กุยช่าย
กุยช่าย
ชื่ออื่นๆ : -
ชื่อวงศ์ : Alliaceae
ชื่อสามัญ : Chives
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium schoenoprasum L.
1.พันธุ์ แบ่งได้เป็น
1.1 กุยช่ายใบ เช่น Broad leaf, Ping
1.2 กุยช่ายดอก เช่น Tai Jiu
2. การเตรียมดิน การปลูกกุยช่ายควรมีการไถดินตากให้นานๆ ไม่ต่ำกว่า 15 วัน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ปูนขาว เก็บวัชพืช ที่สำคัญพื้นที่ปลูกต้องไม่มีแห้วหมูขึ้น ย่อยหรือพรวนดิน ชักร่องแบบร่องผัก หรือเตรียมดินปลูกแบบร่องสวน โดยฟางข้าว รดน้ำให้ชุ่มรอการปลูก
3. การเพาะกล้า แบ่งได้คือ
3.1 การเพาะกล้าแบบเพาะเมล็ด ทั้งในกะบะเพาะ หรือเพาะในแปลงเพาะ
3.1.1 การเพาะเมล็ดในกะบะเพาะ โดยการนำดินเพาะที่ผสมแล้วลงหลุมกะบะเพาะ แล้วนำเมล็ดกุยช่ายหยอด 3-5 เมล็ดต่อหลุม เมล็ดจะงอกภายใน 7-14 วัน โดยการรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ จนอายุกล้าประมาณ 55-60 วัน ก็นำไปปลูกได้
3.1.2 การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ เริ่มจากการเตรียมแปลงเพาะเหมือนกับการเตรียมแปลงเพาะพืชทั่วไป หว่านเมล็ดลงแปลงบางๆ โรยฟางข้าวทับรดน้ำให้ชุ่ม จนกล้าอายุ 55-60 วัน ก็นำกล้าไปปลูกลงแปลงปลูกได้
3.2 การปลูกโดยการแยกกอ ใช้ต้นแม่พันธุ์อายุ 6 เดือนขึ้นไปขุดแล้วแยกกอ ก่อนปลูกควรตัดใบออก เพื่อลดการคายน้ำ ตัดรากให้เหลือ 1-2 เซนติเมตร จุ่มยากันราก่อนปลูกด้วยจะเป็นการดี
4. การปลูก เมื่อได้กล้าแล้วรดน้ำแปลงที่จะปลูกให้ชุ่ม นำกล้าลงปลูกใช้ระยะปลูก 30 x 30 เซนติเมตร หลุมละ 3-4 ต้น รดน้ำให้ชุ่ม กุยช่ายจะอยู่ได้ 3-4 ปี แล้วแยกกอปลูกแปลงใหม่
5. การใส่ปุ๋ย จะเน้นเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูป และปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพิจารณาใส่หลังปลูก 7 วัน และ 30 วัน พออายุได้ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมกับปุ๋ยเคมีสูตรา 13-13-21 อัตรา 2 :1 ผสมกันใส่แปลงกุยช่าย และเสริมด้วยการพ่นปุ๋ยเกล็ด ปุ๋ยน้ำมี่มีธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง ทุกๆ อาทิตย์
6. การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอ และพิจารณาการให้ตามความเหมาะสมกับความต้องการของพืช
7. การเก็บเกี่ยว กุยช่ายสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 6 เดือน เริ่มทำการเก็บดอกได้ ส่วนถ้าตัดต้นขาย จะเริ่มเมื่ออายุ 1 ปี เพื่อเลี้ยงกอให้มีขนาดใหญ่ การเก็บดอกใช้มือเด็ดดอกที่ยังไม่บาน (หากบานจะเป็นดอกที่แก่แล้ว แต่ควรเก็บดอกด้วย) และสูงเท่าระดับใบยอดนำมาคัดขนาด มัดเป็นกำๆ ด้วยยางวง ตัดโคนก้านดอกคงเหลือก้านดอกยาว 30-40 เซนติเมตร ส่วนการตัดต้นใช้มืดคมๆ ตัดโคนชิดดิน นำไปล้างน้ำ แต่งใบ ลอกใบที่ถูกทำลาย หรือใบล่างที่มีสีเหลืองออก มัดละ 1 กิโลกรัมด้วยยางวงขนาดใหญ่ รอการจำหน่าย
8. โรค ที่พบคือ โรคต้นและดอกเน่า และโรคต้นเหลืองแคระแกรน ป้องกันกำจัดโดยการตากดิน ใส่ปูนขาว ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก และการจัดการดินที่ดี ส่วนจุดที่เป็นโรค ถากดินทิ้งแล้วโรยด้วยปูนขาว
9. แมลง ที่พบคือ หนอนชอนใบ ป้องกันกำจัดโดยการพ่นด้วยอะมาเม็กติน
Category: พืชผัก, พืชผัก ก-ณ