banner ad

GAP บัวบก

| December 20, 2013

GAP บัวบก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica (L.) Urban

ชื่อสามัญ Asiatic Pennywort

ชื่อวงศ์ UMBELLIFERAE

ชื่ออื่น ปะหนะเอขาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ผักแว่น (Penninsular) ผักหนอก (ภาคเหนือ)

 

1. ลักษณะของพืช

เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้น มีไหล หรือส่วนของลำต้น

ที่แตกแขนงทอดนอนไปตามพื้นดินที่เรียกว่าไหล มีรากงอกออกตามข้อของลำต้น ใบเดี่ยว แผ่นใบรูปไต หรือค่อนข้างกลม งอกออกจากข้อตั้งตรง สูงประมาณ 10-15 ซม. ก้านใบสีเขียว ใบเดี่ยว รูปร่างกลม ฐานใบโค้งเว้าเข้าหากัน ขอบใบเป็นคลื่นหยักดอกขนาดเล็ก สีม่วงมัน สารสำคัญในบัวบก ในลำต้นและใบมีสารที่สำคัญคือ กรดมาดีคาสสิค (madecassic acid), กรดเอเชียติก (Asiatic acid) สารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ในการสมานแผล ช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อเป็นหนองในได้อีกด้วย

2. สภาพพื้นที่ปลูก

- ควรเป็นพื้นที่ที่มีความลาดเอียงต่ำ

- เป็นดินเหนียวถึงดินเหนียวปนดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์สูง

- เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ท่วมขัง มีความชื้นแฉะสูง

- สามารถขึ้นได้ดีทั้งในที่ร่ม และที่โล่งแจ้ง

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์

1.เลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง กิ่งใบที่สมบูรณ์

2.เป็นพันธุ์ที่ถูกต้องตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะการบริโภคสด

3. เลือกพันธุ์บัวบกที่ปลอดจากโรค ไม่มีโรคและแมลงติดมากับไหลที่ใช้ขยายพันธุ์

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตเชิงการค้า ได้แก่ สายพันธุ์เชียงราย มหาสารคาม และนครศรีธรรมราช

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : เตรียมแปลงให้ดินร่วนซุย จากนั้นยกร่องแปลงให้สูงเหนือดินเพื่อป้องกันความชื้นและน้ำขัง เพราะใบบัวบกเป็นพืชคลุมดินหากไม่ยกแปลงขึ้นเวลามีน้ำขังหรือความชื้นมากเกินไปอาจทำให้ใบเน่าหรือเกิดเชื้อราได้ โดยแปลงกว้างประมาณ 1-2 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ พรวนดินและกลับหน้าดินตากทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นก็ให้พรวนดินพร้อมกับทำการใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ตารางเมตร

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ใช้เมล็ด หรือไหล การใช้ไหลเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และรวดเร็วกว่าการใช้เมล็ด โดยตัดแยกไหลที่มีต้นอ่อนและราก ไปเพาะในกระบะเพาะประมาณ 1-2 สัปดาห์ จึงย้ายกล้านำไปปลูกในแปลง โดยรดน้ำแปลงให้ชุ่มก่อนปลูก หรือใช้ไหลปลูกลงในแปลงปลูกได้โดยตรง

4.3 วิธีการปลูก : นำไหลของต้นบัวบกมาปักลงในแปลง ระยะห่าง 10 x 10 เซนติเมตร โดยในระยะแรกที่ลงปลูกใหม่ๆ ควรนำสแลนหรือวัสดุทางการเกษตรมาพรางแสงไว้ประมาณ 7-10 วัน เนื่องจากที่แดดที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน ส่งผลให้ต้นกล้าที่ลงแปลงใหม่ๆ ใบไหม้ และอาจเฉาตายได้ หลังจาก 1 สัปดาห์เมื่อรากเดินดีแล้วให้นำแสลนออก หรือบางแห่งนิยมปลูกโดยใช้สแลน เพื่อลดความร้อนจากแสงแดด

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ : การให้น้ำบัวบกมี 2 วิธี คือ การให้น้ำระบบมินิสปริงเกลอ เปิดให้น้ำเช้าและเย็น ครั้งละ 10-15 นาที หากเป็นการใช้สายยางเดินฉีดน้ำให้รดจนกว่าจะชุ่ม

5.2 การใส่ปุ๋ย : ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ตารางเมตร ทุก 6 เดือน หรือปุ๋ยเคมี จะใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ตลอดฤดูการปลูกบัวบก คือ ครั้งแรกใส่ปุ๋ยหลังจากปลูก 15 – 20 วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยสูตร 25-7-7 อัตรา 3 – 4 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่สองจะห่างจากการใส่ครั้งแรก 15 – 20 วันโดยเปลี่ยนเป็นใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเมื่อใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วจะต้องรดน้ำให้ชุ่ม ถ้าใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ให้แบ่งใส่ครั้งละ 1 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

5.3 การกำจัดวัชพืช : กำจัดวัชพืชโดยการใช้แรงงานถอนวัชพืชออกจากแปลงปลูก

5.4 โรคและแมลง

โรคที่สำคัญ ได้แก่

โรคโคนเน่า หรือโรคราเมล็ดผักกาด เกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii เป็นโรคที่พบเป็นหย่อมๆ ในแปลงปลูก

