แคนา
แคนา
ชื่ออื่นๆ : แคขาว แค แคแน แคตุ้ย แคป่า แคบีฮอ แคผา
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAW
ชื่อสามัญ : Khae na, Sesban
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dolichandrone serrulata Seem.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ใบประกอบเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบย่อยมนบางรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนใบไม่เท่ากัน ดอกช่อแบบติดดอกสลับ ประมาณ 2-4 ดอก กลีบเลี้ยงเป็นรูปกรวย กลับดอกเป็นหลอด คล้ายดอกถั่วทั่วไป แต่ใหญ่กว่าและมีสีขาว ฝักกลมแบนยาว มีขนาดเล็กคล้ายถั่วฝักยาวแต่สีขาวกว่าเมื่อแก่แตกได้
การนำไปใช้ประโยชน์ :
ทางอาหาร ยอดและฝักต้มให้สุกกับกะทิกินกับขนมจีนน้ำยา ส้มตำ น้ำพริกต่างๆ ให้รสมัน ส่วนดอกใส่ในแกงส้ม แกงแค แต่ต้องแกะเกสรเพศเมียที่เป็นเส้นโค้งสีเขียวและมีรสขมออกก่อน อาจนำมาชุบแป้งทอดกินเป็นอาหารว่างได้ ยอดแคให้คุณค่าทางอาหารสูงกว่าดอกโดยเฉพาะแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 ส่วนดอกจะมีวิตามินบี 2 และใยอาหารสูง
ทางยา ยอดและฝักใช้แก้ไข้หัวลม (ไข้หวัดที่เกิดช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว) รากคั้นน้ำผสมน้ำผึ้งจิบเพื่อขับปัสสาวะ เปลือกต้นมีรสฝาดช่วยแก้ท้องเสีย แต่ไม่ควรกินมากเพราะทำให้อาเจียนหรือนำมาปิ้งไฟผสมกับน้ำปูนใสให้เจือจางใช้ล้างแผล ในอินโดนีเซียใช้น้ำคั้นจากดอกแคหยอดตา แก้ตาเบลอ และใช้เป็นยาระบาย
การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด และตอนกิ่ง
การปลูกและการดูแล : ชอบดินร่วนระบายน้ำดีมีอินทรียวัตถุสูงไม่มีน้ำท่วมขัง แสงแดดจัดหลังเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง 5-6 เดือน จะเริ่มออกดอก การดูแล ควรระวังเพลี้ยแป้งเข้าทำลายบริเวณใต้ใบหุ้มยอดโดยเฉพาะในฤดูหนาวถึงฤดูร้อน หมั่นตัดฝักดอกบ้างเพื่อไม่ให้ต้นโทรม รดน้ำสม่ำเสมอ ต้นจะผลิใบและดอกได้ตลอดปี คอยฉีดน้ำและตัดแต่งพุ่มใบอยู่เสมอเพื่อป้องกันแมลงทำลายและไม่ให้สูงเกินไปจนเก็บยาก
สรรพคุณ
ราก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต
เปลือก แก้ท้องเสีย แก้บิด ชำระล้างบาดแผล สมานแผล ห้ามเลือด แก้ตกโลหิต
ใบ บำรุงกำลัง เจริญอาหาร
ผล แก้บวม แก้ตกโลหิต แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อยพัง
ดอก แก้ตกโลหิต เจริญอาหาร แก้ลงท้อง แก้บวม
โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute
Category: พืชผักพื้นบ้าน, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