GAP ตะไคร้หอม
GAP ตะไคร้หอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon nardus Rendle
ชื่อสามัญ Citronella Grass
ชื่อวงศ์ GRAMINEAE
ชื่ออื่น จะไคมะขูด ตะไครมะขูด (ภาคเหนือ) ตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช)
1. ลักษณะของพืช
เป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี มีเหง้า ลำต้นตั้งตรง สูง2 เมตร ออกเป็นกอ ใบเกลี้ยง รูปยาวแคบ กว้าง 5-20 มิลลิเมตร ยาวได้ถึง1 เมตรมีกลิ่นหอม ตรงรอยต่อระหว่างใบกับกาบ มีแผ่นรูปไข่ปลายตัดยื่นออกมา ยาวประมาณ2 มม.มีขนกาบหุ้มติดทน กาบล่างสุดเกยซ้อนกัน เมื่อแห้งจะม้วนขึ้น ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร มีใบประดับ ลักษณะคล้ายกาบ ยาวประมาณ 25 มิลลิเมตร รองรับอยู่ ช่อดอกแยกเป็นหลายแขนง แต่ละแขนงมีช่อย่อย 4-5 ช่อ ผลแห้งไม่แตก ตะไคร้หอมมีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายกับตะไคร้กอ ต่างกันที่กลิ่น ต้นและใบยาวกว่าตะไคร้กอมาก แผ่นใบกว้างยาวและนิ่มกว่าเล็กน้อย
2. สภาพพื้นที่ปลูก
- สามารถปลูกขึ้นได้ดีกับดินทุกชนิด
โดยเฉพาะดินร่วนปนทราย
- เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และไม่ชอบพื้นที่ที่น้ำท่วมขัง
- เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่โล่งแจ้ง รับแสงแดดตลอดทั้งวัน
3. พันธุ์
3.1 การเลือกพันธุ์
1. เลือกพันธุ์ที่ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันหอมระเหยสูง
2. เป็นพันธุ์ที่ตรงต่อความต้องการปลูก
3. เลือกท่อนพันธุ์ที่ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย
3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตเชิงการค้า ตะไคร้หอมที่นำมาผลิตน้ำมันหอมระเหยมี 2 ชนิด คือ พันธุ์ลังกา (Lenabuta) และพันธุ์ชวา (Mahapeniri) พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่ จะเป็นพันธุ์ชวา ซึ่งมีช่อดอกโน้มยาวลงมา
4. การปลูก
4.1 การเตรียมดิน : กำจัดวัชพืช และเศษวัสดุ ไถพรวน ตากดินประมาณ 7-15 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ที่ย่อยสลายดีแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 1 ตันต่อไร่ และใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า 5.5-6.5
4.2 การเตรียมพันธุ์ เตรียมพันธุ์โดยการตัดแต่งให้มีข้อเหลืออยู่ 2-3 ข้อ และตัดปลายใบออก
4.3 วิธีการปลูก นำท่อนพันธุ์ไปปักชำในแปลงปลูก โดยใช้ระยะ 1-1.25 เมตร และควรปลูกในต้นฤดูฝน
5. การดูแลรักษา
5.1 การให้น้ำ หลังจากปลูกควรให้น้ำทุกวันจนกว่า ตะไคร้หอมจะแตกกอดี จึงลดการให้น้ำได้
5.2 การใส่ปุ๋ย ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ผสมดินรองก้นหลุมก่อนปลูกปริมาณ 125 กรัมต่อต้น เมื่อตะไคร้หอมอายุ 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณ 10-30 กรัมต่อกระถาง ถ้าใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกควรใส่ปริมาณ 500 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ระหว่างแถว
5.3 การกำจัดวัชพืช หมั่นดูแลทำความสะอาดบริเวณที่ปลูก ไม่ให้วัชพืชอื่นขึ้นมารบกวน
5.4 โรคและแมลงที่สำคัญ เนื่องจากตะไคร้หอมเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการไล่แมลงได้ดี จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงมารบกวน แต่บางครั้งอาจจะพบเพลี๊ยแป้งเข้าทำลาย
การป้องกันกำจัดเพลี๊ยแป้ง เมื่อพบการระบาดใช้ Petroleum oil พ่น สามารถกำจัดแมลงประเภทปากดูด เช่น เพลี้ยแป้ง และ เพลี้ยหอย ซึ่งมีความปลอดภัยต่อคน และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าพบแมลงเข้าทำลายน้อยให้เก็บส่วนที่เป็นโรค และแมลง นำไปทำลายทิ้ง
6. การเก็บเกี่ยว
6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ตะไคร้จะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่ออายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งตะไคร้หอมจะมีอายุประมาณ 2 ปี ปีแรกจะสามารถเก็บเกี่ยวตะไคร้หอมได้ 1 ครั้ง และปีที่สองจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ 3 ครั้ง โดยผลผลิต (ใบสด) ที่เก็บเกี่ยวได้ ประมาณ 5 6 ตันต่อไร่ต่อปี
6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวตะไคร้หอมจะตัดเอาส่วนใบ ซึ่งอยู่เหนือพื้นดิน 25-30 เซนติเมตร โดยเก็บเกี่ยวทุกๆ 3 เดือน ผึ่งใบที่ตัด 1-2 วัน
7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว ตะไคร้หอมสามารถแปรรูปได้หลายแบบได้แก่
1. การทำตะไคร้หอมแห้ง นำต้นตะไคร้หอมที่เก็บเกี่ยวได้มาลอกกาบที่เสียออก ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก อบที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียล นาน 48 ชั่วโมงพลิกกลับบ่อยๆ จะช่วยให้แห้งเร็วขึ้น จนกระทั่งตะไคร้หอมแห้ง หรือตากแดด 3-4 วัน (ควรกลับวัตถุดิบทุก 3-4 ชั่วโมงต่อวัน) จนแห้ง
2. การทำสารป้องกันกำจัดแมลง โดยนำตะไคร้หอมทั้งต้นมาบดให้ละเอียด ประมาณ 400 กรัม ผสมน้ำ 8 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน นำน้ำที่ได้มาฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน หรือนำใช้ใบสดผสมกับเหง้าข่าและใบสะเดา อัตรา 1:1:1 แช่น้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ 2 วัน เอาน้ำที่ได้ 10 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร
3. น้ำมันสกัดตะไคร้หอม ใช้เครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหย เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น สเปรย์ไล่ยุง เป็นต้น
7.2 การเก็บรักษา
- ควรเก็บในที่เย็น สะอาด ไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทได้ดี และไม่ถูกแสงแดดหรือเก็บในห้องเย็น
- เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น ยวดแก้วสีชามีฝาปิดสนิท ถุงพลาสติกหรือถุงฟลอยด์
- ไม่ควรเก็บไว้นาน โดยทั่วไป สมุนไพรไม่ควรเก็บนานเกินกว่า 1 ปี เพราะจะสูญเสียสารสำคัญ
- การเก็บรักษาควรระบุฉลากชนิดสมุนไพร รวมทั้งวันเก็บชัดเจน เพื่อป้องกันนำไปใช้ผิด
8. สุขลักษณะและความสะอาด
- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต
- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี
- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
9. การบันทึกข้อมูล
ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของตะไคร้หอม ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่
1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน
3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา
Category: GAP