banner ad

GAP เจตมูลเพลิงแดง

| November 7, 2013

GAP เจตมูลเพลิงแดง

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago indica L.

ชื่อสามัญ Rose-Coloured Leadeort

ชื่อวงศ์ PLUMBAGINACEAE

ชื่อท้องถิ่น คุ้ยวู่ ปิดปิวแดง ตั้งชู้โว้ ไฟใต้ดิน อุบ๊ะกูจ้ะ

1.ลักษณะของพืช

ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 0.5-2 เมตรกิ่งก้านมักทอดยาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ ยาว 3-13 ซม. โคนใบมนหรือกลม ปลายใบแหลม ใบบาง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ยาว 20-90 ซม. ก้านช่อดอกยาว 20-90 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีดอกจำนวนมาก ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.3 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 0.8-0.9 ซม. มีต่อมทั่วไป ดอกสีแดงหรือม่วง หลอดกลีบดอกยาว 2-2.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 มม.รังไข่รูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีหลายขนาด มีขนยาวที่โคน

2. สภาพพื้นที่

พื้นที่ที่มีความลาดเอียงต่ำ ที่ราบ อยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาด

- ปลูกได้ทั้งพื้นที่โล่งแจ้ง แต่ดินต้องชื้น

- ไม่เป็นแหล่งที่มีน้ำท่วมขัง

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกท่อนพันธุ์จากแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ ปลอดโรคและแมลงทำลาย

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์พื้นเมือง ในท้องถิ่น

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินผสม เพื่อใช้ปลูกในถังซีเมนต์ หรือถังพลาสติก ส่วนการปลูกในแปลง ให้ ไถพรวนดิน กำจัดวัชพืช และตากดินไว้ประมาณ 7-15 วัน

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ใช้เมล็ด หรือกิ่งปักชำ สำหรับการปลูกเป็นจำนวนมากควรใช้กิ่งปักชำ ที่เพาะชำในถุงพลาสติก ประมาณ 20-25 วัน จึงนำมาปลูกในแปลง

4.3 วิธีการปลูก : การปลูกเจตมูลเพลิงแดง เป็นพืชที่ใช้รากมาทำยา จึงต้องเตรียมการปลูกลงในถังซีเมนต์ สูง 50 เซนติเมตร ซ้อนกัน 2 ชั้น หรือถังพลาสติก ลึกประมาณ 1 เมตร และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 1 เมตร ปลูกประมาณ 10 ต้น

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ ระยะแรก 1-2 เดือนให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นให้น้ำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

5.2 การใส่ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ในช่วงการเตรียมแปลงปลูก หว่านปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 250 กรัมต่อต้น

5.3 การกำจัดวัชพืช คอยกำจัดวัชพืชไม่ให้ขึ้นมารบกวนแปลงปลูก

5.4 โรคและแมลง

โรคที่สำคัญ ไม่พบโรคที่สำคัญของเจตมูลเพลิงแดง

แมลงศัตรูที่สำคัญ คือ เพลี๊ยไฟ

การป้องกันกำจัด ใช้น้ำฉีดไล่แมลง เพราะเพลี้ยไฟไม่ชอบน้ำที่พ่นใส่ หรือใช้สารป้องกันกำจัดแมลงตามความจำเป็น และเหมาะสม ไม่มีสารพิษตกค้าง เช่น สะเดา เป็นต้น

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 1 ปี ช่วงปลายฤดูแล้งประมาณเดือนเมษายน

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : โดยใช้วิธียกถังซีเมนต์ขึ้นจากกอของเจตมูลเพลิงแดง แล้วใช้เสียมค่อยๆ คุ้ยเอาเฉพาะรากของเจตมูลเพลิงแดง นำไปล้างในน้ำสะอาด (หรือใช้น้ำฉีด) จนเหลือแต่ราก

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : นำรากมาล้างให้สะอาด และผึ่งให้แห้ง แล้วจึงนำไปตากแห้งหรืออบให้แห้ง ด้วยอุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส ความชื้นไม่เกินร้อยละ 11 ซึ่งหลังจากทำให้แห้งรากของเจตมูลเพลิงแดงจะเสียน้ำหนักไม่มาก รากสดหนัก 1.5-2 กิโลกรัม เมื่อนำไปทำให้แห้งเหลือประมาณ 1 กิโลกรัม

7.2 การเก็บรักษา นำเจตมูลเพลิงแดงที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส 2 ชั้นปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่สะอาด เย็นไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำลาย ทำให้คุณภาพลดลง เจตมูลเพลิงแดงแห้งที่จัดเก็บไว้อายุเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้มีความชื้น และมีแมลงรบกวน

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของเจตมูลเพลิงแดง ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news