banner ad

GAP ผักคาวตอง

| December 20, 2013

GAP ผักคาวตอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Houttuynia cordata Thunb.

ชื่อสามัญ Chameleon

ชื่อวงศ์ SAUAURACEAE

ชื่ออื่น พลูแก(ภาคกลาง) ผักเข้าตอง ผักคาวตอง(ภาคเหนือ)ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน)

1.ลักษณะของพืช ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงเหนือดินประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีน้ำหอมระเหยและมีกลิ่นดาว ข้อลำต้นทอดเอนมีรากออกตามข้อ ใบเดี่ยว ออกเวียนหรือออกสลับ แผ่นใบกว้าง 2.5-7.5 เซนติเมตร ยาว 3-9 เซนติเมตร ขอบก้านสีแดง โดนก้านใบเชื่อมกับหูใบ เป็นแผ่นบางหุ้มลำต้น แผ่นใบรูปหัวใจหรือรูปไข่ค่อนข้างกลม ปลายใบเป็นติ่งแหลมฐานใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ฝาใบทั้งสองด้านมีขนนุ่น ด้านบนสีเขียวส่วนด้านล่างมีลายเส้นใบสีม่วงแดง 5-7 เส้น ก้านใบยาว 1-4 เซนติเมตร ช่อดอกแบบช่อเชิงลด เกิดที่ปลายยอดรูปทรงกระบอกดูคล้ายเป็นดอกเดี่ยวเนื่องจากมีใบประดับช่อดอกเป็นกลีบขนาดใหญ่ 4 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 0.5-1 เซนติเมตร ยาว 1-2 เซนติเมตร ดูคล้ายกลีบดอกและที่แกนช่อดอกมีดอกย่อย และใบประดับดอกจำนวนมากขนาดเล็กสีขาวเรียงอัดกันแน่น ดอกสมบูรณ์เพศ ไม่มีก้านดอก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรตัวผู้ 3 อัน อับเรณูสีเหลือง เกสรตัวเมียมีห้องรังไข่ 3 ห้อง ผลแห้งรูปรี เมล็ดรูปไข่มีจำนวนมาก

 

2. สภาพพื้นที่ปลูก

- ถิ่นกำเนิดพบทั่วไปในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นได้ตั้งแต่พื้นที่ราบต่ำไปจนถึงที่สูงประมาณ2,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

- ในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ ทั้งที่ขึ้นตามธรรมชาติ และที่ปลูกเลี้ยงภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกบ้างแต่ไม่มากนัก

- สามารถเจริญเติบโตได้ในดินต่างๆ ตั้งแต่ดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ จนถึงดินทรายที่มีปริมาณธาตุอาหารบางชนิดค่อนข้างต่ำ ความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 5.5-6.5 และเติบโตได้ในสภาพน้ำท่วมขัง

- ต้องการร่มเงา และความชื้นสูง นิยมปลูกใกล้แหล่งน้ำที่มีความชื้นสูง และบริเวณที่ได้รับแสงแดดไม่มากนัก หรือได้รับแสงไม่ตลอดทั้งวัน

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ มีข้อ 2-3 ข้อ

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์ก้านเขียว และพันธุ์ก้านแดง

 

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ไถพรวนกลับหน้าดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ตันต่อไร่ แล้วปรับผิวดินให้เสมอกัน

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ตัดปลายกิ่งเฉียงประมาณ 45 องศา แช่น้ำให้กิ่งสดเสมอ แล้วปักชำในกระบะชำที่มีวัสดุ ที่ไม่โปร่งมาก แต่มีความชุ่มชื้นเพียงพอ เช่น ดินร่วนผสมขุยมะพร้าวในอัตรา 4:1 ประมาณ 1 เดือน กิ่งชำจะออกรากมาก

4.3 วิธีการปลูก : ปักชำลงในดินที่เตรียมไว้แล้ว จากนั้นคลุมแปลงปลูกด้วยฟางข้าวหรือข้าวโพด

 

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ เนื่องจากคาวตองเป็นพืชที่ชอบน้ำ ฉะนั้นจะขาดน้ำไม่ได้แต่ไม่ให้แฉะหรือมากจนเกินไปจะทำให้เน่าง่าย

5.2 การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกปริมาณ 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 อัตรา 30 กก./ไร่ ใส่เดือนละ 2 ครั้ง

5.3 การกำจัดวัชพืช หมั่นดูแลทำความสะอาดบริเวณที่ปลูกผักคาวตอง ไม่ให้วัชพืชอื่นขึ้นมารบกวน

5.4 โรคและแมลง

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

โรคต้นกล้าแห้ง เกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii และโรคใบจุด

การป้องกันกำจัด

ใช้เชื้อราปฏิปักษ์ Trichoderma harzianum เข้าทำลายเชื้อราสาเหตุโรค Sclerotium rolfsii

แมลงศัตรูพืชที่สำคัญ คือ ไร จะใช้ปากแทงและดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบพืช ทำให้เสียพื้นที่สร้างคลอโรฟิลล์

การป้องกันกำจัด ตัดแต่งใบที่ถูกทำลายออก หรือใช้น้ำพ่นฝอยเพื่อไล่ไรไม่ให้เข้ามาทำลาย

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เริ่มเก็บเกี่ยวพลูคาวได้เมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : สามารถเก็บได้ทั้งใบและต้น ที่อยู่เหนือดิน ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตร และเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่องหลังจากตัดครั้งแรกใน 4-6 เดือน

 

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว นำใบหรือทั้งต้นสด ที่เก็บเกี่ยวแล้ว ล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง โดยมัดรวมเป็นกำแล้วนำไปแขวนให้สะเด็ดน้ำ ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง และนำมาตากแดดนาน 3 วัน หรืออบแห้งที่อุณหภูมิ 40-55 องศาเซลเซียส นาน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณ rutin สูงกว่าการตากแห้งโดยวิธีธรรมชาติ

7.2 การเก็บรักษา เก็บคาวตองแห้งใส่ในภาชนะปิดสนิทที่ป้องกันความชื้น จะทำให้ผักคาวตองยังคงรักษาคุณภาพที่ไว้ได้

 

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของผักคาวตอง ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึก ได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news