z cassumunar Roxb.) เป็นต้น

3. เลือกหัวพันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตเชิงการค้า : มี 2 พันธุ์ คือ

1. พันธุ์หยวก เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมากกว่าพันธุ์อื่นๆ เพราะให้ปริมาณผลผลิตมาก 7-8 ตันต่อไร่ และให้ปริมาณน้ำมันประมาณ 5-6 ลิตรต่อผลผลิต 1 ตัน

2. พันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้อยกว่าพันธุ์หยวก เกษตรกรจึงไม่นิยมปลูก แต่ให้ปริมาณน้ำมันไพลมากกว่าพันธุ์หยวก ผลผลิต 1 ตัน ให้ปริมาณน้ำมันประมาณ 7-8 ลิตรและให้ผลผลิต 4-5 ตันต่อไร่

สำหรับไพลพันธุ์อื่นๆ เช่น ไพลพันธุ์ปลุกเสก ปลูกไว้ใช้ในการทำพิธี

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน :

1. พื้นที่ปลูกที่เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ควรทำการเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพของดินก่อนปลูก

2. ดินที่มีอินทรีย์วัตถุน้อย ควรปลูกพืชตระกูลถั่วให้ได้ระยะออกดอก จึงไถกลบดิน หรือปรับปรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายสมบูรณ์ดีแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 1-2 ตัน/ไร่

3. ไถพรวนดินร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอก และตากดินไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ ก่อนปลูก

3. ควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า
ประมาณ 5.5-6.5

4. เก็บเศษวัสดุ และกำจัดวัชพืชออกจากแปลง

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ใช้เหง้าที่ปลอดโรค ล้างให้สะอาดตัดเป็นท่อนๆ มีตาสมบูรณ์ 3-5 ตา และป้ายปูนแดง หรือปูนขาวที่รอยตัด หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราก่อนปลูก

4.3 วิธีการปลูก : มีวิธีการปลูก 2 วิธี

1. การปลูกในแปลงด้วยเหง้า หรือนำไปเพาะให้งอกก่อน ในกระบะทราย ให้แทงยอด แตกใบประมาณ 2-3 ใบ จึงนำหัวพันธุ์ที่เตรียมไว้ มาปลูกลงในแปลงและกลบดินให้มิด โดยเลือกระยะปลูกมี 2 แบบ

- การปลูกระยะชิด ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว 25×27 เซนติเมตร เหมาะสำหรับแหล่งปลูกที่มีสภาพความชื้นต่ำ ดินไม่สมบูรณ์ และมีหัวพันธุ์เพียงพอในการปลูก

- การปลูกระยะห่าง ระยะปลูก 60×60 ซม. หรือ 50×50 ซม. เหมาะสำหรับแหล่งปลูกที่มีสภาพความชื้นเพียงพอ และดินสมบูรณ์

2. ช่วงฤดูการปลูก ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 150-200 กก./ไร่

3. ท่อนพันธ์ไพลให้มีน้ำหนัก 100 กรัม / หัว ซุบท่อนพันธ์ด้วยสารเคมีนานประมาณ 30นาที เพื่อป้องกันเชื้อรารากก่อนปลูก

4.4. เมื่อขุดหลุมปลูกแล้วให้ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมประมาณหลุมละ 200 กรัม นำดินกลบปุ๋ยหนาประมาณ 1 เซนติเมตร นำหัวพันธ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกให้ลึกประมาณ 5 7 เซนติเมตร ใช้ดินกลบท่อนพันธ์หนาประมาณ 5 เซนติเมตร

4.5. คลุมแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าคาความหนาประมาณ 2 นิ้ว เพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มจนกว่าต้นจะงอกและสมบูรณ์ดี

- ข้อควรระวัง

ไม่ควรใส่ปุ๋ยคอกใหม่ๆ ในปริมาณมากๆ เพาะจะทำให้เกิดความร้อน และเข้มข้นเกินไป ซึ่งอาจทำให้เหง้าไพลตายได้

ไม่ควรฉีดพ่นสารเคมีหรือยาฆ่าหญ้าเพาะอาจทำให้สารเคมีเหล่านั้นสะสมในเหง้าไพลได้ หรืออาจจะทำให้ไพลหยุดการเจริญเติบโต ไม่ลงหัว ถ้าเป็นยาฆ่าหญ้าอาจทำให้ต้นไพลแห้งตายได้

หลีกเลี่ยงการปลูกไพลกับพืชสมุนไพรในตระกูลเดียวกัน เพราะอาจเกิดการผสมเกสร ทำให้กลายพันธุ์ หรืออาจจะทำให้สรรพคุณเปลี่ยนแปลงได้

5. การดูแลรักษา

ไพลเป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมาก ตั้งแต่หลังปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ดังนี้

5.1 การให้น้ำ ระยะแรกต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าพืชจะตั้งตัวได้ จากนั้นควรให้น้ำอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนในพื้นที่แห้งแล้ง จะอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ไม่มีการรดน้ำ
5.2 การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ ปุ๋ยเคมี สูตร 12:6:6 ปริมาณ 25 กิโลกรัมต่อไร่ ในช่วงระยะที่กำลังเจริญเติบโตทางลำต้น แต่ไม่ควรให้ปุ๋ยระยะที่ไพลลงหัว

- การใส่ปุ๋ย ควรใส่พร้อมกับการถอนวัชพืชและพรวนดิน ประมาณ 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อเตรียมแปลงปลูก

