GAP พญายอ
GAP พญายอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clinacanthus nutans(Burm.f.) Lindau
ชื่อสามัญ -
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
ชื่ออื่น พญาปล้องดำ พญาปล้องทอง (ภาคกลาง)
ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่) พญาปล้องคำ (ลำปาง)
โพะ โซ่จ่าง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
1. ลักษณะของพืช เป็นไม้พุ่มเลื้อย อายุหลายฤดู ลำต้น และกิ่งก้านเกลี้ยง ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปใบยาวแคบ โคนใบกลมรี ปลายใบยาวแหลม ขนาดยาว 7-9 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.5 เซนติเมตร ออกตรงข้าม ดอก ออกที่ปลายกิ่ง เป็นกระจุก กลีบประดับสีเขียว ยาวเท่าๆ กัน มีขนเป็นต่อมเหนียวๆ อยู่โดยรอบ กลีบดอกเป็นสีแดง ยาว 3-4 เซนติเมตร โคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 2 กลีบ คือ กลีบบนและกลีบล่าง เกสรตัวผู้ มี 2 เกสร เกสรตัวเมียเกลี้ยงไม่มีขน ผลไม่พบในประเทศไทย ผลแห้ง มีผิวเรียบ ความยาวประมาณ2 มิลลิเมตร
2. สภาพพื้นที่ปลูก
- เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบดินลูกรัง หรือดินเหนียว
- ชอบอากาศร้อนชื้น
- ความต้องการแสง ชอบแสงแดดรำไรถึงปานกลาง
3. พันธุ์
3.1 การเลือกพันธุ์ :
1.เลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง
2. เป็นพันธุ์ที่ถูกต้องตรงตามความต้องการปลูก
3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : -
4. การปลูก
4.1 การเตรียมดิน : กำจัดวัชพืช และเศษวัสดุ ไถพรวน ตากดินประมาณ 7-15 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 2 ตัน/ไร่ และควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า 5.5-6.5 สำหรับพื้นที่ปลูกที่การระบายน้ำไม่ดี ควรใช้วิธียกร่องปลูก
4.2 การเตรียมพันธุ์ : โดยใช้กิ่งปักชำ
เลือกกิ่งพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรค และแมลงเข้าทำลาย ตัดกิ่งพันธุ์ให้มีความยาว ประมาณ 3-4 ข้อ หรือ มีตากิ่งอย่างน้อย 3 ตา และตัดใบออกจากกิ่งเล็กน้อย และทาปูนแดงบริเวณปลายกิ่งที่ตัดออก นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกในถุงเพาะชำ วางถุงเพาะชำไว้ในร่มที่มีแสงแดดรำไร รดน้ำให้ชุ่ม จนกิ่งปักชำออกรากจึงนำไปปลูก
ท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูก ใน1 ไร่จะใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 4,000 ต้น
4.3 วิธีการปลูก : กิ่งพันธุ์ที่นำมาปลูกมี 2 แบบ คือ
1. กิ่งพันธุ์ที่เป็นกิ่งปักชำที่เพาะในถุง นำกิ่งปักชำที่มีรากและใบอ่อน ออกจากถุงเพาะชำ ลงปลูกในแปลง และรดน้ำให้ชุ่ม
2. ใช้กิ่งพันธ์ตัดใหม่ลงปลูกในแปลง ตัดกิ่งชำจากต้นเดิมลงปลูกในแปลง ให้มีระยะห่างระหว่างต้น30 เซนติเมตรรดน้ำทั้งเช้า และเย็น จนกว่ากิ่งพันธุ์จะแตกใบและออกราก ในช่วงแรกของการปลูกอาจจะต้องใช้สแลนบังให้ร่มเงา เพื่อป้องกันไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง จนกว่าพืชจะตั้งตัวได้
5. การดูแลรักษา
