banner ad

GAP พริก

| December 20, 2013

GAP พริก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum frutescens L. var. frutescens

ชื่อสามัญ Chilli

ชื่อวงศ์ SOLANACEAE

ชื่ออื่น ครี(กระเหรี่ยง-กำแพงเพชร) ดีปลีขี้นก พริกขี้หนู(ใต้) ปะแกว(ชาวบน-นครราชสีมา) พริก(กลาง เหนือ) พริกขี้หนู(กลาง) หมักเพ็ด(ตะวันออกเฉียงเหนือ) พริกแด้ พริกแต้ พริกนำ (เหนือ) มะระตี(เขมร-สุรินทร์) มือซาซีซู มือส่าโพ(กระเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ดีปลี(ปัตตานี)

1. ลักษณะของพืช เป็นพืชล้มลุก อายุหลายฤดู ลำต้นตั้งตรงสูงประมาณ 30 75 เซนติเมตร ใบแบนเรียบและเป็นมันใบรูปร่างกลม รีปลายใบแหลมใบออกตรงข้ามกัน ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็กก้านดอกตรงหรือโค้งกลีบดอกจะมีสีขาวหรือ สีม่วงเกสรเพศผู้ มี 1-10 อันเกสรตัวเมียมี 1-2รังไข่ ผลมีหลายขนาดพริกขี้หนูจะมีผลขนาดเล็กยาวประมาณ 2.5 4 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-0.8 เซนติเมตร เมื่ออ่อนสีเขียวเข้มและเมื่อเจริญเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือเหลือง ในแต่ละผลจะมีเมล็ดจำนวนมากเรียงตัวกันหนาแน่นขนส่วนของรากมีสีขาว

2. สภาพพื้นที่ปลูก

ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีความอุดมสมบูรณ์

มีการระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศดี

สภาพอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 24-29 องศาเซลเซียส

 

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ :

1. เลือกพันธุ์ที่สมบูรณ์และต้านทานต่อโรคและแมลง

2. เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ ให้ผลผลิตสูง และเจริญเติบโตดี

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก :

1. พริกขี้หนู ได้แก่ พันธุ์ห้วยสีทน (ศรีสะเกษ) พันธุ์หัวเรือ พันธุ์จินดา และพันธุ์ยอดสน

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ไถตากดินไว้ประมาณ 7-14 วัน แล้วไถพรวนอีก 1-2 ครั้ง ทำการยกแปลงให้สูงขึ้น 10 เซนติเมตร ขุดหลุมตามระยะปลูกลึก 20 เซนติเมตร

4.2 การเตรียมพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ดในถาดเพาะหรือแปลงเพาะกล้า

- การเพาะเมล็ดในถาดหลุม ใช้เมล็ดพริก หลุมละ 1 เมล็ด เมื่อต้นกล้างอกและอายุได้ ประมาณ 30 วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลง

- การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะกล้า โดยหว่านเมล็ดลงในแปลงเพาะกว้าง 1 เมตร ยาว 10 เมตรพื้นที่ที่เตรียมให้พรวนดินผสมปุ๋ยคอก 4-5 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากันเพื่อให้ดินร่วนซุย และตากดินไว้ 7-15 วัน โรยเมล็ดเป็นแถวห่างกัน 10 เซนติเมตร ระยะแต่ละเมล็ดห่างกัน 0.5 เซนติเมตร กลบดินบางๆ เสมอผิวดิน หรือใช้ฟางคลุมและรดน้ำให้ชุ่ม จนต้นกล้างอกและอายุได้ 20-35 วัน (สูง 10-15 เซนติเมตร) จึงย้ายปลูกในแปลง

4.3 วิธีการปลูก : ใช้ต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรค มาปลูกได้ 2 แบบ

- ปลูกแบบแถวเดี่ยว ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ถ้า – ปลูกแบบแถวคู่ ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 80 เซนติเมตร ระหว่างแถวคู่ 120 เซนติเมตร

 

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และให้ทันทีหลังจากการใส่ปุ๋ยแล้ว หลังจากนั้นทำการคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นของดิน และลดการระเหยของน้ำด้วยการใช้พลาสติกทึบแสง

EACH idea product wide brighter auto http skypharmacy online drugst it which in Little.

