banner ad

ขมิ้นชัน

| November 22, 2012 | 0 Comments

ขมิ้นชัน (Turmeric) Curcuma longa L.

เป็นไม้ล้มลุก มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งที่ปลูกขมิ้นชันเป็นการค้าขนาดใหญ่ของโลก คือ อินเดีย ขมิ้นชันมีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า (เหง้า) และแตกแขนงเป็นแง่ง เนื้อในสีเหลืองอมส้ม ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นลำต้นเทียม ประกอบด้วยกาบใบซ้อนทับกันเป็นชั้นจากโคนถึงปลาย ใบเป็นใบเดี่ยว ยาวรี ปลายใบแหลมเป็นรูปหอก เส้นกลางใบเห็นชัดเจนทางด้านล่างของใบ เมื่อโตเต็มที่มีใบ 6-10 ใบ ดอกออกเป็นช่อสีขาว มีใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีขาว ถ้าปลูกในที่โล่งแจ้งหรือมีแสงรำไรจะเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าแสงน้อยเกินไปผลผลิตจะลดลง ชอบอากาศร้อนชื้น ดินร่วนปนทราย มีอินทรีย์วัตถุอุดมสมบูรณ์ การระบายน้ำดี ไม่ทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขัง

ขมิ้นชันที่ดีในตลาดโลกมีมากกว่า 50 สายพันธุ์ ส่วนมากมาจากอินเดีย ส่วนในประเทศไทย มีการรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ดี ส่วนใหญ่ใช้พันธุ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ขมิ้นชันทับปุด (พังงา) และขมิ้นชันตาขุน (สุราษฎร์ธานี) ปี 2564 พื้นที่เพาะปลูก 67,520 ไร่ ผลผลิต 166,506 ตัน มูลค่า 2,497 ล้านบาท พื้นที่ปลูกขมิ้นชันประมาณ 5,000 ไร่ร้อยละ 90 อยู่ในภาคใต้ แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ชุมพร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และกาญจนบุรี ผลผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 6,000 ตัน โดยร้อยละ 95 ใช้ภายในประเทศ ที่เหลือส่งออกไปต่างประเทศ ปี 2564 ประเทศไทยมีการส่งออกขมิ้นชันมูลค่า 112.77 ล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ อินเดีย ร้อยละ 66.1  การนำเข้าขมิ้นชันของไทย พบว่า มีการนำเข้าขมิ้นชันในปี 2564 มูลค่า 45.18 ล้านบาท โดยนำเข้าจากประเทศเมียนมา มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.2 รองลงมาคือประเทศอินเดีย 8 ร้อยละ 36.7  ราคาผลผลิตขมิ้นชัน โดยปกติราคาผลผลิตจะต่ำช่วงเดือนมกราคม และจะเริ่มขยับ ขึ้นช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และจะมีราคาสูงสุดช่วงเดือนมิถุนายน

-ราคาขมิ้นชันหัวสดมีค่าต่ำสุด คือ 5 บาทต่อกิโลกรัม และราคาสูงสุด คือ 30 บาทต่อกิโลกรัม

-ราคาขมิ้นชันแห้ง ขายกิโลกรัมละ 80-150 บาท โดยผลผลิตสด 1,000 กิโลกรัม เมื่อทำแห้ง จะเหลือน้ำหนัก 300 กิโลกรัม และน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชัน 1 กิโลกรัม (1,100 มิลลิลิตร) ขายในกิโลกรัมละ 4,500 บาท

การปลูก

ปลูกบนร่องสูง25 เซนติเมตรกว้าง2 เมตรระยะระหว่างร่อง80 เซนติเมตรวางท่อนพันธุ์ขมิ้นชัน (เหง้าและแง่ง) อายุ 11-12 เดือน ตัดเป็นท่อนให้มีตาติดอยู่ 2 ตาขึ้นไป วางในหลุมปลูก ลึก 5-10 เซนติเมตรระยะปลูก 35 x50 เซนติเมตรใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง หลังปลูก 1 เดือนและ 3 เดือน ให้น้ำสม่ำเสมอในระยะแรกของการเจริญเติบโต และลดลงเรื่อยๆ จนงดให้น้ำเมื่อถึงระยะเก็บเกี่ยว

การปลูกเพื่อการค้า ใช้ท่อนพันธุ์ 400 กิโลกรัม/ไร่ ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวได้หลังจากปลูก 9-11 เดือน (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) จะทำให้ได้ผลผลิตที่เหง้าสมบูรณ์เต็มที่ สามารถเก็บรักษาได้นาน ไม่ควรเก็บเกี่ยวในระยะที่ขมิ้นชันเริ่มแตกหน่อ เพราะจะทำให้สารสำคัญเคอร์คูมินอยด์ต่ำ การปลูกขมิ้นชันเป็นพืชหลัก จะได้ผลผลิตสดประมาณ 3,000 กก./ไร่

