banner ad

GAP ข่า

| November 6, 2013

GAP ข่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Languas galangal Sw.

ชื่อสามัญ Gallingale

ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ชื่ออื่นกฎกกโรหิณี (ภาคกลาง), ข่าหยวก ข่าหลวง (ภาคเหนือ), เสะเออเคย สะเอเชย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

1. ลักษณะของพืช

เป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าขนาดใหญ่ค่อนข้างแข็งและเหนียว มีสีขาวหรือเหลืองอ่อน มีลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบเรียงสลับซ้อนกันแน่นและชูเหนือดินสูง 1.5-3 ม.และขึ้นรวมเป็นกอ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน ปลายเป็นติ่งหนาม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ บางใส เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง แผ่นใบเกลี้ยงยกเว้นบริเวณโคนของเส้นกลางใบมีขนสั้นๆ มีขนเล็กน้อย ดอก เป็นช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด มีดอก 4-5 ดอก เรียงห่างๆ อยู่บนแกนช่อ ใบประดับรูปใบหอกแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน บางคล้ายเยื่อ ร่วงง่าย ใบประดับย่อยรูปใบหอก ลักษณะคล้ายใบประดับแต่ขนาดเล็กกว่า ดอกรูปสามเหลี่ยม กลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบเลี้ยงสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 3 แฉก สีเขียวอ่อนปลายขาว เกสรตัวผู้ 1 อัน รูปโค้ง ก้านเกสรแบน รังไข่ 1 อัน รูปเกือบกลม ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง ผล รูปกลมหรือรี สีแดงอมส้ม แก่จัดสีดำ แก่แล้วแตก ภายในมี 5-9 เมล็ด สีน้ำตาลอมดำ

2. สภาพื้นที่ปลูก

- ชอบดินร่วนซุยอุดมสมบูรณ์มีอินทรีย์วัตถุสูง และชุ่มชื้น แต่ไม่ชอบน้ำขัง

- ปลูกได้ทั้งพื้นที่โล่งแจ้งแต่ดินต้องชื้น หรือร่มรำไร

3. พันธุ์

3.1 เลือกพันธุ์ : เลือกท่อนพันธุ์จากเถาแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : ข่ามีพันธุ์พื้นเมืองอยู่ 2 ชนิด คือ พันธุ์ข่าเหลือง พันธุ์ข่าหยวก

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน : ทำการไถเพื่อปรับหน้าดินให้สม่ำเสมอ จากนั้นไถเพื่อคลุกเคล้าดิน พรวนดินหรือย่อยดิน และกำจัดวัชพืช แล้วตากดินไว้ประมาณ 7-15 วัน จากนั้นไถพรวนยกร่องแปลงให้มีความสูง 15-20 เซนติเมตร

1. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรดด่าง ให้อยู่ระหว่าง 5.5 -6.5 ในอัตราส่วน 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยคอกรองพื้นประมาณ 1-2 ตันต่อไร่

2. ควรทำการส่งดินเพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินและความเป็นกรดด่าง ก่อนทำการปรับสภาพดิน และปริมาณการใช้ปุ๋ย

4.2 การเตรียมท่อนพันธุ์ : ใช้เหง้าอ่อนหรือเหง้าแก่ก็ได้ โดยนำเหง้าข่ามาแบ่งให้เหง้ายาวประมาณ 15-20 เซนติเมตรมีตา 2-3 ตา ตัดรากเก่าออกเพื่อให้รากใหม่เจริญเติบโตได้เต็มที่

4.3 วิธีการปลูก : ขุดหลุมลึกประมาณ50 เซนติเมตรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหลุมละ1 กิโลกรัมคลุกเคล้าให้เข้ากับดินใช้ระยะปลูกคือระหว่างต้น 1 เมตร ระหว่างแถว 1 เมตร วางเหง้าลงปลูกหลุมละ 2-3 เหง้า กลบดิบและรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อเริ่มแตกหน่อเหนือดินขึ้นมา ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กรัมต่อหลุม

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้นํ้า :

- ทำการให้น้ำอย่างอย่างสม่ำเสมอ โดยคำนึงถึงวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อสังเกตพบว่าหน้าดินแห้ง ควรให้น้ำ และให้น้ำจนดินเปียกชื้น

- ควรให้น้ำข่าทันทีภายหลังจากการใส่ปุ๋ยแล้ว

- การปลูกข่าควรคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นของดินและลดการระเหยของน้ำ

- เศษพืชที่ใช้คลุมโคนต้นต้องไม่มี ส่วนขยายพันธุ์ หรือเมล็ดวัชพืชติดมา

- ไม่ควรใช้แกลบคลุมหรือโรยโคนต้นเพราะหลังการพรวนดินกลบโคน แกลบจะสลายตัวทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตได้

