GAP พริกไทย
GAP พริกไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum Linn.
ชื่อสามัญ Black Piper, Piper Black Black
ชื่อวงศ์ PIPERACEAE
ชื่ออื่น พริกน้อย (ภาคเหนือ)
1. ลักษณะของพืช เป็นไม้เลื้อยยืนต้น อายุหลายปี เขียวตลอดปี สูงประมาณ 5 เมตร ลำต้น เป็นเถา เห็นข้อปล้องได้ชัด รากงอกที่ข้อเพื่อไว้ใช้ยึดเกาะ ข้อมีลักษณะโป่งนูน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ โคนใบกลมหรือกึ่งรูปหัวใจปลายเรียวแหลมถึงกลม ใบสีเขียว เกลี้ยง กว้าง 4-7 ซม. ยาว 8-16 ซม. ก้านใบเป็นร่องลึก ดอกเป็นดอกช่อ ออกตามซอกใบ รูปทรงกระบอก ดอกย่อยสีขาวแกมเขียว ออกเป็นช่อยาวตามซอกใบ ดอกย่อยสมบูรณ์เพศขนาดเล็ก ช่อละ 20-30 ดอก ช่อดอกห้อยลงตรงข้ามกับใบ ผลเป็นผลสดเป็นรูปทรงกลมจัดเรียงตัวแน่นอยู่บนแกน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีแดง
2. สภาพพื้นที่ปลูก
- ชอบภูมิอากาศร้อนชื้น ความต้องการน้ำฝนปีละอย่างน้อย 50-80 นิ้ว
- สามารถปลูกได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนกระทั่งความสูงประมาณ 3,500 ฟุต
- เจริญเติบโตดีในพื้นที่ดินร่วนซุยอุดมสมบูรณ์ มีอินทรียวัตถุสูง น้ำไม่ขัง มีการระบายน้ำดี
- สภาพดินที่เหมาะสมค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย ค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6-6.5
- ไม่ชอบสภาพพื้นที่ที่เป็นดินเปรี้ยวเล็กน้อย และลาดเทมากๆ
3. พันธุ์
3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกยอดจากต้นที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย ส่วนของยอดที่ใช้ท่อนพันธุ์จากต้นพริกไทยที่มีอายุ 1 ปี
3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์ซาลาวัค ใช้ทำพริกไทยดำ และพริกไทยขาว
พันธุ์ซีลอน เก็บเมล็ดสดเพื่อการบริโภค
4. การปลูก
4.1 การเตรียมดิน : ไถพรวน และตากดินก่อนปลูกประมาณ 15 วัน
4.2 การเตรียมพันธุ์ : โดยการปลูกต้นพริกไทยให้เจริญเติบโตขึ้นค้างปลูกจนมีอายุได้ 1 ปี จึงตัดโคนต้นให้สูงจากพื้นดินประมาณ 15 เซนติเมตร จากนั้นจึงดึงต้นพริกไทยออกจากค้าง โดยก่อนดึงให้รดน้ำให้เปียกชุ่มเพื่อดึงต้นออกจากค้างได้ง่าย นำต้นพริกไทยมาตัดเป็นท่อนๆ ให้มีตา 4 5 ตา นำมาปักชำลงในกระบะเพาะชำหรือถุงพลาสติก จนรากงอกแข็งแรง ประมาณ 20-25 วัน จึงนำไปปลูก สำหรับกิ่งพันธุ์ที่ใช้ขยายพันธุ์มี 2 แบบ ขึ้นกับการปลูกแบบขึ้นค้างหรือทำเป็นพริกไทยพุ่ม คือ
- พริกไทยชนิดปลูกขึ้นค้าง ใช้ท่อนพันธุ์ที่ไม่มีการแตกกิ่งข้างออกมาจากข้อของลำต้น
- พริกไทยพุ่ม ใช้ท่อนพันธุ์ที่มีตาข้างแตกกิ่งแขนงหรือปรางออกมาจากข้อของลำต้น
4.3 วิธีการปลูก : พริกไทยจะปลูกในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 2 x 2 เมตร หรือ 1.75 x 2 เมตร และขุดหลุมลึกประมาณ 40 เซนติเมตร ปลูกต้นพริกไทยค้างละ 2 ต้น ใช้เชือกผูกแขนงหรือยอดพันธุ์ยึดให้ติดกับค้าง การเตรียมค้างปลูกพริกไทยใช้ค้างเสาซีเมนต์หรือปลูกให้เลื้อยขึ้นต้นไม้ใหญ่ที่มีชีวิตและค้างที่ไม่มีชีวิต ซึ่งค้างที่ใช้มีขนาดประมาณ 4 x 4 นิ้ว ยาวประมาณ 4 เมตร เป็นเสากลมหรือเสาเหลี่ยม ไม้ค้างนี้จะปักลงในดินประมาณ 60 เซนติเมตร ในช่วงแรกของการปลูก ใช้กิ่งมะพร้าวหรือแสลนช่วยบังให้ร่มเงาจนกว่าพริกไทยจะตั้งตัวได้