การใช้ประโยชน์

เหง้าขมิ้น ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (volatile oil) สีเหลืองอ่อน และสารสำคัญเคอร์คูมินอยด์ (curcuminoids) ตามข้อกำหนดในตำรายาสมุนไพรของไทย ระบุว่าต้องมีปริมาณเคอร์คูมินอยด์ไม่ต่ำกว่า 5% และน้ำมันหอยระเหยไม่ต่ำกว่า 6% ขมิ้นชันนำไปใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ทำลูกประคบ เป็นยาสมุนไพรรับประทานรักษาอาการแน่นจุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ สมานลำไส้ รักษาบาดแผลเรื้อรัง หรือทารักษากลากเกลื้อน ทากันยุง

สถานการณ์การผลิตขมิ้นชันของโลก

การผลิตขมิ้นชันของโลก

ในปี 2564 ประเทศอินเดียเป็นผู้ผลิตขมิ้นชันรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 78 ของการผลิตขมิ้นชันทั้งหมดในตลาดโลก[1]  มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 1.82 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 585 กิโลกรัมต่อไร่ แหล่งผลิตขมิ้นในอินเดีย ได้แก่ Telangana, Maharashtra, Karnataka, Tamil Nadu, Andhra Pradesh, Madhya Pradesh and West Bengal  ซึ่งผลผลิตในอินเดียมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และเหลือสำหรับการส่งออกปีละประมาณ 1.36 แสนตัน หรือประมาณ 10% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด สำหรับประเทศผู้ผลิตรองลงมา คือ ประเทศจีน เมียนมา ไนจีเรีย และบังคลาเทศ

ในปี 2565 – 2566 อินเดียส่งออกขมิ้นชันเพิ่มขึ้นเป็น 1.70 แสนตัน โดยประเทศผู้นำเข้าขมิ้นชันรายใหญ่จากอินเดีย ได้แก่ บังคลาเทศ (34,523 ตัน) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (18,980 ตัน) อิหร่าน (12,223 ตัน) โมร็อกโก (10,663 ตัน) สหรัฐอเมริกา (7,009 ตัน) และมาเลเซีย (6,829 ตัน)  ปัจจุบันพบว่าความต้องการผลผลิตขมิ้นชันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย

โดยปี 2565-2566 ตามการคาดการณ์ล่วงหน้าการผลิตขมิ้นชันของ Telangana, อินเดีย ครั้งที่ 3 อยู่ที่ 1.60 แสนตัน เพิ่มจากเดิม 0.23 แสนตันต่อฮ่า (0.56 แสนตัน/เอเคอร์) โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 7,080 กิโลกรัม/เฮกตาร์ (2,865 กิโลกรัม/เอเคอร์) หรือ  1,132.8 กิโลกรัม/ไร่  ซึ่งมีการคาดการณ์ผลผลิตขมิ้นชันของอินเดียจะลดลงร้อยละ 15 ถึง 20  เนื่องจากการเปลี่ยนพันธุ์ขมิ้นชันจากเดิมพันธุ์ ‘Pratibha’ ไปเป็นพันธุ์ใหม่ที่มีอายุเก็บเกี่ยวนานกว่าเดิม (8 ถึง 9 เดือน) ประกอบกับแหล่งปลูกขมิ้นชันได้รับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญ  ที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตและคุณภาพของขมิ้นชัน  ส่งผลให้ราคาขมิ้นชันปี 2567 ผันผวนระหว่าง 1.57 ถึง 1.60 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม  คาดว่าในปี 2567 ราคาขมิ้นชันของอินเดียจะไม่ต่ำกว่า 1.44 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม

จากความต้องการขมิ้นชันที่สูงขึ้นและสภาพอากาศในเอเชียมีความผันผวนสูงขึ้น จึงมีแนวโน้มจะมีการส่งเสริมให้ปลูกขมิ้นชันในแอฟริกามากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยมีการปลูกขมิ้นชันในประเทศเอธิโอเปีย เอริเทรีย โมร็อกโก แทนซาเนีย โซมาเลีย และไนจีเรีย เพื่อใช้มันในอาหารแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ยังมีปริมาณการส่งออกน้อยมาก และมีแนวโน้มจะส่งเสริมการปลูกในภูมิภาคเขตร้อนอื่น ๆ ในแอฟริกา อเมริกา และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มขึ้นด้วย