5.2 การใส่ปุ๋ย :

- การปลูกข่าควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก โดยทำการใส่ในขณะพรวนดินในอัตรา 1-2 ตันต่อไร่ หรือปุ๋ยพืชสด โดยการปลูกถั่วเขียวแซมระหว่างแถวแล้วไถกลบ หลังจากนั้นใช้ปุ๋ยเคมีรองพื้นโดยใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 50-60 กิโลกรัมต่อไร่

- เมื่อข่ามีอายุได้ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50-60 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ครั้งสุดท้ายเมื่อข่าอายุ 3-4 เดือน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50-60 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ระหว่างต้น

5.3 การกำจัดวัชพืช :

- ตากดิน เพื่อทำลายเมล็ดวัชพืช กำจัดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูก

- คลุมดินหลังปลูก เพื่อรักษาความชื้นของดินและบังแสงสว่างไม่ให้วัชพืชงอกหรืองอกได้ช้า

- ทำการขุดทำลายหัวใต้ดินของวัชพืชบางชนิดทุกครั้งที่พบ พรวน ถากดิน และกำจัดวัชพืช ควรทำขณะที่ยังเล็กโดยใช้การถอน

5.4 โรคและแมลง

โรคและการป้องกันกำจัด

1. โรคเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ที่ติดมากับท่อนพันธุ์ หรือเกิดจา

เชื้อแบคทีเรียที่ฝังตัวอยู่ใต้ดินบริเวณที่เคยพบโรคนี้ระบาดมาก่อน และเข้าทำลายรากและหง้าข่า

ลักษณะอาการ ทำให้ใบข่าห่อและม้วนงอ มีสีเหลือง ต้นเหี่ยวตาย เมื่อขุดแง่งข่าขึ้นมาจะพบว่าเริ่มแรกเนื้อภายในใสเหมือนแก้ว ต่อมาจะเน่าเละหมดทั้งแง่ง และระบาดเน่าตายหมดทั้งกอ เมื่อตัดแง่งข่าตามขวางมีน้ำสีขาวขุ่นทั่วพื้นที่หน้าตัดของแง่งข่า หรือถ้านำไปจุ่มในแก้วน้ำ โดยถือแง่งข่าไว้และมองดู จะเห็นน้ำใสๆ ไหลออกมาจากแง่งข่าที่มีอาการดังกล่าวเมื่อนำไปดองจะมีสีคล้ำและเปื่อยยุ่ยผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีกลิ่นบูดเน่า

การป้องกันและกำจัด

1) ปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์โดยใส่ปูนขาวหรือปูนเปลือกหอยประมาณ 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างน้อย 2 ตันต่อไร่

2) เลือกท่อนพันธุ์ข่าที่แข็งแรงปราศจากโรค

3) ก่อนปลูกควรชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อโรค โดยแช่ท่อนพันธุ์ข่านาน 3-5 นาที

2. โรคเน่า เกิดจากเชื้อรา ที่มีการระบาดในสภาพดินที่เป็นกรด หรือมีการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาก และในสภาพดินที่มีน้ำขัง

ลักษณะอาการ ใบข่าเหลืองเหี่ยวตายทั้งกอ เมื่อขุดขึ้นมาแง่งข่าเน่า เป็นสีน้ำตาล และบางส่วนเน่าและ และดินบริเวณรอบๆ แง่งข่าพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวคล้ายเส้นด้าย และพบส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา เป็นเม็ดสีน้ำตาลปนดำ

การป้องกันและกำจัด

1) ปรับปรุงสภาพดินปลูกให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการใช้ปุ๋ยคอกและปูนขาว

2) ทำทางระบายน้ำในแปลงปลูกอย่าให้มีน้ำขังแฉะ

3) แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนปลูกทุกครั้ง

4) ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่เป็นพืชอาศัย เพื่อลดการระบาดของโรค หรือใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น Trichoderma harzianum ใส่ลงไปในดิน เพื่อให้เข้าทำลายเชื้อรา

3. โรคใบจุด

ลักษณะอาการ ใบและลำต้นข่ามีจุดฉ่ำน้ำสีเหลือง แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงกลมรีขนาด 0.1-0.5 มิลลิเมตร เนื้อเยื่อกลางแผลแห้งเป็นสีขาวนวล หรือสีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีดำเล็ก ๆ อยู่บนเนื้อเยื่อที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบางแผลเนื้อเยื่อหลุดหายไปทำให้เกิดรอยพรุนประปรายทั่วไปในที่สุดข่าจะทรุดโทรมการแตกกอและการให้ผลผลิตลดลง

