GAP เพชรสังฆาต
GAP เพชรสังฆาต
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ciss quadrangularis Linn..
ชื่อสามัญ -
ชื่อวงศ์ VITACEAE
ชื่ออื่น สันชะคอด สามร้อยต่อ สามร้อยข้อ ขั่นข้อ สันชะฆาต
1.ลักษณะของพืช
เพชรสังฆาตเป็นไม้เลื้อย ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม มีข้อและปล้องชัดเจน ปล้องยาว 6-10 ซม. บางข้ออาจมีมืองอกออกมาด้วย รูปทรง (เรือนยอด) ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับและมักจะอยู่บริเวณส่วนบนของลำต้น ใบรูปไข่หรือสามเหลี่ยม ขอบใบจักเล็กน้อย หรือหยักเว้า 3-5 หยัก ปลายใบแหลม โคนใบรูปหัวใจ ใบมีความกว้างใกล้เคียงกับความยาว ขนาด 2.5-8 ซม. ดอก กลมเล็ก ออกดอกเป็นช่อเล็ก ออกเป็นช่อยาว 2-4 ซม. ดอกมีขนาด 2.5 มม. สีเหลืองอมเขียวเมื่อแก่ส่วนโคกกลีบดอกมีสีแดง ผล ค่อนข้างกลมเท่าเมล็ดพริกไทยขนาด 4-7 มม. ผลสีแดงหรือดำ
2. สภาพพื้นที่ปลูก
เพชรสังฆาตสามารถขึ้นได้ในทุกสภาพดิน ปลูกได้ทั้งที่โล่งแจ้งและมีความชื้นหรือร่มรำไร และมีการระบายน้ำ เพชรสังฆาตขึ้นได้ทั่วไปในดินแทบทุกชนิด ชอบดินร่วนซุยมีอินทรียวัตถุและไม่มีน้ำขัง ปลูกขึ้นง่าย ทนแล้ง
3.พันธุ์
3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกพันธุ์เพชรสังฆาตที่มีความต้านทานโรคและแมลง รวมเป็นท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์
3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์พื้นเมืองในท้องถิ่น
4. การปลูก
4.1 การเตรียมดิน : ควรไถพรวนดินให้ร่วนซุยก่อนปลูกหรือปลูกเป็นหลุมและใช้ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมเล็กน้อยก่อนปลูก
4.2 การเตรียมพันธุ์ : นำเถาแก่ที่สมบูรณ์ตัดเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนให้มีข้อติด 1-2 ข้อ ยาวประมาณ 15 ซม. เพาะชำลงในดินให้เอียงเล็กน้อย ลึกประมาณ10 ซม. รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อแตกใบและรากมากพอควรจึงย้ายไปปลูก
4.3 วิธีการปลูก : ปักชำลงในดินโดยให้ข้อฝังอยู่ในดิน 1 ข้อ ควรทำค้างให้ลำต้นเจริญเลื้อยเกาะ หรือปลูกริมรั้วเพื่อให้เพชรสังฆาตไต่ขึ้น และหมั่นตัดแต่งเถาหลังปลูกประมาณ 2 ปี
5. การดูแลรักษา
5.1 การให้น้ำ : ทำการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยคำนึงถึงวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด รดน้ำให้ชุ่มเมื่อยอกแตก
5.2 การใส่ปุ๋ย : การปลูกเพชรสังฆาตควรใช้ปุ๋ยหมัก ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี
5.3. การกำจัดวัชพืช : หลังปลูกควรใช้วัสดุคลุมแปลงปลูกเพื่อไม่ให้วัชพืชงอก หรือเจริญเติบโตช้า และใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืช
5.4 โรคและแมลง :ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวน
6. การเก็บเกี่ยว
6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : หลังปลูกประมาณ 2 ปี จึงสามารถตัดเถามาใช้ทำยา
6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : เก็บเกี่ยวเถาเพชรสังฆาตที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงมาทำลาย
7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา
7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว: นำเถาเพชรสังฆาตที่เก็บเกี่ยวแล้ว ล้างให้สะอาด และตากในที่ร่มให้แห้ง ใช้ผ้าขาวบางคลุมขณะตาก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสิ่งเจือปน หรืออบแห้งที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง
7.2 การเก็บรักษา :
- นำเพชรสังฆาตที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส และปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด
- คอยหมั่นตรวจดูแลและระวังไม่ให้มีเชื้อราขึ้น หรือแมลงเข้าทำลาย ที่ทำให้คุณภาพเพชรสังฆาตลดลง
- เพชรสังฆาตแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีความชื้น และโรคแมลงเข้าทำลาย
8. สุขลักษณะและความสะอาด
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม
- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต
- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี
- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
9. การบันทึกข้อมูล
ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของเพชรสังฆาต ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่
1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน
3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา
Category: GAP