5.1 การให้น้ำ ระยะ 1-2 เดือนแรก ควรรดน้ำทุกวัน เมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไปแล้วอาจให้น้ำวันเว้นวัน โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนอาจจะไม่ต้องรดน้ำ
5.2 การใส่ปุ๋ย พยายอเป็นพืชที่ไม่ต้องการดูแลมาก ดังนั้นถ้ามีการปรับปรุงดินตั้งแต่เริ่มต้น จะสามารถทำให้ต้นเจริญเติบโตดีจนถึงระยะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน จึงใส่ปุ๋ยคอกอีกครั้ง และการพรวนดินเป็นระยะๆ ทุก 1 เดือน เพื่อให้ดินร่วนซุย และรากสามารถเจริญหาอาหารได้ดี
5.3 การกำจัดวัชพืช ปกติวัชพืชจะเป็นปัญหาในระยะแรก จึงควรหมั่นคอยดูแลกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกพญายอ ไม่ให้ขึ้นมารบกวน แต่หลังจากต้นพยายอเจริญมากขึ้น จะปกคลุมพื้นที่จนวัชพืชไม่สามารถเจริญได้
5.4 โรคและแมลงที่สำคัญ : ในพญายอยังไม่พบโรคแมลงศัตรูที่สำคัญ มีแต่ทำความเสียหายเล็กน้อยดังนี้
1. ไรแมงมุม ทำลายใบอ่อนและใบแก่ ใบจะมีลักษณะซีดเหลือง เมื่อพบมีการระบาดไม่มากควรจะกำจัดทิ้งจากแปลงปลูก
2. เพลี้ยไฟ ทำลายใบอ่อนและยอดอ่อน ใบจะมีลักษณะหงิก ขอบใบม้วนงอ ยอดอ่อนที่แตกใหม่หดลีบเล็ก เมื่อมีการระบาดไม่มากให้กำจัดทิ้ง หากการระบาดรุนแรง จะทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโต
การป้องกันกำจัด
- การใช้น้ำฉีดพ่น สามารถช่วยไล่เพลี้ยไฟได้ระยะหนึ่ง เพราะเพลี้ยไฟไม่ชอบน้ำ
- ใช้สารสกัดจากพืชในการป้องกันกำจัด หรือไล่แมลง แทนการใช้สารเคมี เช่นสารสกัดจากสะเดา มีฤทธิ์ยับยั้งการกินของแมลง ยับยั้งการขยายพันธุ์ การลอกคราบของแมลง จึงทำให้แมลงตาย และทำให้ไข่ของแมลงฝ่อ
6. การเก็บเกี่ยว
6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 6-12 เดือน
6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : โดยตัดต้นเหนือระดับผิวดิน 15 เซนติเมตร แล้วเก็บใบจากใต้ยอดลงมา 2 ปล้อง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วต้นเดิมจะแตกยอดใหม่ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไปได้เมื่อแขนงมีอายุ 3 เดือน ผลผลิตสด 1,000 กิโลกรัม/ไร่
7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : การทำพญายอแห้ง นำพญายอมาล้างน้ำ 1 ? 2 ครั้ง ผึ่งให้หมาด และเกลี่ยบางๆ นำไปตากแดด หรืออบด้วยตู้อบอุณหภูมิประมาณ 55 องศาเซลเซียส และหากต้องการให้ใบแห้งมีสีสวยควรอบด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์จะดีที่สุด
7.2 การเก็บรักษา : เก็บบรรจุในถุงหรือภาชนะที่สะอาดไ ม่ควรเก็บเกิน 2 ปี เพราะสารสำคัญอาจมีคุณสมบัติในการออกฤทธิ์เปลี่ยนไป อัตราส่วนผลผลิตสด : ผลผลิตแห้ง เท่ากับ 4 : 1 กิโลกรัม
8. สุขลักษณะและความสะอาด
- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต
- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี
- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
9. การบันทึกข้อมูล
ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของพญายอ ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่
1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน
3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา
Category: GAP