สถานกาณ์การส่งออก นำเข้า ของตลาดโลก

ในปี 2567 มีการส่งออกขมิ้นชันจากข้อมูล International Trade Centre คิดเป็นมูลค่าประมาณ 130,472.2 ล้านบาทของตลาดโลก โดยประเทศจีนเป็นผู้ส่งออกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของการส่งออกในตลาดโลก มีปริมาณการส่งออกประมาณ 478,412 ตัน คิดเป็นมูลค่า 28,887.6 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเทศอินเดีย คิดเป็นร้อยละ 16.8 ของการส่งออกในตลาดโลก มีปริมาณการส่งออกประมาณ 441,755 ตัน คิดเป็นมูลค่า 21,920.84 ล้านบาท

ในขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 10 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 2 ของการส่งออกในตลาดโลก มีปริมาณการส่งออกประมาณ 66,248 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,562.98 ล้านบาท สำหรับการนำเข้า พบว่า มีมูลค่าการนำเข้าขมิ้นชันรวมทั้งสิ้น 142,408.76 ล้านบาทของการนำเข้าในตลาดโลก โดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำเข้ามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 11.8 มีปริมาณการนำเข้าประมาณ 162,419 ตัน คิดเป็นมูลค่า 16,860.20 ล้านบาทรองลงมาเป็นเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี ในขณะที่ไทยนำเข้าร้อยละ 1.1 เป็นอันดับที่ 26 ของโลก

สถานการณ์การส่งออก – นำเข้าของไทย

สำหรับข้อมูลสถาณการณ์ขมิ้นชันเกี่ยวกับการส่งออกและการนำเข้าในระบบการค้าระหว่างประเทศ โดยมีพิกัดอัตราอากรกรมศุลกากร (Harmonized System Code: HS Code) คือ HS 091030 จะปรากฏข้อมูลขมิ้นชันแห้งโดยมีปริมาณการนำเข้าและส่งออกที่แตกต่างกันในแต่ละปีของแต่ละประเทศคู่ค้า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการส่งออกขมิ้นชันมูลค่า 112.77 ล้านบาท โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ อินเดีย ร้อยละ 66.1

การนำเข้าขมิ้นชันของไทย พบว่ามีการนำเข้าขมิ้นชันในปี 2564 มูลค่า 45.18 ล้านบาท โดยนำเข้าจากประเทศเมียนมามากที่สุด ร้อยละ 65.2 รองลงมาคือ ประเทศอินเดีย[2] ร้อยละ 36.7 นอกจากนี้ การนำเข้าสารสกัดขมิ้นชัน พบว่า เมื่อปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณการใช้สารสกัดขมิ้นชันในประเทศมีจำนวน 5,094 กิโลกรัม มูลค่า 39.8 ล้านบาท ได้มาจากการนำเข้าจำนวน 1,595 กิโลกรัม มูลค่า 8.39 ล้านบาท และผลิตเพื่อใช้เองจำนวน 3,499 กิโลกรัม มีมูลค่า 31.4 ล้านบาท

สถานการณ์การผลิตขมิ้นชันของไทย

ประเทศไทย มีเนื้อที่เพาะปลูกขมิ้นชันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 1,243.5 ไร่ และเพิ่มขึ้นเป็น 7,685 ไร่ ในปี 2558 หลังจากนั้น ในปี 2559 มีเนื้อที่ปลูกลดลงเหลือ 4,393.5 ไร่ และในปี 2563 มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 5,206 ไร่ โดยแหล่งผลิตขมิ้นชันที่สำคัญในประเทศไทย คือ จังหวัดมหาสารคาม สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช พัทลุง ชุมพร และสระบุรี  ทั้งนี้ในปี 2563 มีผลผลิตขมิ้นชันที่เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 3,487,623 กิโลกรัม โดยจังหวัดกาญจนบุรีมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด คิดเป็น 46.8 ของพื้นที่ปลูกขมิ้นชันทั้งหมดของประเทศไทย

แม้ว่าขมิ้นชันสามารถปลูกได้ทั่วประเทศไทย ผลผลิตขมิ้นชันที่ได้จะแปรผันไปตามแหล่งปลูกและวิธีการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตทำให้ผลผลิตที่ได้มีผลผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก  เดิมปี 2562 ผลผลิตขมิ้นชันเฉลี่ย 2,038 กิโลกรัม/ไร่  แต่ปัจจุบัน (2563 – 2567) ค่าเฉลี่ยผลผลิตขมิ้นชันลดลงหลือ 1,700 กิโลกรัม/ไร่   พบว่าในจังหวัดสุราษฎรธานีที่เป็นแหล่งปลูกขมิ้นชันแหล่งใหญ่ของไทย เพียงร้อยละ 57.76 ของแปลงผลิต ที่ให้ผลผลิต 1,001 – 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือผลิตเฉลี่ย 495 – 2,800 กิโลกรัม/ไร่  โดยแหล่งปลูกที่สูงจะให้ผลผลิตสูงกว่าพื้นที่ราบ เนื่องจากในช่วงฤดูมรสุม (สิงหาคม-ตุลาคม) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักประสพปัญหาน้ำท่วมขัง ประกอบกับช่วงนั้นต้นขมิ้นชันสะสมอาหารในเหง้า ทำให้ติดโรคเหี่ยว (bacterial wilt of turmeric) ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อสาเหตุจากแหล่งระบาดน้ำเข้ามาในแปลงปลูก ทำให้เหง้าขมิ้นชันเน่าเสียได้ง่ายกว่าช่วงอื่น