หรือฟางข้าว คลุมโคนต้น

5.2 การใส่ปุ๋ย ในเดือนแรก ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ N:P:K สูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ต่อครั้ง ครั้งแรกใส่หลังจากย้ายกล้าปลูกแล้ว 7 วัน ครั้งที่ 2 ใส่เมื่อเริ่มออกดอก หรือหลังย้ายปลูกแล้วประมาณ 30 วัน ใส่ครั้งที่ 2 ข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

5.3 การกำจัดวัชพืช

- คราดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูก

- ขุดทำลายหัวใต้ดินของวัชพืชบางชนิดทุกครั้งที่พบ พรวน ถากดิน และกำจัดวัชพืช ควรทำขณะที่ยังเล็ก โดยใช้การถอน

5.4 โรคและแมลง ศัตรูที่สำคัญของพริก

โรคที่สำคัญของพริก

1. โรคตากบ เกิดจากเชื้อรา จะมีอาการแผลกลมตรงกลางแผลมีสีขาวอมเทา ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้มรอบๆ แผล ระบาดมากในสภาพอากาศร้อนชื้น การเข้าทำลายของโรคเกิดจากใบส่วนต่างๆ ก่อนแล้วระบาดไปสู่ส่วนบน

การป้องกันกำจัด

พ่นด้วยสารเคมี แมนโคเซบ

เก็บส่วนที่ถูกทำลาย เผาทิ้งภายนอกแปลง

2. โรคกุ้งแห้ง หรือแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อรา แสดงอาการบนผลพริก โดยเริ่มจากจุดฉ่ำน้ำเล็ก แผลบุ๋มลึกลงไปเล็กน้อยต่อมาแปลขยายขนาดออกในลักษณะวงรี โรคจะเป็นเป็นเมือกเยิ้มสีส้มอ่อนในบริเวณแผล โรคนี้สามารถติดไปกับเมล็ดได้

การป้องกันกำจัด

ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ต้องเลือกเก็บเมล็ดจากต้นที่ไม่เป็นโรค หรือคลุกเมล็ดด้วยคาร์บอกซิน และเมื่อพริกเริ่มติดผลควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชคือ แมนโคเซบ

3. โรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อรา เกิดอาการเหี่ยวอย่างช้าๆ ใบที่อยู่โคนต้นเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และร่วงต่อมาใบจะเหี่ยวทั้งต้น

การป้องกันกำจัด

ถ้าพบโรคในแปลง ต้องทำการถอนต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย

ก่อนปลูกพริกควรทำการปรับสภาพดินด้วยปูนขาว อัตรา 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยคอก อัตรา 2-4 ตันต่อไร่

4. โรคใบหงิก เกิดจากเชื้อไวรัส แสดงอาการหงิก ใบมีขนาดเล็กลง หรืออาจจะเล็กลงจนดูคล้ายเส้นเชือก ใบด่างเกาะเป็นกระจุก

การป้องกันกำจัด

ถ้าเก็บเมล็ดเอง ให้เลือกเก็บจากต้นที่ไม่มีอาการใบหงิกเท่านั้น

แมลงศัตรูที่สำคัญ คือ เพลี้ยไฟพริก ไรขาว หนอนเจาะสมอฝ้าย

การป้องกันกำจัด

เก็บส่วนที่ถูกทำลาย เผาทิ้งภายนอกแปลง

 

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เมื่ออายุ 60-90 วัน หลังจากย้ายกล้าปลูก

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : ใช้มือปลิดผล ตามอายุเก็บเกี่ยวพริก ผลผลิตที่เก็บได้ควรเก็บใส่ถาดหรือตระกร้าที่สะอาดไว้ในที่ร่ม และไม่ควรกองสุมทับกันเพราะจะทำให้เกิดการเน่าเสียได้

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : นำพริกที่ได้ไปล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปตาก หรืออบให้แห้งด้วยอุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง การทำพริกแห้งให้ได้สีแดงเข้ม ผิวเรียบเป็นมัน โดยการลวกในน้ำเดือดนาน 1 นาที ก่อนนำไปตากแห้งจะช่วยให้พริกแห้งที่ได้ สามารถเก็บได้นาน 1 ปี การตากพริกควรตากบนชั้น ความสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร

7.2 การเก็บรักษา : เก็บรักษาในที่แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดสารพิษอัลฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราเข้าทำลาย โดยต้องรักษาความชื้นให้ไม่มากกว่าประมาณ 7.2-7.9 เปอร์เซ็นต์

 

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของพริก ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่างๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news