banner ad

GAP คำฝอย

| November 7, 2013

GAP คำฝอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Carthamus tinctorius Linn

ชื่อสามัญ Safflower, False Saffron, Saffaron Thistle

ชื่อวงศ์ COMPOSITAE (ASTERACEAE)

ชื่ออื่น คำ (ทั่วไป) ดอกคำ (ภาคเหนือ) คำยอง (ลำปาง)

 

1. ลักษณะของพืช

เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นพุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ลำต้นมีผิวเรียบแข็ง โคนต้นมีขนาดใหญ่แต่ปลายกิ่งเรียวเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ไม่มีก้านใบ ลักษณะใบคล้ายรูปขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นซี่คล้ายฟันเลื่อย ปลายใบเป็นหนามแหลม ใบมันหนาสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อ บริเวณปลายกิ่งประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกมีลักษณะคล้ายดอกบานชื่น กลีบดอกสีเหลืองเข้ม และจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง กลีบเลี้ยงหรือกลีบประดับเรียงตัวกันเป็นชั้นๆ รองรับดอก บริเวณปลายกลีบเลี้ยงมีหนามแหลมคม ผลคล้ายรูปไข่ มีสีขาว เมล็ดยาวรี มีเปลือกแข็งสีขาว เมื่อผลแก่แห้งเมล็ดจะไม่แตกกระจาย

2. สภาพพื้นที่ปลูก

- เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกอยู่ระหว่าง 5-15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เหมาะสมในระยะดอกอยู่ระหว่าง 24-32 องศาเซลเซียส

- ชอบดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีการระบายน้ำและอากาศดี คำฝอยจัดเป็นพืชทนดินเค็ม ความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 5-8

- เป็นพืชทนแล้ง ต้องการความชื้นเฉพาะในช่วงการงอก
และช่วงการออกดอกความชื้นสูงจะทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ทุก
ระยะการเจริญเติบโต

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ :

1. เลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง

2. เป็นพันธุ์ที่ตรงตามความต้องการปลูก

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตเชิงการค้า : คือ พันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์มีหนาม พันธุ์เคยู 4038 เป็นพันธุ์ไม่มีหนาม พันธุ์พานทอง

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : กำจัดวัชพืช และเศษวัสดุ ไถพรวน ตากดินประมาณ 7-15 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก ที่ย่อยสลายดีแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 2 ตัน/ไร่ และควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า 5.5-6.5

4.2 การเตรียมพันธุ์ : วิธีการปลูกคำฝอยนั้นต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และมีสีขาว

4.3 วิธีการปลูก : สำหรับการปลูกคำฝอยนั้นมี 2 วิธี ได้แก่

1. ปลูกแบบหยอดหลุม ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1.5-2 กิโลกรัมต่อไร่ โดยขุดหลุมลึก 3-5 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1-2 ต้น ระยะห่างระหว่าต้น 30-40 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 60-70 เซนติเมตร ถ้าต้องการให้ต้นคำฝอยแตกกิ่งเป็นพุ่ม ควรถอนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น และถ้าต้องการให้ต้นสูงเพื่อสะดวกในการจับตัดโคนต้น เพราะโคนต้นไม่มีหนาม ควรปลูกหลุมละ 2 ต้น

2. ปลูกแบบหว่านเมล็ดเป็นแถว ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 24-32 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเตรียมดินเป็นร่องเล็กๆ ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร เป็นแถวๆ เพื่อโรยเมล็ด ระยะระหว่างแถว 45-60 เซนติเมตร ช่วงการปลูกที่เหมาะสมคือ ฤดูแล้งที่มีความชื้นในดินพอควรซึ่งปลูกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ : ให้น้ำเพียง 2 ครั้งก็เพียงพอ โดยช่วงแรก ให้น้ำในช่วงก่อนทำการปลูก และครั้งที่ 2 ให้น้ำในช่วงต้นดอกคำฝอยกำลังออกดอกและติดเมล็ด