ครั้งที่ 2 ขณะปลูกหรือหลังการปลูกทันที

ครั้งที่ 3 หลังการปลูกประมาณ 1 เดือน

ครั้งที่ 4 หลังการปลูกประมาณ 2 เดือน

5.3 การกำจัดวัชพืช

- โดยทั่วไปกำจัดวัชพืชประมาณ 3 ครั้ง

ครั้งแรกหลังจากต้นอ่อนสูงประมาณ 10 เซนติเมตร

ครั้งที่สอง หลังการปลูก 1 2 เดือน (กรกฎาคม)

ครั้งที่สาม หลังการปลูก 2 3 เดือน (สิงหาคม) หรือถ้าพื้นที่ใดมีวัชพืชขึ้นเร็วเกินไปควรกำจัดได้ก่อนกำหนดตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่

- ไถพรวน และตากดิน เพื่อทำลายเมล็ดวัชพืช

- คราดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูก

- การคลุมดินหลังปลูกจะช่วยรักษาความชื้นของดินและบังแสงสว่างไม่ให้วัชพืชงอกหรืองอกได้ช้า หรือใช้พลาสติกทึบแสงคลุมแปลงปลูก

- ขุดทำลายหัวใต้ดินของวัชพืชบางชนิดทุกครั้งที่พบ พรวน ถากดิน และกำจัดวัชพืช ควรทำขณะที่ยังเล็ก โดยใช้การถอน

5.4 โรคที่สำคัญ คือ

โรคเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ทำให้ต้นมีอาการใบเหลือง ต้นเหี่ยว และหัวเน่าตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด

1. ใช้หัวพันธุ์ที่ปลอดโรค หรือจากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรค

2. ควรจะมีการไถตากดิน ประมาณ 1 เดือนก่อนปลูก และโรยด้วยปูนขาว ปรับสภาพความเป็นกรดและด่างของดินให้ได้ 5.5-6.5

3. ไม่ควรปลูกไพลซ้ำที่ในปีถัดไป และควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่เป็นพืชอาศัยของโรคชนิดเดียวกันก่อนการปลูกในฤดูถัดไป

4. พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคให้ทำการอบดินฆ่าเชื้อก่อนปลูก โดยการใช้ยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80:100 กิโลกรัม/ไร่ คลุกเคล้าดินที่ไถพรวนแล้ว และใช้แผ่นพลาสติกสีดำคลุมทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืช

5. ควรปลูกในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง

6. ต้นที่เป็นโรคให้ขุดใส่ถุง และนำไปเผาทำลายทิ้ง และโรยปูนขาวรอบหลุมที่ทำการขุด

7. รองเท้าที่ใส่ในแปลง ควรมีกะบะหรืออ่างที่ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อไว้สำหรับจุ่มหรือแช่ ก่อนเดินเข้าแปลง และเครื่องมือทางการเกษตร ก่อนและหลังจากใช้แล้วให้แช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ

5.5 แมลงที่สำคัญ คือ หนอนเจาะลำต้นไพล หนอนเจาะเหง้าไพล แมลงวันแมงมุม เพลี้ยแป้ง

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม :

การเก็บเกี่ยวไพล เก็บในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนมกราคม มีนาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเมื่อไพลมีอายุได้ประมาณ 2 ปี ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงวันที่เก็บเกี่ยว

ควรเก็บหัวไพลเมื่อใบแห้งและฟุบลงกับพื้น ห้ามเก็บหัวไพลที่เริ่มแตกหน่อใหม่ เพราะน้ำมันที่ได้จะมีปริมาณและคุณภาพต่ำ

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : ขุดเหง้าไพลขึ้นมา ระวังไม่ให้เกิดบาดแผล หรือรอยช้ำ จากนั้นเขย่า และปัดดินออกจากเหง้า ตัดรากโดยรอบออกให้หมด และผึ่งให้แห้ง เก็บผลผลิตบรรจุในถุงตาข่าย ในที่ที่มีการถ่ายเทอากาศดี

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว

7.1.2 ไพลแห้ง

- ใช้มีดที่สะอาดและคมขูดเปลือกออกให้สะอาดวางในภาชนะ

- นำไปล้างผ่านน้ำที่สะอาดประมาณ 2-3 ครั้ง แล้ว หรือล้างด้วยเครื่องล้างสมุนไพรอีก 1 ครั้ง

- นำท่อนไพลไปหั่นด้วยเครื่องสับสมุนไพรหรือ หั่นเป็นชิ้นบางๆ

- นำไพลที่หั่นเสร็จใส่ถาด นำเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง

- กรณีไม่มีตู้อบสมุนไพร ให้นำไพลที่หั่นเสร็จใส่ถาด นำไปวางบนชั้นที่มีความแข็งแรง มีความสูงจากพื้นประมาณ 60 70 เซนติเมตร ตากแดดนานประมาณ 4 วัน (ควรจะกลับวัตถุดิบทุก 3- 4 ชั่วโมงต่อวัน)

7.1.1 ไพลสด ใช้ผลิตน้ำมันไพล นำหัวพันธ์ไพลที่เก็บเกี่ยวได้มาทำการสกัดน้ำมันไพล หลังจากเก็บไพลมาจากแปลงไม่ควรทิ้งไพลสดไว้นานเกิน 2 เดือน เพราะจะทำให้ได้ปริมาณน้ำมันหอมระเหยลดลง อัตราส่วนผลผลิตสด : น้ำมันไพล เท่ากับ 1 ตัน : 8-10 ลิตร

7.2 การเก็บรักษา

- นำไพลที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส 2 ชั้นปิดปากให้สนิท

- เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย

- นำเข้าจัดเก็บที่ห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำให้คุณภาพไพลลดลง

- ไพลแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้มีความชื้น และมีแมลงรบกวน

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้

- เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของไพล ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่างๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news