5. การดูแลรักษา
5.1 การให้น้ำ ช่วงแรกของการปลูกต้องรดน้ำทุกวัน หรือวันเว้นวัน จนต้นพริกไทยเจริญเติบโตตั้งตัวได้ดี
5.2 การใส่ปุ๋ย
วิธีการให้ปุ๋ยมีหลายวิธี แต่ที่นิยมให้ปุ๋ยพริกไทย คือ การให้ปุ๋ยทางดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในรูปปุ๋ยเม็ดหรือผงซึ่งมีทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี
1. ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยจากมูลสัตว์ต่างๆ กากถั่ว ซากพืช ซากสัตว์ที่หมักแล้ว ใส่ครั้งละประมาณ 3 – 5 กระป๋องนมข้น ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยจับปุ๋ยเคมีไว้ไม่ให้สูญสลายไปได้ง่าย
2. ปุ๋ยเคมี ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมี 15-15-15, 8-24-24 และ 12-12-17+2 Mg. ตามความเหมาะสม ตามอัตราส่วน และตามระยะเวลาของการใส่
- ระหว่างปีแรก ควรใส่ปุ๋ยเคมีประมาณ 400-500 กรัมต่อค้าง หรือปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 2-2.5 กิโลกรัมต่อค้างโดยแบ่งใส่ 3-4 ครั้ง
- ระหว่างปีที่ 2 ต้นพริกไทยเติบโตขึ้น ควรเพิ่มปุ๋ยเป็นค้างละ 1 กิโลกรัม หรือปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อค้าง
- ระหว่างปีที่ 3 และปีต่อๆ ไป ควรใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้น เป็น 1.5 กิโลกรัมต่อค้างต่อปี โดยใส่ 3 ครั้งๆ ละ 0.5 กิโลกรัม โดยครั้งแรกใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 0.5 กิโลกรัม หลังจากเก็บเกี่ยวพริกไทยเสร็จ ครั้งที่สอง ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อเร่งการออกดอกติดผล และใส่ครั้งที่สามใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17+2 Mg. ประมาณเดือน กันยายน-ตุลาคม เพื่อบำรุงผล และควรใส่โดโลไมท์ 0.5 กิโลกรัม ก่อนใส่ปุ๋ยครั้งแรก และครั้งที่สาม ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ใน 3 ปีแรก ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างน้อยปีละ 5 ครั้ง โดยใส่ปริมาณ 5 กิโลกรัมต่อค้าง
5.3 การกำจัดวัชพืช
- คราดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูก
- ขุดทำลายหัวใต้ดินของวัชพืชบางชนิดทุกครั้งที่พบ พรวน ถากดิน และกำจัดวัชพืช ควรทำขณะที่ยังเล็ก
โดยใช้การถอน
5.4 โรคและแมลง โรคที่สำคัญของพริกไทยที่ควรรู้จัก เช่น
1. โรครากเน่าและโคนเน่า เกิดจากเชื้อรา Phytophthora parasitica ทำให้ต้นพริกไทยรากเน่าดำและมีกลิ่นเหม็น การป้องกันกำจัดโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฎิปักษ์ในการควบคุมโรค เช่น Trichoderma harzianum ใส่ลงดิน
2. โรครากเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas sp. ทำลายส่วนใบเป็นหลัก และส่วนลำต้นทั้งหมด ทำให้ใบ ดอก และผลร่วง และทำให้รากและยอดแห้งและไม่ออกดอก การป้องกันกำจัดเบื้องต้นให้ถอนหรือทำลาย
3. โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อรา ทำลายส่วนใบของพริกไทย เกิดเป็นจุดวงกลมสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ตรงกลางแผลมีลักษณะเป็นวงสีน้ำตาลดำเรียงซ้อนกันเหมือนวงปีของเนื้อไม้ ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้ตายได้ป้องกันโดยตัดแต่งกิ่งและเก็บไปเผาทำลาย
4. โรคใบจุด ลักษณะอาการ ใบพริกไทยเกิดอาการแผลเป็นจุดบุ๋มสีดำ หรือสีน้ำตาลดำ ขอบแผลเป็นสีเหลือง เมื่อแผลขยายใหญ่กลางแผลมีสีน้ำตาล ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อกลางแผล ยุบตัวลงเห็นเป็นชั้นๆ :ซ้อนกัน หากเกิดที่ใบแก่ทำให้พริกไทยทิ้งใบ โรคนี้ยังพบได้ที่ก้านใบและลำต้น หากอาการรุนแรงทำให้พริกไทยชะงักการเจริญเติบโตหรือแห้งตาย การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค และเก็บใบเป็นโรคที่ร่วงหล่นนำไปเผาทำลาย และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี หรืออะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี หรือ เบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี
แมลงที่สำคัญ
1. เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงศัตรูพริกไทยที่สำคัญ มักเข้าทำลายผลอ่อนเมล็ดพริกไทย และเกาะติดไปกับเมล็ดพริกไทย ทำให้ผลผลิตเสียคุณภาพ
2. ด้วงงวงเจาะเถาพริกไทย ตัวอ่อนเจาะทำลายเถาพริกไทย ทำให้เถาแห้งตายส่วนตัวเต็มวัย จะกัดกินใบและผลพริกไทย ป้องกันโดยการเผาทำลาย
3. เพลี้ยอ่อน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ป้องกันโดยการเก็บทำลาย
6. การเก็บเกี่ยว
6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเกี่ยวประมาณเดือนมกราคม – กุมภาพันธุ์
6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : ใช้มือเด็ดช่อพริกไทยจากต้น โดยดูจากช่อที่มีเมล็ดแก่โตเต็มที่ สีค่อนข้างแดง
7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา
7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว นำพริกไทยแห้งมาบดทำเป็นพริกไทยป่น
7.2 การเก็บรักษา นำพริกไทยที่เก็บได้มาตากแดด 3-4 วัน จากนั้นนำไปนวดหรือใช้ไม้ตีให้ผลหลุดจากรวง แยกก้านออกแล้วตากแดดอีกครั้ง ประมาณ 3 แดด จนพริกไทยแห้งสนิทเป็นสีดำ จะได้พริกไทยดำ จากนั้นนำผลพริกไทยแช่น้ำนานประมาณ 7-8 วัน จนเปื่อยยุ่ย ล้างน้ำ นำพริกไทยขึ้นจากน้ำที่แช่ นำมานวดเพื่อลอกเปลือกแล้ว นำมาเกลี่ยบนตะแกรง ใช้น้ำล้างเปลือกออกจนหมด จากนั้นนำไปตากแดด 3-4 วัน จนแห้งสนิท นำบรรจุขายเป็นพริกไทยขาว ผลสด 100 กิโลกรัม สามารถทำเป็นพริกไทยได้ 25-30 กิโลกรัม พริกไทย 1 กิโลกรัม มีเมล็ดพริกไทยประมาณ 24,000 เมล็ด
8. สุขลักษณะและความสะอาด
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม
- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต
- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี
- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
9. การบันทึกข้อมูล
ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของพริกไทย ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่
1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน
3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา
Category: GAP