banner ad

GAP ขมิ้นชัน

| October 21, 2013

GAP ขมิ้นชัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa L.

ชื่อพ้อง Curcuma domestica Valeton.

ชื่อสามัญ Turmeric

ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ชื่ออื่น ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หมิ้น ตายอ สะยอ

1. ลักษณะของพืช

เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายฤดู สูง 50-70 เซนติเมตรลำต้นเป็นเหง้าใต้ดินที่แตกแขนง เนื้อในสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบเดี่ยว ออกแบบสลับจากเหง้า รูปหอกแกมขอบขนาน ปลายแหลม กว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร ออกรอบโคนต้น กาบใบยาว 80-120 เซนติเมตร ซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม ดอกเป็นดอกช่อ เจริญจากเหง้า แทรกกลางกลุ่มใบ ลักษณะคล้ายทรงกระบอก ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงหรือกลีบประดับสีเขียวอมชมพู โคนใบประดับเป็นกระเปาะ ดอกย่อยออกในซอกกระเปาะใบประดับ 3-5 ดอก บานไม่พร้อมกัน กลีบเลี้ยงสีขาวใส ติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายหยักไม่เท่ากัน กลีบดอกย่อยสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดยาว ปลายผายและแยกเป็นสามกลีบ เกสรเพศผู้ ที่เป็นหมันแผ่เป็นกลีบขนาดใหญ่ 3 กลีบ กลีบกลางรูปไข่ สีเหลืองอ่อนและมีแถบสีเหลืองเข้มบริเวณกลางกลีบ สองกลีบข้างรูปรีแกมขอบขนานสีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ ที่สมบูรณ์มีก้านสั้น อับเรณูเล็กเรียวและมีจงอย โอบรอบก้านชูยอดเกสรตัวเมีย รังไข่ 3 ห้อง ผลเป็นรูปกลมหรือ มี 3 พูแต่มักไม่ติดเมล็ด

 

2. สภาพพื้นที่ปลูก

- ขมิ้นชันสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคที่มีอากาศร้อน หรือร้อนชื้น

- เติบโตได้ดีในที่ดอน และพื้นที่ราบที่มีความลาดเอียง ที่ระดับความสูง 450-900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

- ชอบดินร่วนซุย หรือดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง ไม่ชอบดินเหนียวและดินลูกรัง

- สภาพอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต 30-35 องศาเซลเซียส และการพัฒนาเหง้าในช่วงอุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส

- ปลูกได้ทั้งในที่โล่งแจ้ง หรือมีแสงรำไร

 

3. พันธุ์

3.1 การเลือกพันธุ์ :

1. เลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพให้ปริมาณสารสำคัญเคอร์คูมินอยด์ไม่ต่ำกว่า 5% และน้ำมันหอมระเหยไม่ต่ำกว่า 6%

2. เลือกหัวพันธุ์ที่ปลอดโรค และสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงติดมากับท่อนพันธุ์

3. แง่งพันธุ์ที่มีปล้อง 7-9 ปล้องต่อชิ้น มีน้ำหนัก 15-30 กรัมต่อชิ้น มีความยาว 8- 12 เซนติเมตร

ปริมาณท่อนพันธุ์ที่ใช้ต่อไร่

- หัวแม่ที่มีน้ำหนัก 15-30 กรัมต่อชิ้น ใช้จำนวน 7,100 ชิ้น หรือ 155 กิโลกรัม

- แง่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตรน้ำหนัก 15-30 กรัมต่อชิ้น ใช้จำนวน 7,100 ชิ้น หรือ 140 กิโลกรัม

- แง่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-9 เซนติเมตรน้ำหนัก 5-10 กรัมต่อชิ้น ใช้จำนวน 7,100 ชิ้น หรือ 75 กิโลกรัม

3.2 พันธุ์ที่นิยมปลูก :

1. ขมิ้นชันสายพันธุ์จากจังหวัดพังงา และสุราษฎร์ธานี

2. พันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรเป็นพันธุ์ที่ได้คัดเลือกแล้ว คือ พันธุ์ตรัง 1

 

4. การปลูก

4.1 การเตรียมดิน :

1. พื้นที่ปลูกที่เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ควรทำการเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพของดินก่อนปลูก

2. ดินที่มีอินทรีย์วัตถุน้อย ควรปลูกพืชตระกูลถั่วให้ได้ระยะออกดอก จึงไถกลบดิน หรือปรับปรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายสมบูรณืดีแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หรือรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว อัตราประมาณ 250 กรัมต่อหลุม