การป้องกันและกำจัด

ตัดส่วนใบที่เป็นโรคทิ้ง นำไปเผาทำลายนอกแปลง

4. โรคแอนแทรคโนส สาเหตุเกิดจากเชื้อรา โรคนี้แพร่ระบาดในฤดูฝนที่มีอากาศชื้นและอุณหภูมิสูง ถ้าหากมีการระบาดมากลำต้น และแง่งขิงจะชะงักการเจริญเติบโตให้ผลผลิตลดลง

ลักษณะอาการ เริ่มแรกอาการจะพบที่ใบเป็นจุดเล็ก ๆ มีลักษณะกลมหรือรูปไข่ สีน้ำตาล จากนั้นแผลรุกลามติดกันมีขนาดใหญ่ ตรงกลางแผลแห้งเป็นรู ถ้าเป็นบริเวณปลายใบก่อน ใบจะม้วนและห้อยลง กาบใบและหน่อจะถูกทำลายด้วย

การป้องกันและกำจัด

1) ไม่ควรปลูกข่าให้ชิดเกินไป

2) เก็บใบที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย

5. โรครากปม สาเหตุ เกิดจากไส้เดือนฝอยเข้าทำลายระบบรากและโคน

ลักษณะอาการ ทำให้รากของข่าถูกทำลายเป็นปุ่มปม รูปร่างผิดปกติ ไม่เจริญเติบโต ทำให้มีปริมาณรากน้อย ถ้าพบการระบาดมาก ๆ จะทำให้ต้นแคระแกร็น ใบซีดและขอบใบจะแห้งม้วน บางครั้งจะเข้าทำลายที่แง่งข่าด้วย ทำให้แง่งข่ามีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาล

การป้องกันและกำจัด

1.ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรค

2.ปลูกพืชหมุนเวียนในแปลงเดิม

3.ไถดินตากไว้ เพื่อให้ไข่และตัวอ่อนของไส้เดือนฝอยถูกแดดเผาทำลาย

แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

1.เพลี้ยไฟ ข่าที่ถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลายจะถูกดูดน้ำเลี้ยงจากใบข่า ในที่สุดใบจะแห้งและเหี่ยวตายโดยใบเริ่มแห้งจากปลายใบเข้าหาโคนใบ

การป้องกันและกำจัด

- เมื่อพบการระบาดให้กำจัดทิ้งโดยการเก็บส่วนที่ถูกทำลาย เผาทิ้งบริเวณนอกแปลงปลูก

- การใช้น้ำฉีดพ่น สามารถช่วยไล่เพลี้ยไฟได้ เพราะเพลี้ยไฟไม่ชอบน้ำ จึงช่วยลดการทำลายได้ระยะหนึ่ง

- ใช้สารสกัดจากพืชในการป้องกันกำจัด หรือไล่แมลง แทนการใช้สารเคมี เช่นสารสกัดจากสะเดา มีฤทธิ์ยับยั้งการกินของแมลง ยับยั้งการขยายพันธุ์ การลอกคราบของแมลง จึงทำให้แมลงตาย หรือทำให้ไข่ของแมลงฝ่อ

2. หนอนและตั๊กแตนกินใบ ใบข่าจะถูกกัดเป็นรอยแหว่ง ส่วนมากการทำลายดังกล่าวมักจะไม่สร้างความเสียหายมากนัก

การป้องกันกำจัด

- เก็บส่วนที่ถูกทำลาย เผาทิ้งบริเวณนอกแปลงปลูก

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : เมื่ออายุ 3 เดือน เก็บเป็นหน่อข่า อายุ 6-8 เดือน เก็บเป็นข่าอ่อน อายุ 1 ปีขึ้นไป เก็บเป็นข่าแก่ ในช่วงนี้ข่าจะให้ผลผลิตดี มีน้ำหนัก ถ้าดินแห้งควรมีการรดน้ำเพื่อสะดวกต่อการขุดหรือถอน และลดความเสียหายต่อเหง้าข่า

6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว : ดำเนินการขุดหัวพันธุ์ข่าขึ้นมา แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาดพร้อมกับผึ่งลมให้แห้ง

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว :

7.2 การเก็บรักษา : การรักษาสภาพของเหง้าข่าให้ตัดแต่งรากและเหง้าข่าให้เรียบร้อย และนำเหง้าข่าจุ่มลงในน้ำสะอาดที่กวนด้วยสารส้ม จะได้ข่าที่มีความสดและสีสวยอยู่ได้นานจนถึงปลายทาง

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของข่า ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่างๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news