banner ad

GAP ตะไคร้

| November 8, 2013

GAP ตะไคร้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus Stapf

ชื่อสามัญ Lemon grass, Lapine

ชื่อวงศ์ GRAMINEAE (POACEAE)

ชื่ออื่นๆ จะไคร้ ไคร้ คาหอม หัวไคลิง ลิงไค เยี่ยวเฮื้อ เชิด

1.ลักษณะของพืช

เป็นพืชตระกูลหญ้า ตะไคร้เป็นพืชที่เจริญเติบโตง่าย อาจมีทรงพุ่มสูงถึง 1 เมตร มีลำต้นที่แท้จริงประมาณ 4-7 เซนติเมตร ลำของต้นจะถูกห่อหุ้มไปด้วยกาบใบโดยรอบ ใบยาวแคบเส้นใบขนานกับก้านใบ ใบของตะไคร้อุดมไปด้วยน้ำมันหอมระเหย ที่นิยมนำมาปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันโดยทั่วไป

2.สภาพพื้นที่ปลูก

- พื้นที่ที่มีความลาดเอียงต่ำ พื้นที่ราบ อยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาด

- ปลูกได้ทั้งพื้นที่โล่งแจ้งแต่ดินต้องชื้น

- ปลูกได้ทั่วไป แต่เจริญเติบโตได้ดี ในดินร่วนปนทราย

- ไม่เป็นแหล่งที่น้ำท่วมขัง

3.พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์

1. เลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง

2. เป็นพันธุ์ที่ถูกต้องตามความต้องการปลูก

3. เลือกท่อนพันธุ์ที่ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตเชิงการค้า ได้แก่ ตะไคร้ม่วงหรือตะไคร้แกง และตะไคร้ขาวหรือตะไคร้ยำ

4. การปลูก

4.1การเตรียมดิน : ไถดินตากทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วไถพรวนยกร่อง ปล่อยน้ำไปตามร่องทิ้งไว้ 2-3 วันให้ดินชื้น ไม่แห้งหรือเฉะเกินไปเพื่อให้สะดวกต่อการปักท่อนพันธุ์

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ทำการถอนต้นพันธุ์จากต้นแม่อายุ 8-10 เดือน มาปลูก ตัดใบออกเหลือแต่ต้นยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร นำไปปลูกได้ทันทีหรือแช่น้ำไว้ประมาณ 5-7 วันเพื่อให้รากงอก รากที่แก่เต็มที่จะมีสีเหลืองเข้ม

4.3 วิธีการปลูก : ปักต้นตะไคร้ลงดินลึกประมาณ 1-2 นิ้วโดยปักหลุมละ 3 ต้นให้ต้นตะไคร้เอียง 45 องศาไปด้านใดด้านหนึ่ง ใช้ระยะปลูก 50 เซนติเมตร หรือ 20×20 เซนติเมตร พื้นที่ปลูก1 ไร่จะปลูกต้นตะไคร้ได้ประมาณ 10,000-15,000 ต้น ถ้าคำนวณเป็นน้ำหนักจะใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ : หลังจากปลูกตะไคร้ไปแล้วเกษตรกรจะต้องให้น้ำทุก 5-7 วัน โดยการปล่อยไปตามร่องหรือการรดน้ำทางสายยาง

5.2 การใส่ปุ๋ย : ต้นตะไคร้จะเริ่มตั้งตัวได้เมื่อต้นมีอายุได้เฉลี่ย 7-10 วันหลังปลูก ให้หว่านปุ๋ย
ยูเรีย (สูตร 46-0-0) อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ สลับกับสูตรเสมอ 15-15-15 หว่านเป็นประจำทุกเดือน ถ้าต้องการปลูกพืชอินทรีย์ ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก รองก้นหลุมประมาณ 125 กรัมต่อต้น หรือระหว่างแถว 300 กิโลกรัมต่อไร่

5.3 การกำจัดวัชพืช :

- คราดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างการเตรียมแปลงปลูก

- คลุมดินหลังปลูกจะช่วยรักษาความชื้นของดิน

- ขุดทำลายหัวใต้ดินของวัชพืชบางชนิดทุกครั้ง

5.4 โรคและแมลงที่สำคัญ : สำหรับตะไคร้มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อย พบเพียงหนอนเจาะลำต้นแต่ทำลายไม่มากถ้ามีการจัดการที่ดี

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 4-5 เดือนแต่ถ้าบำรุงรักษาดี 4 เดือนก็เก็บได้แล้ว การปลูก 1 ครั้งเก็บได้ 3 รอบ

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : วิธีการเก็บใช้มีดตัดและผลผลิตทำการลอกกาบและตัดแต่ง ตัดใบ ตัดรากทิ้งล้างน้ำให้สะอาด มัดเป็นกำละ 10 กิโลกรัม

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : นำตะไคร้ที่เก็บเกี่ยวมาคัดแยกสิ่งปลอมปนออก เช่น หิน ดิน ทราย ส่วนของพืชที่ปะปน หรือสมุนไพรอื่นที่คล้ายคลึงกันปะปนมา จากนั้นทำการตัดแต่ง เช่น ตัดรากฝอย ปอกเปลือกและหั่นซอยเป็นชิ้นเพื่อให้แห้งเร็วมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วต้องคัดเลือกส่วนที่เน่าเสีย มีโรคแมลงออก ล้างทำความสะอาด ชำระสิ่งสกปรกและสิ่งที่ติดมากับตะไคร้ขณะทำการเก็บเกี่ยวออกให้หมด เมื่อทำความสะอาดแล้วก็นำมาการตากแห้ง โดยตากในภาชนะโปร่ง สะอาด ป้องกันฝุ่นละอองและตากในที่ร่ม การตากแดดควรมีลานตากยกจากพื้นดินสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร มีหลังคาพลาสติกคลุม ไม่ตากแดดโดยตรง

7.2 การเก็บรักษา : เมื่อตะไคร้แห้ง และมีความชื้นที่เหมาะสมแล้วนำมาเก็บรักษาในสภาพที่เหมาะสมคือ

- ควรเก็บในที่สะอาด เย็น ไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทได้ดี และไม่ถูกแสงแดด หรือเก็บในห้องเย็น

- เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น ขวดแก้วสีชามีฝาปิดสนิท ถุงพลาสติกหรือถุงฟลอยด์

- ไม่ควรเก็บไว้นาน โดยทั่วไป สมุนไพรไม่ควรเก็บนานเกินกว่า 1 ปี เพราะจะเสียสารสำคัญที่ต้องการไป

- การเก็บรักษาควรระบุฉลากชนิดสมุนไพร รวมทั้งวันเก็บชัดเจน เพื่อป้องกันนำไปใช้ผิด

- ตะไคร้แห้ง ที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือน ควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้มีความชื้น และมีแมลงรบกวน

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของตะไคร้ ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news