3. ไถพรวนกลับหน้าดินร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอก และตากดินไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนปลูก ซึ่งการไถพรวนควรทำก่อนต้นฤดูฝน

4. ควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้มีค่าประมาณ 5.5-6.5

5. เก็บเศษวัสดุ และกำจัดวัชพืชออกจากแปลง

4.2 การเตรียมพันธุ์ : ใช้เหง้าที่ปลอดจากโรคและแมลงอายุประมาณ 1 ปี โดยใช้ได้ทั้งเหง้าที่เรียกว่าหัวแม่มีลักษณะกลมใหญ่ และหัวแง่ง ที่งอกมาจากหัวแม่ และมีขนาดเล็กวกว่า นำมาตัดราก และล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ตัดเป็นท่อนๆ มีตาสมบูรณ์ 3-5 ตา หรือแง่งที่มีน้ำหนักประมาณ 15-50 กรัม ป้ายปูนแดง หรือปูนขาวที่รอยตัดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลาย หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันโรคและแมลงที่ติดมากับหัวพันธุ์

4.3 วิธีการปลูก :

1. ใช้เหง้าลงปลูกในแปลง หรือนำไปเพาะให้งอกก่อน ในกระบะทราย ให้แทงยอด แตกใบประมาณ 2-3 ใบ จึงนำหัวพันธุ์มาปลูกลงในแปลง ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถว 30 x 50 เซนติเมตร โดยการปลูกในแปลงมี 2 แบบ

- ปลูกแบบพื้นที่ราบ ควรเป็นพื้นที่ที่มีการระบายน้ำดี และมีความลาดเอียง

- ปลูกแบบยกร่อง ในพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม หรือที่ราบต่ำ ควรยกร่องสูงประมาณ 25 เซนติเมตร ความกว้างตามความเหมาะสมประมาณ 100-150 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ และระยะระหว่างร่องประมาณ 50 เซนติเมตร

2. ช่วงฤดูการปลูก ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน สำหรับภาคใต้เริ่มปลูกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน

3. เมื่อขุดหลุมปลูกแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมประมาณหลุมละ 200 กรัม นำดินกลบปุ๋ยหนาประมาณ 1 เซนติเมตร นำหัวพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกให้ลึกประมาณ 5-7 เซนติเมตร ใช้ดินกลบท่อนพันธุ์หนาประมาณ 5 เซนติเมตร

4. คลุมแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าคาความหนาประมาณ 2 นิ้ว เพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มจนกว่าต้นจะงอกและสมบูรณ์ดี

5. การแตกหน่อของขมิ้นชันจะงอกประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังปลูก และออกดอกประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน

6. การปลูกขมิ้นชัน สามารถปลูกเป็นพืชเดี่ยว และปลูกแซมในพืชไร่ หรือพืชสวนอื่น

ข้อควรระวัง

ไม่ควรใส่ปุ๋ยคอกใหม่ๆ ในปริมาณมากๆ และเข้มข้นเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความร้อน ซึ่งอาจทำให้เหง้าขมิ้นชันตายได้

ไม่ควรฉีดพ่นสารเคมีหรือยาฆ่าหญ้า เพราะอาจทำให้สารพิษตกค้างในเหง้าขมิ้นชัน และไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หรืออาจจะทำให้ขมิ้นชันหยุดการเจริญเติบโต ไม่ลงหัว ถ้าเป็นยาฆ่าหญ้าอาจทำให้ต้นขมิ้นชันแห้งตายได้

หลีกเลี่ยงการปลูกขมิ้นชันกับพืชสมุนไพรในตระกูลเดียวกัน เพราะอาจเกิดการผสมเกสร ทำให้กลายพันธุ์ หรืออาจจะทำให้สรรพคุณเปลี่ยนแปลงได้

 

5. การดูแลรักษา

5.1 การให้น้ำ ระยะแรกที่ต้นขมิ้นชันยังเล็กอยู่ควรมีการให้น้ำสม่ำเสมอ และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำเลย แต่ต้องระมัดระวังน้ำท่วมขังในแปลงเป็นเวลานาน ทำให้ขมิ้นชันเน่าตายได้ และต้องมีการระบายน้ำออกทันทีหากพบว่ามีน้ำท่วมขัง

5.2 การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัมต่ไร่ หรือใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่ ในช่วงระยะที่กำลังเจริญเติบโตทางลำต้น แต่ไม่ควรให้ปุ๋ยระยะที่ขมิ้นชันลงหัว

