banner ad

GAP ดีปลี

| November 7, 2013

GAP ดีปลี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper chaba Hunt. Piper retrofractum Vahl.

ชื่อสามัญ Indian Long Pepper

ชื่อวงศ์ PIPERACEAE

ชื่ออื่นๆ ดีปลีเชือก (ใต้) ประดงข้อ ปานนุ พิษพญาไฟ

1. ลักษณะของพืช

ไม้ล้มลุก อายุหลายปี เถา ไม่มีขน เมื่อแห้งเป็นลายละเอียด บ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน รูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว เนื้อค่อนข้างมาก มันคล้ายหนัง เส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น ตอนบนเส้นใบออกแบบขนนก ดอก ออกตรงข้ามใบ เป็นช่อดอกชนิดดอกย่อยไม่มีก้าน ดอกแยกเพศ อยู่คนละต้น ผลอัดกันแน่นเป็นช่อดอก

2. สภาพพื้นที่ปลูก

-เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนไม่มีน้ำขัง มีอินทรีย์วัตถุสูง

-ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกต้นพันธุ์ที่อายุ 1-2 ปี ที่สมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคและแมลงทำลาย

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์พื้นเมือง

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : กำจัดวัชพืช และเศษวัสดุ ไถพรวน ตากดินประมาณ 7-15 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก ที่ย่อยสลายดีแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 2 ตัน/ไร่ และควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า 5.5-6.5

4.2 การเตรียมพันธุ์ : นำต้นพันธุ์ออกจากค้าง ต้องรดน้ำที่ค้างให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ 40-60 นาที จึงค่อยๆ แกะต้นพันธุ์ออกจากค้าง นำมาตัดเป็นท่อนๆ ท่อนละ 5 ข้อ นำยอดพันธุ์ไปปักชำในกระบะ ประมาณ 60 วัน ดีปลีที่ปักชำจะออกรากและแตกยอดใหม่ ย้ายลงปลูกในถุงพลาสติก

4.3 วิธีการปลูก : เตรียมค้างไม้แก่นหรือเสาซีเมนต์ ขนาดประมาณ 4×4 นิ้ว ฝังลงดินให้สูงพ้นดินประมาณ 3-3.5 เมตร ระยะปลูก 1.20×1.20 เมตร ขุดหลุมขนาด 50x50x50 ซม. ปลูกไม้ค้างยืนต้นหรือปักค้าง ดินที่ใส่หลุมควรเป็นหน้าดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราส่วน ปุ๋ย : ดิน ประมาณ 1:5 ใช้ยอดพันธุ์ดีปลีค้างละ 2 ยอด ให้อยู่ตรงข้ามกันหรือปลูกด้านใดด้านหนึ่งหลุมละ 2 ยอด เมื่อปลูกเสร็จบังแสงแดดด้วยทางมะพร้าว รดน้ำให้ชุ่มสม่ำเสมอทุกวัน มัดยอดให้ติดกับค้างเมื่อยอดดีปลีเจริญขึ้นไปจนกว่าดีปลีจะขึ้นสุดค้าง

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ ควรให้น้ำแบบน้ำหยด ประหยัดทั้งน้ำและแรงงานตลอดจนเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานหรือการให้น้ำแบบหัวฉีด

5.2 การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลวัว มูลไก่ และปุ๋ยหมัก ปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของต้นดีปลี และเพิ่มผลผลิต

5.3 การกำจัดวัชพืช ใช้แรงงานคนถอนวัชพืชสม่ำเสมอเพราะว่าดีปลีเป็นพืชที่ค่อนข้างอ่อนแอ
5.4 โรคและแมลง พบโรคแอนแทรคโนส, โรคใบจุด แมลงจำพวกเพลี้ยแป้ง และด้วงงวง

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเกี่ยวเมื่อผลเริ่มเป็นสีน้ำตาล

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : เก็บเกี่ยวผลเมื่อแก่จัดแต่ยังไม่สุก โดยการใช้กรรไกรตัดผลออกจากต้น ใส่ตะกร้าที่สะอาด

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว นำผลผลิตที่เก็บได้ล้างน้ำ ผึ่งให้หมาด เด็ดขั้วผลออก อบแห้งด้วยตู้อบอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ให้มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 11

7.2 การเก็บรักษา นำดีปลีที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส 2 ชั้นปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่สะอาด เย็นไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำลาย ทำให้คุณภาพลดลง มะแว้งเครือแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้มีความชื้น และมีแมลงรบกวน

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของดีปลี ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news