5.2 การใส่ปุ๋ย : เมื่อต้นอ่อนแตก 3 ใบแล้ว ให้ทำการดูแลและปลูกทดแทน ในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ดูแลต้นอ่อนอีกครั้ง ให้ในแต่ละหลุมเหลือต้นอ่อนไว้ 2-3 ต้น โดยปกติดูแลพรวนดินและถอนวัชพืช 3 ครั้ง ให้ปุ๋ย 3-4 ครั้ง 2 ครั้งแรกทำหลังจากดูแลจัดการต้นอ่อนแล้ว ครั้งที่ 3 ทำก่อนจะปิดร่อง พร้อมกับให้ปุ๋ยเพิ่ม ปุ๋ยที่ให้ส่วนใหญ่คือ น้ำปุ๋ยอุจจาระ แต่ในพื้นที่ที่มีปัญหา จะให้ปุ๋ยครั้งที่ 4 ช่วงก่อนที่แตกดอกตูม โดยให้ Ammonium sulfate and superphosphate เพื่อให้ดอกใหญ่และออกดอกมาก

5.3 การกำจัดวัชพืช :

- ไถพรวน และตากดิน เพื่อทำลายเมล็ดวัชพืช

- คราดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูก

- การคลุมดินหลังปลูกจะช่วยรักษาความชื้นของดินและบังแสงสว่างไม่ให้วัชพืชงอกหรืองอกได้ช้า หรือใช้พลาสติกทึบแสงคลุมแปลงปลูก

- ขุดทำลายหัวใต้ดินของวัชพืชบางชนิดทุกครั้งที่พบ พรวน ถากดิน และกำจัดวัชพืช ควรทำขณะที่ยังเล็ก โดยใช้การถอน

5.4 โรคและแมลงที่สำคัญ :

โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคราสนิม

การป้องกันกำจัด ให้ป้องกันด้วย 0.3% ของกำมะถันในปูนขาวหรือ sodium enemy rust

แมลงศัตรูพืชที่สำคัญ คือ หนอนแมลงวัน หนอนใยผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย และเพลี้ยอ่อน

การป้องกันกำจัด ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือใช้สารป้องกันกำจัด แมลง ตามความจำเป็นและเหมาะสม และเก็บส่วนที่ถูกแมลงเข้าทำลายไปเผาทิ้งภายนอกแปลง

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เก็บเมื่อต้นดอกคำฝอยมีอายุประมาณ 120-150 วัน

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : การเก็บเกี่ยวกลีบดอก หลังจากดอกบานซึ่งผสมพันธุ์แล้ว และกลีบดอกมีสีแดงเข้มหรือส้ม โดยเก็บในเวลาเช้าหรือตอนบ่ายๆ ที่มีแสงแดดไม่ร้อนจัด เก็บทุกวันหรือทุกๆ 2-3 วันก็ได้

การเก็บเกี่ยวเมล็ด ส่วนของลำต้น ใบ และช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล โดยเก็บเกี่ยวทั้งต้นหรือตัดเฉพาะดอกก็ได้ ใช้มีดหรือกรรไกรตัดโคนต้นหรือบริเวณใต้ฐานรองดอกลงมาเล็กน้อย

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : นำกลีบดอกที่เก็บมาได้ผึ่งแดดให้แห้ง โดยตากบนภาชนะที่สะอาด และใช้ผ้าขาวบางคลุมด้านบน วางให้สูงจากพื้นดินประมาณ 60 เซนติเมตร เพื่อป้องกันฝุ่นละอองปลิวมาใส่ ใช้เวลา 2-3 วัน เพื่อให้แห้งสนิท ความชื้นไม่เกินร้อยละ 11

ต้นดอกคำฝอยหรือกระเปาะดอกคำฝอยที่ตัดมาได้นำมากองรวมกันตากแดดประมาณ 2-3 วัน ใช้ไม้ตีหรือนำรถไถล้อเลื่อนขึ้นมาย่ำบนกองดอกคำฝอย แยกเศษผงและสิ่งสกปรกออก เก็บเมล็ดไว้ในถุงผ้าหรือถังน้ำ

7.2 การเก็บรักษา :

- ควรเก็บในที่สะอาด เย็น ไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทได้ดี และไม่ถูกแสงแดด หรือเก็บในห้องเย็น

- เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น ยวดแก้วสีชามีฝาปิดสนิท ถุงพลาสติกหรือถุงฟลอยด์

- ไม่ควรเก็บไว้นาน โดยทั่วไป สมุนไพรไม่ควรเก็บนานเกินกว่า 1 ปี เพราะจะสูญเสียสารสำคัญ

- การเก็บรักษาควรระบุฉลากชนิดสมุนไพร รวมทั้งวันเก็บชัดเจน เพื่อป้องกันนำไปใช้ผิด

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของคำฝอย ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news