banner ad

GAP เถาวัลย์เปรียง

| November 21, 2013

GAP เถาวัลย์เปรียง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Derriss candens (Roxb.) Benth.

ชื่อสามัญ -

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE

ชื่อท้องถิ่น ทางอีสานเรียกว่า เครือตาป่า เครือตับปลา เครือเขาหนัง เถาวัลย์เปรียงแดง เถาวัลยืเปรียงขาว เถาตาปลา พานไสน นครศรีธรรมราชเรียกว่า ย่านเหมาะ มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า จิวเวลไวน์ (Jewel Vine)

1.ลักษณะของพืช

เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ เลื้อยได้ไกลถึง 20 เมตรมีกิ่งเหนียว ทนทาน กิ่งแตกเถายืดยาวอย่างรวดเร็ว ลักษณะชอบเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาใหญ่ มักบิด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน แผ่นใบย่อยรูปไข่ ปลายแหลมหรือเว้าตื้น โคนมน ขอบเรียบ ดอกเป็นช่อดอก ออกตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง สีขาวอมชมพูอ่อนหรืออมสีม่วงอ่อน ดอกรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายหยักซี่ฟัน ผลเป็นฝักแบน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบแคบ มีปีกแคบด้านเดี่ยว เมล็ดรูปไตมีขนาดเล็ก จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-4 เมลด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือแยกไหลใต้ดิน

2.สภาพพื้นที่ปลูก

- เจริญเติบโตได้ทั่วไปทุกภาค ในสภาพอากาศร้อนชื้น

- สามารถทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ในสภาพแห้งแล้ง ดอกจะมีขนาดเล็ก

- ชอบขึ้นในสภาพป่าร้อนชื้น และเกาะเกี่ยวกับไม้อื่น

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกเมล็ดหรือแยกไหลที่สมบูรณ์ ปราศจากโรค

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์พื้นเมืองในท้องถิ่น

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ไถพรวนดินตากทิ้งไว้ประมาณ 7 วันก่อนปลูก

4.2 การเตรียมพันธุ์ : -

4.3 วิธีการปลูก : นำไหลหรือเมล็ดลงปลูกในพื้นที่ที่มีการเตรียมดินไว้แล้ว ควรหาไม้มาปักเป็นหลัก หรือปลูกไว้ใกล้ไม้ใหญ่ เพื่อสำหรับให้เลื้อยพันได้ กิ่งที่ตัดนำไปทำยาสามารถที่แตกเป็นกิ่งใหม่ และเจริญเป็นเถาเลื้อยได้อย่างรวดเร็ว

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ ในระยะแรก ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

5.2 การใส่ปุ๋ย ควรตรวจธาตุอาหารในดินก่อนใส่ปุ๋ย เพราะถ้าดินอุดมสมบูรณ์ดีก็ไม่จำเป็นต้องใส่ และเถาวัลย์เปรียงจะเจริญร่วมกับพืชอื่นไต่ขึ้นไป ใช้เป็นพืชอิงอาศัย อยู่ในสภาพธรรมชาติ

5.3 การกำจัดวัชพืช หมั่นดูแลไม่ให้วัชพืชขึ้นมารบกวนบริเวณแปลงปลูกเถาวัลย์เปรียง
5.4 โรคและแมลง ไม่มีโรคและแมลงที่สำคัญของเถาวัลย์เปรียง

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : ใช้เถาวัลย์ขนาดใหญ่ อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งเถาวัลย์ประมาณ 1 นิ้ว

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : ตัดเอากิ่งเถาวัลย์ที่แตกแขนงออกมา นำมาทำเป็นยา

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว นำเถาที่เก็บเกี่ยวมาล้างให้สะอาด และหั่นเป็นแว่นๆ นำไปตาก หรืออบที่อุณหภูมิ 55-60 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง จนกว่าจะแห้ง

7.2 การเก็บรักษา

- นำเถาวัลย์เปรียงที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส และปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด

- คอยหมั่นดูแลและระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำให้คุณภาพเถาวัลย์เปรียงลดลง

- เถาวัลย์เปรียงแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีความชื้น และโรคแมลงเข้าทำลาย

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของเถาวัลย์เปรียง ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news