การป้องกันกำจัด

1. ใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น Trichoderma harzianum ใส่ในแปลงปลูก

2. ถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูก เผาทำลายทิ้ง

3. ขุดดินบริเวณที่เป็นโรคออกจากแปลง และใช้ปูนขาวโรยรอบหลุม และตากดินไว้

โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา Septoria sp. พบระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน

การป้องกันกำจัด

1. เก็บใบที่เป็นโรคออกจากแปลง และเผาทำลายทิ้ง

2. ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เท่าที่จำเป็น

โรคใบจุดสีแดง พบระบาดรุนแรงในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้ง แต่ไม่พบในฤดูฝน

การป้องกันกำจัด ยังไม่ทราบชนิดของเชื้อสาเหตุโรค

แมลงที่สำคัญ

หนอนกัดกินใบ หนอนชนิดนี้จะกัดกินใบจนเหลือแต่ก้านใบ ถ้าระบาดมากจะทำความเสียหายทั่วแปลง ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร เมื่อกางปีกเต็มที่กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร หัวสีน้ำตาล ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ปลายปีกหน้าและปีกหลังมีสีน้ำตาลอมเทา

การป้องกันกำจัด ถ้าพบจำนวนไม่มากเก็บตัวหนอนออกไปทำลายทิ้ง หรือนำเมล็ดลางสาดจำนวน 1-5 กิโลกรัม บดผสมน้ำประมาณ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 12 ชม. กรองเอาแต่น้ำฉีดพ่นให้ทั่วแปลง นอกจากนี้ยังนำต้นมะเขือเทศมาหั่นให้ละเอียดประมาณ 100 กรัม ใส่ในน้ำร้อนจำนวน 2 ลิตร หมักทิ้งไว้ 5 ชม. กรองเอาแต่น้ำฉีดพ่นทั่วแปลง

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากปลูกประมาณ 5-6 เดือน แต่บางแห่งเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูก 90 วัน และเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเก็บเกี่ยวใบในรอบต่อไปได้ภายใน 2-3 เดือน และให้ผลผลิตได้นานหลายปี ประมาณ 2-3 ปี

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : ใช้มีดตัดต้นเหนือจากพื้นดินประมาณ 2-3 เซนติเมตร หรือเก็บเกี่ยวทั้งต้นโดยใช้เสียมเหล็กขุดเซาะบริเวณโคนต้น แล้วดึงเอาต้นบัวบกออกมาทำความสะอาด

 

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : มีทั้งในรูปแบบที่ไม่แปรรูป และแปรรูป

7.1.1 สภาพที่ไม่แปรรูป มีทั้งที่เป็นพืชสด ใช้เป็นผัก หรือคั้นน้ำทำเป็นเครื่องดื่ม และพืชแห้ง ใช้เป็นวัตถุดิบเริ่มต้นของการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์

- นำบัวบกมาล้างน้ำ และทำความสะอาดเก็บใบเหลือง และใบที่เป็นโรค หรือโดนแมลงทำลาย แยกออกทิ้ง หลังจากนั้นนำมามัดรวมกันเป็นกำ บรรจุใส่ภาชนะเพื่อขนส่งจำหน่ายโดยระหว่างการขนย้ายนำผ้าชุบน้ำปิดภาชนะบรรจุบัวบกเพื่อรักษาความสดใหม่

- การทำให้แห้ง หลังจากล้างบัวบกให้สะอาด นำมาหั่น แล้วอบหรือตากให้แห้ง อุณหภูมิที่ใช้อบประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส จนแห้งสนิท ประมาณ 48 ชั่วโมง ให้มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 14.0 โดยน้ำหนัก

7.1.2 สภาพแปรรูป เป็นสารสกัด ทั้งสารสกัดหยาบ และสารสกัดบริสุทธิ์ ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และยา โดยการสกัดด้วยเอธานอล หรือน้ำ และต้องให้ได้สารสกัดตามข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพรบัวบก

7.2 การเก็บรักษา :

- ควรเก็บรักษาวัตถุดิบให้สะอาดตามหลักสุขอนามัย และเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์

- นำเข้าจัดเก็บที่ห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำให้คุณภาพไพลลดลง

- การเก็บใบสด ควรใส่ตู้เย็น หรือในที่ที่ให้ความเย็นและควบคุมอุณหภูมิได้อย่างสม่ำเสมอ การทิ้งบัวบกสดให้แห้งเหี่ยวจะทำให้สารสำคัญบางชนิด เช่น ascorbate มีปริมาณลดลงตามระยะเวลา โดยจากรายงานพบว่าใน 4 ชั่วโมง ปริมาณลดลง 30% ถ้าปล่อยไว้นาน 12 ชั่วโมง จะลดลง 58% และเมื่อนาน 24 ชั่วโมง ลดลง 80%

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของไพล ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

สรุปข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพรบัวบก

รายการ

ไม่มากกว่า

(โดยน้ำหนัก)

ไม่น้อยกว่า

(โดยน้ำหนัก)

ปริมาณสิ่งแปลกปลอม

2.0%

-

ปริมาณความชื้น

14.0%

-

ปริมาณเถ้ารวม

17.0%

-

ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด

7.0%

-

ปริมาณสารสกัดด้วยเอธานอล

-

15.0%

ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ

-

24.0%

 

ที่มา สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news