banner ad

GAP โคคลาน

| November 7, 2013

GAP โคคลาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Mallotus repandus (Willd.) Muell.Arg.

ชื่อพ้อง Mallotus scandens Muell. Arg.

ชื่อสามัญ -

ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE

ชื่ออื่น มะกายเครือ แนวน้ำ โพคาน มะปอบเครือ เยี่ยวแมว เยี่ยวแมวเถา กุระเปี้ยะ

1.ลักษณะของพืช

เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 3-6 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร ผิวใบมีขนหนาแน่น ทั้งสองด้าน ดอกช่อกระจุก ออกดอกที่ซอกใบและปลายกิ่งดอกย่อยหลายดอก แยกดอกอยู่คนละต้น ผลแห้ง ทรงกลม แตกตรงกลางพู

2. สภาพพื้นที่ปลูก

เป็นพืชที่คงทนสามารถปลูกได้ตามพื้นที่ป่าขึ้นได้ดีในดินที่มีลักษณะเหมือนดินบริเวณจอมปลวกหรือดินร่วนเจริญได้ดีในพื้นที่ราบตามทุ่งนาควรปลูกในพื้นที่ที่มีพืชพี่เลี้ยงหรือมีแดดร่มรำไรและมีที่ยึดเกาะให้สามารถเจริญเติบโตได้

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : ชาวบ้านนิยมปลูกโคคลานตัวเมีย มีลักษณะใบใหญ่กว่าโคคลานตัวผู้

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ไถพรวนดินตากทิ้งไว้ประมาณ 7 วันก่อนปลูก ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัม ต่อ ไร่

4.2 การเตรียมพันธุ์ : มี 2 แบบ

1. การปักชำ ได้ผลดีร้อยละ 40 โดยใช้ลำต้นปักชำในดินร่วน ผสมแกลบเผาและปุ๋ยคอก และชำไว้ประมาณ 3 สัปดาห์

2. การเพาะเมล็ด โดยแช่เมล็ดในน้ำประมาณ 4-5 ชั่วโมงก่อนนำไปเพาะ ซึ่งเมล็ดจะเก็ยได้ในช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม แต่ข้อเสียของเมล็ดมักมีแมลงเข้ากัดกินทำลาย

4.3 วิธีการปลูก : ปลูกแบบไม่ต้องยกร่อง โดยขุดหลุมลึกประมาณ 15-30 เซนติเมตร แล้วนำกล้าที่เตรียมไว้ฝังลงในหลุมและกลบดินให้ส่วนของลำต้นโผล่พ้นดิน และมีการตกแต่งกิ่ง เพื่อให้ลำต้นใหญ่ และไม่ต้องการเลี้ยงใบ

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ พื้นที่ฝนตกเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องให้น้ำถ้าปลูกในฤดูฝน แต่ถ้าฝตทิ้งช่วง ให้น้ำบ้างเพื่อไม่ให้เกิดอาการเหี่ยวเฉา

5.2 การใส่ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ในช่วงการเตรียมแปลงปลูก หว่านปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 250 กรัมต่อต้น

5.3 การกำจัดวัชพืช กำจัดโดยใช้รถไถพรวนหรือแรงงานคน อาจจะทำประมาณ 2 ครั้ง

5.4 โรคและแมลง ไม่มีโรคและแมลงที่สำคัญของโคคลาน

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : อายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม มีอายุ 5-6 ปี

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : ใช้มีดตัดส่วนของลำต้น

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว ล้างทำความสะอาดและใช้แปรงขัดเพื่อเอาฝุ่นผงออก นำมาหั่นเป็นชิ้นและแตกแดดให้แห้ง ในช่วงฤดูร้อนประมาณ 3 วันให้มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 11

7.2 การเก็บรักษา นำโคคลานที่แห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส 2 ชั้นปิดปากให้สนิท เขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย นำเข้าจัดเก็บในห้องที่สะอาด เย็น ไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำลาย ทำให้คุณภาพลดลง

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของโคคลาน ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่างๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news