banner ad

GAP ชุมเห็ดเทศ

| November 7, 2013

GAP ชุมเห็ดเทศ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb

ชื่อพ้อง Cassia alata L.,Cassia bracteata L.f, Herpetica alata (L.) Raf.

ชื่อสามัญ Ringworm Bush

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE

ชื่ออื่น ขี้คาก ลับมืนหลวง หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ) ชุมเห็ดเทศใหญ่ (ภาคกลาง); ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

1. ลักษณะของพืช

เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 1.5-3 เมตร ลำต้นแข็ง ใบประกอบยาว 30-60 เซนติเมตร มีใบย่อย 5-12 คู่ ใบย่อยลักษณะรูปไข่ปลายมน ยาว 5-15 เซนติเมตร กว้าง 5-7 เซนติเมตร ฐานในมนไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ก้านใบย่อยสั้นมาก ดอกออกเป็นช่อจากปลายกิ่ง ยาว 15-30 เซนติเมตร ดอกย่อยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านดอกสั้น ใบประดับเป็นแผ่นบางๆ กลีบเลี้ยงสีเขียวปลายแหลมมี 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง ปลายมนมี 5 กลีบ ลายเส้นที่กลีบดอกเห็นได้ชัด เกสรตัวผู้ไม่เท่ากัน เกสรตัวเมียมี 1 อัน ผลเป็นฝักไม่มีขน กว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 10-12 เซนติเมตร มีปีก 4 ปีก ตามความยาวของฝัก ฝักแก่สีดำ แตกตามยาวแนวปีกอันหนึ่ง ฝักหนึ่งมีเมล็ด 50-60 เม็ด เมล็ดแบนรูปสามเหลี่ยม ผิวนอกขรุขระสีดำ

 

2. สภาพพื้นที่ปลูก

- พบกระจายทั่วไปในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน และร้อนชื้น

- ขึ้นบนที่ราบลุ่ม จนถึงพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 2,100 เมตร

- ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกเฉลี่ย 600-4,300 มิลลิเมตรต่อปี

- อุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ 15-30 องศาเซลเซียสต่อปี

- เจริญเติบโตได้บนดินทั่วไปเกือบทุกชนิดที่มีความชื้นในดินดี ทนต่อน้ำท่วมขัง

- ชอบขึ้นในที่ที่ชุ่มชื้น ริมน้ำต่างๆ แต่ไม่ทนต่อสภาพแล้งจัด

- เจริญได้ในที่โล่งแจ้ง

3. พันธุ์
3.1 การเลือกพันธุ์

1. เลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง

2. เป็นพันธุ์ที่ถูกต้องตรงตามความต้องการของตลาด

3. เลือกเมล็ดและท่อนพันธุ์ ที่ไม่เล็กลีบ ไม่มีเชื้อโรค และแมลงเข้าทำลาย

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตเชิงการค้า ได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : กำจัดวัชพืช และเศษวัสดุ ไถพรวน ตากดินประมาณ 7-15 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก ที่ย่อยสลายดีแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 2 ตัน/ไร่ และควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า 5.5-6.5

4.2 การเตรียมพันธุ์: โดยใช้เมล็ดหรือกิ่งปักชำ แต่นิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

- การคัดเลือกเมล็ด ใช้เมล็ดที่แก่จัด และฝักควรเก็บก่อนที่ฝักจะแตกอ้า หรือหลุดร่วงลงพื้นดิน

- การแก้การพักตัวของเมล็ด นำเมล็ดพันธุ์มาแช่น้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน หรือแช่น้ำในร้อน 80-100 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที จากนั้นคลุกกับทราย อัตรา 1:1-2 และหุ้มด้วยผ้าขาวบาง รดน้ำให้ชุ่ม เก็บในที่ร่ม 1-2 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก

4.3 วิธีการปลูก:

- การปลูกแบบหยอดหลุมด้วยเมล็ด นำเมล็ดที่ผ่านการกระตุ้นความงอกแล้ว หยอดหลุมละ 5-6 เมล็ด ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว ประมาณ 3×4 เมตร กลบดินหนา 1 เซนติเมตร นำฟางหรือหญ้าแห้งคลุมบางๆ บนหลุมเพื่อช่วยพรางแสง ลดการชะล้างของน้ำ และช่วยควบคุมความชื้นในดินไม่ให้น้ำระเหยเร็ว

- การปลูกแบบย้ายกล้า นำกล้าที่เตรียมไว้อายุประมาณ 30 วัน มีใบจริงประมาณ 5-7 ใบ มาปลูกลงแปลงหลุมละ 1 ต้น กลบดินที่โคนให้แน่น รดน้ำทันที ปักค้ำยันและผูกมัดต้นกล้า เพื่อป้องกันลมพัดโยกหรือต้นเอนล้ม คลุมโคนต้นด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง

4.4 การตัดแต่งกิ่ง ชุมเห็ดเทศเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน ออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ และกิ่งจะแห้งเหี่ยวในช่วงหน้าแล้งประมาณเดือนมกราคมเป็นต้นไป เมื่อกิ่งแห้งตาย ควรตัดแต่งกิ่งออก เพื่อให้แตกกิ่งใหม่ โดยเฉพาะการปลูกเพื่อเก็บผลผลิต ควรตัดกิ่งให้อยู่ในระดับเหนือพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ : ระยะแรก ควรรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง จนกว่ากล้าจะตั้งตัวได้ เมื่ออายุ 2 เดือนไปแล้ว อาจลดการให้น้ำได้ตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับฤดูกาลและความชื้นในดิน

5.2 การใส่ปุ๋ย : เมื่ออายุ 1-2 เดือน ควรใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 , 30-20-10 เดือนละ 1 ครั้ง อัตรา 30 กรัมต่อต้น และเมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15, 30-20-10 อัตรา 200-300 กรัมต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น ทุก 3 เดือน

- ช่วงการให้ปุ๋ย งดการใส่ปุ๋ยช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่พืชพักตัว โดยใส่ครั้งต่อไป เมื่อทำการตัดแต่งกิ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเข้าฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม

- วิธีการใส่ปุ๋ย ใส่รอบๆ โคนต้นในแนวรัศมีทรงพุ่ม พรวนดินกลบ และให้น้ำทันทีหลังการให้ปุ๋ย

5.3 การกำจัดวัชพืช :

- คราดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูก

- ตากดิน เพื่อทำลายเมล็ดวัชพืช

- การคลุมดินหลังปลูกจะช่วยรักษาความชื้นของดินและบังแสงสว่างไม่ให้วัชพืชงอกหรืองอกได้ช้า หรือใช้พลาสติกทึบแสงคลุมแปลงปลูก

5.4 โรคและแมลงที่สำคัญ : โรคที่พบมากในชุมเห็ดเทศ ได้แก่ โรคใบจุด ใบเป็นจุดสีน้ำตาลดำ โรคราแป้ง มีผงสีขาวคล้ายผงแป้งเกาะอยู่บนผิวใบ โรคราดำ จะมีคราบสีดำคล้ายเขม่า การป้องกันกำจัด คือ ตัดทำลายส่วนที่เป็นเชื้อโรคโดยวิธีการเผาทำลาย แมลงศัตรูพืชที่พบในชุมเห็ดเทศ ได้แก่ หนอนผีเสื้อกินใบ เพลี้ยอ่อนและไรแดง ซึ่งการป้องกันกำจัดในเบื้องต้นควรตัดส่วนที่เป็นโรคและแมลงเข้าทำลายทิ้งทันที

6.การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : ต้นชุมเห็ดเทศที่มีอายุ 6-7 เดือนจะให้ใบเพสลาดที่มีสารสำคัญสูง การเก็บเกี่ยวจะเก็บในช่วงฤดูฝน ใบจะมีมาก ซึ่งจะเก็บเกี่ยวใบอายุ 3 เดือนขึ้นไป และเก็บได้เรื่อยมาจนถึงฤดูหนาว และใบจะแห้งเหี่ยวในหน้าแล้ง ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ แต่การตัดแต่งกิ่งแห้งทิ้ง และให้น้ำอย่างเหมาะสม ต้นจะแตกกิ่งใหม่ และสามารถให้ผลผลิตใบเพสาดใหม่ได้ใน 2-3 เดือน

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : เลือกเก็บใบที่สมบูรณ์เต็มที่จากใบล่างๆ ก่อน ที่ไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป หรือใบเพสลาด ส่วนใบบนที่อ่อนกว่าเก็บเกี่ยวในเดือนต่อไป และใบที่เก็บจากต้นเดิมควรห่างกันไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน ดอกของชุมเห็ดเทศนั้นจะเลือกเก็บเฉพาะดอกที่เจริญเต็มที่ จากนั้นนำส่วนที่เก็บได้มาทำความสะอาด

วิธีเก็บควรใช้กรรไกรตัดทั้งใบประกอบ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และไม่ให้บอบช้ำ และไม่ควรเก็บหลังช่วงดอกบานสะพรั่ง

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : การทำชุมเห็ดเทศแห้ง นำชุมเห็ดเทศทั้งก้านและใบประกอบล้างให้สะอาด และมัดรวมกันเป็นกำห้อยแขวนไว้ให้สะเด็ดน้ำ ผึ่งให้ใบแห้ง แล้วนำใบมาตากแดดหรืออบที่อุณหภูมิ 50 องศา-เซลเซียส ใน 8 ชั่วโมงแรก ต่อไปอบที่อุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียสจนกว่าจะแห้งสนิท

7.2 การเก็บรักษา : นำชุมเห็ดเทศที่ผ่านการแปรรูปแล้วบรรจุในภาชนะที่สะอาด และปิดฝาให้สนิท ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 ปี เพราะปริมาณสารสำคัญจะลดลงประมาณ 20%

7.3 การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ : เก็บเมล็ดที่แก่จัด จากฝักที่เก็บก่อนจะแตกอ้า หรือเมล็ดหลุดร่วงลงพื้นดิน เพื่อให้ได้เมล็ดที่สะอาดเก็บไว้ทำพันธุ์ และนำมาคัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ ไม่เล็กลีบ และผึ่งให้แห้งก่อนนำไปเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเย็น

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของชุมเห็ดเทศ ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news