ในปี 2565 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (THAI GEOGRAPHICAL INDICATION)  หมายเลข สช 65100192 ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรับรองแหล่งผลิตขมิ้นชันสด ขมิ้นชันแห้ง ผงขมิ้นชัน และน้ำมันสกัดจากขมิ้นชัน ในพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย อำเภอพนม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอท่าฉาง และอำเภอกาญจนดิษฐ์

ด้านราคาผลผลิตขมิ้นชัน โดยปกติราคาผลผลิตจะต่ำช่วงเดือนมกราคมและจะเริ่มขยับขึ้นช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และจะมีราคาสูงสุดช่วงเดือนมิถุนายน สำหรับราคาขมิ้นชันหัวสด มีค่าต่ำสุด คือ 5 บาทต่อกิโลกรัมและราคาสูงสุด คือ 30 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตในแต่ละปี และราคาขมิ้นชันแห้ง ขายกิโลกรัมละ 80-150 บาท โดยผลผลิตสด 1,000 กิโลกรัม เมื่อทำแห้ง จะเหลือน้ำหนัก 300 กิโลกรัม และน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชัน 1 กิโลกรัม (1,100 มิลลิลิตร) ขายในกิโลกรัมละ 4,500 บาท

 

สถานการณ์การผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากขมิ้นชันของไทย

ในปัจจุบัน ผลผลิตขมิ้นชันส่วนใหญ่ถูกใช้ในประเทศในสัดส่วนร้อยละ 98   และ ส่งออกในสัดส่วนร้อยละเพียง  2 %  โดยตลาดขมิ้นชันในประเทศ แยกเป็น 1. การใช้บริโภคผสมในอาหารและเครื่องเทศในสัดส่วนร้อยละ 95 และ 2. ใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมยาในสัดส่วนร้อยละ  2 ซึ่งการแปรรูปขมิ้นชันในภาคอุตสาหกรรมไทย แบ่งผลิตภัณฑ์ สามารถแบ่งออก  3 กลุ่ม ได้แก่

1.อุตสาหกรรมยา แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 1.1  ยาใช้ภายใน มีทั้งในรูปแบบ แคปซูล ยาเม็ดและยาน้ำ โดยได้สรรพคุณมาจากสารเคอร์คิวมินในขมิ้นชันเป็นหลัก  และ 1.2 ยาใช้ภายนอก ส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคผิวหนังในรูปแบบของยาเหลืองหรือยาหม่อง  โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยา ส่วนใหญ่ 70% อยู่ในรูปแคปซูล ซึ่งง่ายต่อการรับประทาน พกพาสะดวกและง่ายต่อการเก็บรักษา  จึงมีความนิยมในตลาดภายในประเทศมากกว่ายาชนิดน้ำและชนิดเม็ด และขณะเดียวกัน ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศหลายประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 2.1  ผลิตภัณฑ์กลุ่มสปา เช่นน้ำมันหอมระเหย ผงขัดตัว ขัดหน้า โลชั่นบำรุงผิว เป็นต้น และ 2.2 ผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ แชมพู เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากขมิ้นชันในสัดส่วนร้อยละ  70  จะอยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนการจำหน่าย พบว่าจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในประเทศในสัดส่วนร้อยละ  70  และส่งออกไปต่างประเทศในสัดส่วนร้อยละ 30

2.อุตสาหกรรมอาหาร แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 3.1 เครื่องปรุงหรือเครื่องเทศ  3.2 เครื่องดื่ม และ3.3  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  โดยส่วนใหญ่เป็น ผลิตภัณฑ์ประเภทเสริมอาหาร ในสัดส่วนร้อยละ 50 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีการพัฒนาค้นคว้าวิจัยในด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สารสกัดเคอร์คิวมินอยด์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น  นวัตกรรมสารสกัดจากขมิ้นชันโดยอาศัยนาโนเทคโนโลยี วัตกรรมเพื่อสกัดสารเคอร์คิวมินอยด์ที่สามารถละลายน้ำได้ เป็นต้น และยังสามารถพัฒนาแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบเม็ด แคปซูล แบบน้ำ แบบผง เป็นต้น

 

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

 

Category: พืชสมุนไพร ก-ณ, พืชเครื่องเทศ

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news