ระยะเวลาการใส่ปุ๋ย ควรใส่พร้อมกับการถอนวัชพืชและพรวนดิน ประมาณ 3 ครั้ง

- การใส่ปุ๋ย ควรใส่พร้อมกับการถอนวัชพืชและพรวนดิน ประมาณ 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อเตรียมแปลงปลูก

ครั้งที่ 2 หลังการปลูกประมาณ 1 เดือน

ครั้งที่ 3 หลังการปลูกประมาณ 3-4 เดือน

5.3 การกำจัดวัชพืช

- การถอนวัชพืชออกจากแปลง โดยทั่วไปมีประมาณ 3 ครั้ง

ครั้งแรก หลังจากต้นอ่อนสูงประมาณ 10 เซนติเมตร

ครั้งที่สอง หลังการปลูก 1 2 เดือน (กรกฎาคม)

ครั้งที่สาม หลังการปลูก 2 3 เดือน (สิงหาคม) หรือถ้าพื้นที่ใดมีวัชพืชขึ้นเร็วเกินไปควรกำจัดได้ก่อนกำหนดตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่

- การไถพรวน และตากดิน จะช่วยทำลายเมล็ดวัชพืช

- ควรคราดส่วนขยายพันธุ์ของวัชพืชออกในระหว่างขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูก

- การคลุมดินหลังปลูกจะช่วยรักษาความชื้นของดิน และบังแสงสว่างไม่ให้วัชพืชงอก หรืองอกได้ช้า หรือใช้พลาสติกทึบแสงคลุมแปลงปลูก

- ขุด และถอนหัวใต้ดินของวัชพืชออกทุกครังที่พบ และควรกำจัดวัชพืชในขณะที่ยังเล็กอยู่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเมล็ดวัชพืชที่จะร่วงหล่นระบาดในแปลงปลูก

5.4 โรคและแมลง

โรคที่สำคัญของขมิ้นชัน คือ โรคเหี่ยวหรือโรคหัวเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum จะทำให้ต้นมีอาการใบเหลือง ต้นเหี่ยว และหัวเน่าในที่สุด

การป้องกันกำจัด

  1. ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดจากโรค
  2. ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิม และควรปลูกพืชหมุนเวียนทุกๆ ปี ด้วยพืชตระกูลถั่ว หรือพืชหมุนเวียนอื่นที่สามารถทำลายเชื้อสาเหตุโรคในดิน
  3. แหล่งที่มีการระบาดของโรค ให้อบดินฆ่าเชื้อในดิน โดยใช้ยูเรีย และปูนขาว อัตรา 80:100 กก/ไร่ โรยและคลุกเคล้าดินในแปลงปลูก แล้วใช้พลาสติกสีดำคลุมแปลงอบดินไว้เป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนปลูก

แมลงศัตรูที่สำคัญ คือ หนอนเจาะลำต้น

การป้องกันกำจัด

เก็บส่วนที่ถูกทำลาย เผาทิ้งภายนอกแปลง

 

6. การเก็บเกี่ยว

เหง้าขมิ้นชันเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูกขมิ้นได้ 9 เดือนขึ้นไป ใบที่อยู่เหนือดินเหี่ยวและทรุดตัวหมด ในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม

การเก็บผลผลิต ใช้จอบหรือเสียมที่สะอาดขุดเหง้าออกจากแปลง และควรระวังอย่าให้หัวเหง้าเกิดบาดแผล จากนั้นนำมาตัดราก ล้างเอาดินออก และทำความสะอาด และไม่ควรเก็บขมิ้นชันที่เริ่มแตกหน่อใหม่ เพราะจะทำให้ได้สารสำคัญน้อย

 

7. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

7.1 การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว

- ใช้มีดที่สะอาดและคม ขูดเปลือกขมิ้นชันออกให้สะอาด และวางในภาชนะ

- นำไปล้างผ่านน้ำที่สะอาดประมาณ 2-3 ครั้ง แล้วจึงนำท่อนขมิ้นชันไปใส่ในเครื่องล้างสมุนไพร 1 ครั้ง

- นำท่อนขมิ้นชันไปหั่นด้วยเครื่องสับสมุนไพรหรือ หั่นเป็นชิ้นบางๆ

- นำขมิ้นชันที่หั่นเสร็จใส่ถาด นำเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 50 องศา-เซลเซียส ใน 8 ชั่วโมงแรก ต่อไปอบที่อุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียสจนกว่าจะแห้งสนิท

