banner ad

GAP ขมิ้นอ้อย

| November 6, 2013

GAP ขมิ้นอ้อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma zedoaria Roscoe.

ชื่อสามัญ Zedoary, Luya-Luyahan

ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ชื่ออื่น ขมิ้นขึ้น (ภาคเหนือ); ละเมียด (เขมร)

 

1. ลักษณะของพืช

เป็นไม้ล้มลุกสูง50- 70 ลำต้นใต้ดินหรือเหง้า เนื้อในสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอม ใบออกเป็นรัศมี ติดผิวดิน รูปหอกแกมขอบขนาน กว้าง 8-10 ซม. ยาว 30-40 ซม. ก้านใบยาว 8-15 ซม. ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว 5-8 ซม. ใบประดับสีเขียวอ่อนๆ หรือสีขาว รูปหอกเรียงซ้อนกัน ใบประดับ 1 ใบ มี 2 ดอก ใบประดับย่อยรูปขอบขนานยาว 3-3.5 ซม. ด้านนอกมีขน กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ มีขน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ปลายแยกเป็น 3 ส่วน เกสรเพศผู้ คล้ายกลีบดอก มีขน อับเรณูอยู่ใกล้ๆปลาย ท่อเกสรตัวเมียเล็ก ยาว ยอดเกสรตัวเมียรูปปากแตร เกลี้ยง รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 ใบ

 

2. สภาพพื้นที่ปลูก เจริญเติบโตได้ทั่วไป โดยเฉพาะดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขัง เจริญได้ดีในที่แจ้ง ช่วงการปลูกที่เหมาะสมประมาณเดือนพฤษภาคม

 

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ : เลือกท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์และไม่เป็นโรค

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก : พันธุ์พื้นเมืองในท้องถิ่น

 

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน :

1. ไถพรวนกลับหน้าดิน และตากดินไว้อย่างน้อย 7-15 วัน และ ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับการไถพรวน อัตรา 1 ตัน/ไร่ เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลง และควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่า 5.5-6.5

2. การเตรียมดินควรไถพรวนก่อนต้นฤดูฝน และหลังจากพรวนดินให้มีขนาดเล็กลง ควรไถยกร่องปลูก

3. การเตรียมแปลงปลูก มี 2 แบบ

- แปลงปลูกแบบพื้นที่ราบ ควรเป็นพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี มีความลาดเอียง

- แปลงปลูกแบบยกร่อง ในพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม หรือที่ราบต่ำ ควรยกร่องสูงประมาณ25 เซนติเมตรความกว้างประมาณ 100-150 เซนติเมตรความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ และระยะระหว่างร่องประมาณ50 เซนติเมตร

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ใช้เหง้าที่ปลอดจากโรคและแมลงอายุประมาณ 1 ปี นำมาตัดราก และล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย แล้วตัดเป็นท่อนๆ มีตาสมบูรณ์ 3-5 ตา และป้ายปูนแดง หรือปูนขาวที่รอยตัดป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลาย หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันโรคและแมลงที่ติดมากับหัวพันธุ์

4.3 วิธีการปลูก : ใช้เหง้าที่เรียกหัวแม่มีลักษณะกลมใหญ่ หรือหัวแง่ง มีตาอย่างน้อย 2 ตา นำมาปลูกในแปลง หรือเพาะให้ตางอกก่อนนำไปปลูก โดยนำไปไว้ในที่ร่มและให้ความชื้น จนขมิ้นชันแตกหน่อ ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว อัตราประมาณ 250 กรัมต่อหลุม

1. ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถว 30×50 เซนติเมตร จากนั้นกลบดินและคลุมแปลงด้วยฟางหรือหญ้าคา เพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน

2. ระยะเวลาปลูก เริ่มปลูกในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม

 

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ : ควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง แต่ถ้าดินแฉะเกินไป อาจจะเว้นช่วงได้ หรือถ้าดินแห้งเกินไป ก็ให้น้ำเพิ่มได้ แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำแฉะเกินไป เพราะจะทำให้เหง้าเน่าเสียได้

5.2 การใส่ปุ๋ย : ควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และให้ปุ๋ยคอก อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ประมาณ 1 2 เดือนต่อครั้ง

5.3. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช : เมื่อขมิ้นอ้อยเริ่มงอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตรต้องรีบทำการกำจัดวัชพืชเนื่องจากขมิ้นหลังจากงอกจะเจริญเติบโตแข่งกับวัชพืชไม่ได้

5.4 โรคและแมลง

โรคที่สำคัญของขมิ้นชัน คือ โรคเหี่ยวหรือโรคหัวเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanoicearum จะทำให้ต้นมีอาการใบเหลือง ต้นเหี่ยว และหัวเน่าในที่สุด

การป้องกันกำจัด

  1. ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดจากโรค
  2. ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิม และพืชหมุนเวียนทุกๆ ปี ด้วยพืชตระกูลถั่ว หรือพืชหมุนเวียนอื่นที่สามารถสร้างสารออกมาจากรากและทำลายเชื้อสาเหตุโรคในดิน
  3. แหล่งที่มีการระบาดของโรคให้อบดินฆ่าเชื้อในดิน โดยใช้ยูเรีย และปูนขาว อัตรา 80:100 กก/ไร่ โรยและคลุกเคล้าดินในแปลงปลูก แล้วใช้พลาสติกสีดำคลุมแปลงอบดินไว้เป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนปลูก

 

6. การเก็บเกี่ยว

6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม : การเก็บเกี่ยวเมื่อขมิ้นอายุประมาณ 8-9 เดือน ในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธุ์ การเก็บเกี่ยวหากดินแห้งมากจะทำให้เก็บเกี่ยวได้ยากจึงควรรดน้ำให้ดินชื้น

6.2 การเก็บผลผลิต ใช้จอบหรือเสียมที่สะอาด และควรระวังอย่าให้หัวเหง้าเกิดบาดแผล จากนั้นนำมาตัดราก ล้างเอาดินออก และทำความสะอาด และไม่ควรเก็บขมิ้นอ้อยที่เริ่มแตกหน่อใหม่ เพราะจะทำให้ได้สารสำคัญน้อย

 

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา

การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว : นำเหง้าที่ขุดได้มาทำความสะอาดมาคัดส่วนที่เน่าเสีย มีโรคและแมลงทำลายออกทิ้ง ล้างทำความสะอาด ชำระสิ่งสกปรก และสิ่งที่ติดมากับขมิ้นอ้อย หลังจากนั้นทำการตัดแต่งรากให้หมด แล้วฝานเป็นชิ้นบางๆ นำไปตากหรืออบแห้งที่อุณหภูมิ50 องศาเซลเซียส ใน 8 ชั่วโมงแรกต่อไปอบที่อุณหภูมิ 40-45 องศาเชลเซียส จนกว่าจะแห้งสนิท การตากขมิ้นอ้อยให้วางบนชั้นที่มีความแข็งแรงสูงจากพื้นดินประมาณ 60-7 เซนติเมตร นานประมาณ 4 วัน (ควรจะกลับวัตถุดิบทุก 3-4 ชั่งโมงต่อวัน ความชื้นของวัตถุดิบขมิ้นอ้อยไม่ควรเกินร้อยละ 11

 

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม
- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต
- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของขมิ้นอ้อย ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

 

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news