- กรณีไม่มีตู้อบสมุนไพร ให้นำขมิ้นชันที่หั่นเสร็จใส่ถาด นำไปวางบนชั้นที่มีความแข็งแรง ชั้นจะต้องมีความสูงจากพื้นดินประมาณ 60 70 เซนติเมตร ตากแดดนานประมาณ 4 วัน (ควรจะกลับวัตถุดิบทุก 3- 4 ชั่วโมง ต่อ วัน)

- ความชื้นของวัตถุดิบขมิ้นชันไม่ควรเกินร้อยละ 10

- ขมิ้นชัยสด 5-6 กิโลกรัมจะได้ขมิ้นชันแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม

7.2 การเก็บรักษา นำขมิ้นชันที่อบแห้งสนิทบรรจุถุงพลาสติกใส 2 ชั้นปิดปากให้สนิทเขียนฉลากปิดถุงให้เรียบร้อย

- นำเข้าจัดเก็บที่ห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ป้องกันแสงแดด ระวังไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าไปทำให้คุณภาพขมิ้นชันลดลง นำมาเก็บในห้องที่สะอาด เย็น ไม่อับชื้น อากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันแสงแดดมากระทบ ดูแลไม่ให้มีเชื้อราหรือแมลงเข้าทำลาย หากพบให้คัดแยกออกและทำลายทิ้ง เพราะจะทำให้คุณภาพขมิ้นชันลดลง ขมิ้นชันแห้งที่จัดเก็บไว้นานเกิน 3 เดือนควรจะมีการนำมาอบใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้มีความชื้น และมีแมลงรบกวน

การเก็บรักษา เหง้าพันธุ์ หรือเหง้าสด สำหรับใช้ขยายพันธุ์ มีวิธีเก็บได้ 2 แบบ

1. วางผึ่งไว้ในที่ร่ม สะอาด ปราศจากโรค แมลง และสัตว์ต่างๆ รบกวน มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่อับชื้น พื้นที่ที่เก็บต้องแห้งปราศจากความชื้น

2. เก็บฝังในทรายที่สะอาด เย็น และชื้น ในที่ร่ม และควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดแมลง หรือสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ก่อนนำไปฝังทราย

 

8. สุขลักษณะและความสะอาด

- ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน หรือหากต้องการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้างในวัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม

- ควรรักษาแปลงปลูกสมุนไพรให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ

- กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืชซึ่งอาจติดไปกับผลผลิต

- หลังการตัดแต่ง ควรนำเศษพืชไปทิ้งนอกแปลง หรือทำลายเสีย

- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เผากำจัดวัสดุเหลือใช้ และกำจัดภาชนะบรรจุให้ถูกวิธี

- เก็บรักษาวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการทำการเกษตรกรรมให้เรียบร้อยปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

 

9. การบันทึกข้อมูล

ในการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมของขมิ้นชัน ควรมีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติในขั้นตอนการผลิตต่างๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบวิธีการผลิตได้โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบคือสารออกฤทธิ์ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการผลิตวัตถุดิบให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและหากมีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงวิธีการผลิตได้ทันทีรายละเอียดที่ควรบันทึกได้แก่

1. บันทึกขั้นตอนการผลิต เช่น รายละเอียดการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีผลต่อปริมาณสารสำคัญ และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากมีสารพิษตกค้างจะทำให้คุณภาพของสมุนไพรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

2. บันทึก วันปลูก วันออกดอก วันเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยว วิธีการบรรจุ การขนส่ง และชื่อผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ เพื่อใช้ตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร เช่น ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา/อายุ ที่ไม่เหมาะสมจะมีผลทำให้คุณภาพต่ำ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสามารถนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการผลิตให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน

3. บันทึก วัน เดือน ปี และวิธีการปฏิบัติงานเพื่อใช้ตรวจสอบ และวางแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

สรุปข้อกำหนดมาตรฐานของขมิ้นชัน

รายการ

ไม่เกิน

ไม่น้อยกว่า

ปริมาณสิ่งแปลกปลอม (%w/w)

2.0

-

ปริมาณความชื้น (%v/w)

10.0

-

ปริมาณเถ้ารวม (%w/w)

8.0

-

ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด (%w/w)

1.0

-

ปริมาณสารสกัดด้วยเอธานอล (%w/w)

-

10.0

ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ (%w/w)

-

9.0

ปริมารน้ำมันหอมระเหย (%v/w)

-

6.0

ปริมาณคอร์คูมินอยด์คำนวน
เป็นคอร์คูมิน (%w/w)

-

5.0

ที่มา สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484 ext. 117
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: GAP

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news