banner ad

หมาก

| November 22, 2012 | 0 Comments

หมาก

(Betel Nuts) Areca catechu Linn. เป็นไม้ยืนต้นตระกูลปาล์มเช่นเดียวกับมะพร้าว ลำต้นเดี่ยว รูปทรงกระบอก ไม่มีแก่น ไม่แตกกอ การเจริญเติบโตช่วงแรกขยายออกทางด้านข้าง โคนต้นบริเวณผิวดินมีหน้าที่ผลิตราก มีขนาดใหญ่กว่าส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งส่วนนี้จะเจริญเฉพาะทางด้านความสูง ลำต้นที่เห็นเป็นข้อคือ รอยแผลที่เกิดจากโคนทางใบที่เหี่ยวแห้งหลุดไป รอยแผลนี้ใช้คำนวณอายุของต้นได้ ลำต้นมีเนื้อ เยื่อเจริญที่ปลายยอด เป็นจุดกำเนิดของใบ ประกอบด้วยโคนก้านใบหรือกาบใบ ก้านทางใบและใบย่อย ดอกหรือจั่นหมากจะเกิดที่ซอกโคนกาบใบ ดอกออกเป็นช่อใหญ่ ประกอบด้วยแกนกลางและกิ่งแขนงเล็กๆ ที่ปลายกิ่งแขนงนี้มีดอกตัวผู้ติดอยู่ โคนกิ่งมีดอกตัวเมีย ผลหมากมีลักษณะกลมหรือกลมรี ผลรวมกันเป็นกลุ่ม เรียกทะลาย ในหนึ่งทะลายมี 10-150 ผล ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เรียกหมากสดหรือหมากดิบ ผลแก่ผิวเปลือกสีเหลืองอมส้ม เรียกหมากสุกหรือหมากสง ผลประกอบด้วย

4 ส่วน คือ

1. เปลือกชั้นนอก เป็นเนื้อเยื่อบางๆสีเขียว เนื้อเป็นเส้นใยละเอียดเหนียว

2. เปลือกชั้นกลาง เป็นเส้นใยหนามากมองเห็นชัด

3. เปลือกชั้นใน เป็นเยื่อบางๆละเอียดอยู่ติดกับเนื้อหมาก

4. ส่วนของเมล็ดหรือเนื้อหมาก เมื่ออ่อนจะนิ่ม เนื้อส่วนผิวยังมีลายเส้นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล เนื้อจะสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้มแดง

พันธุ์หมาก แบ่งตามลักษณะของผลหรือทรงต้น ได้แก่ หมากผลกลมแป้นและผลกลมรี หมากพันธุ์ต้นสูง ต้นกลาง และต้นเตี้ย เป็นต้น

ถิ่นกำเนิด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่แพร่กระจายในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตก และอินเดีย ปี 2545ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น116,756 ไร่ ผลผลิตรวม 437,010 ตัน จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือ จังหวัดชุมพร รองลงมาได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระนอง ฉะเชิงเทรา พัทลุง ตรัง พังงา ระยอง นครปฐม และ สุราษฎร์ธานี หมากเป็นสินค้าส่งออกในรูปของหมากสดและหมากแห้ง การบริโภคหมากของไทยสูงถึง 88 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 12 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกในรูปหมากสดและหมากแห้ง

ปัจจุบันหมากมีบทบาทในแง่อุตสาหกรรมและยารักษาโรคมากขึ้น มีการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศได้แก่ ปากีสถาน ไต้หวัน แคนาดา ในปี พ.ศ.2548 ส่งออกหมากแห้งและสด 21,584 ตัน คิดเป็นมูลค่า 511,572,000 บาท จึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจพืชหนึ่ง ที่ปลูกเลี้ยงง่าย โรคแมลงรบกวนน้อย ต้นทุนต่ำ สามารถปลูกเป็นพืชแซมร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่น

การส่งออกหมากของประเทศไทย

 ปี 2557  787.81 ล้านบาท
 ปี 2558  1,043.57 ล้านบาท
 ปี 2559  1,252.43 ล้านบาท
 ปี 2560  1,178.24 ล้านบาท
 ปี 2561  2,193.23 ล้านบาท
 ปี 2562  2,074.35 ล้านบาท
 ปี 2563  2,316.55 ล้านบาท
 ปี 2564  5,236.20 ล้านบาท
 ปี 2565  2,554.49 ล้านบาท

 

การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดหมากที่มีอายุ 7-8 เดือน เปลือกสีเหลืองเข้ม ควรเพาะกล้าและชำก่อนนำลงปลูกในแปลงต่อไป สำหรับการเพาะกล้าในแปลงเพาะควรใช้วัสดุปลูกเป็นทราย ดินร่วนปนทราย หรือดินผสมขี้เถ้าแกลบ และมีการพรางแสง วางผลหมากให้นอนหรือขั้วผลอยู่ด้านบน และวางในทิศทางเดียวกัน พื้นที่1 ตารางเมตร วางได้ 600-700 ผล กลบด้วยวัสดุเพาะให้มิด รดน้ำให้ชุ่ม หลังเพาะ 2 เดือน จะแทงหน่อขึ้นมา จึงย้ายลงถุงชำ หรือแปลงชำ เมื่อต้นกล้าอายุ 6-8 เดือน หรือมีใบ 4-6 ใบ จึงย้ายปลูกในแปลง

- การชำ  ควรทำในถุงพลาสติกดีกว่าชำในแปลง เพราะสะดวกในการย้ายปลูก แต่การชำในถุงพลาสติกจะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า
- การชำในแปลง  แปลงชำควรเป็นดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี เตรียมแปลงขนาด 1 เมตร มีการพรวนดินก่อนชำ ใช้ระยะปลูก 20×20 ซม. (1 ตร.ม. ชำได้ 25 หน่อ) กลบดินให้มิดผลหมาก และในช่วงแรกต้องพรางแสง แล้วค่อยเพิ่มปริมาณแสงแดด จนหน่อหมากได้รับแสงเต็มที่ ให้น้ำทุกๆ 1-2 วัน ส่วนการชำในถุงพลาสติก ถุงชำที่ใช้มีขนาด 5×7 นิ้ว ดินที่ใช้เป็นดินร่วนผสมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เมื่อต้นกล้ามีอายุ 6-8 เดือน หรือมีใบ 4-6 ใบ จึงจะย้ายปลูก

การปลูก

หมากสามารถเจริญเติบโตได้ทั่วไป ชอบพื้นที่โล่ง ระบายน้ำดี ฤดูปลูกที่เหมาะสมช่วงเดือน พฤษภาคม- สิงหาคม ถ้าเป็นที่มีน้ำขังควรมีการยกร่องหรือทางระบายน้ำ ก่อนปลูกต้องมีการไถและพรวนอย่างน้อย 2 ครั้ง ควรเก็บตอไม้เศษไม้ออกเพราะเป็นแหล่งอาศัยของศัตรูพืชและปลวก รูปแบบการปลูกอาจเป็นแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า  ปลูกได้ทั้งแบบยกร่อง และแบบพื้นราบ แบบยกร่อง ระยะปลูก 3×3 เมตร ร่องกว้างประมาณ 3 เมตรซึ่งปลูกได้ประมาณ 100-170 ต้น/ไร่ สำหรับแบบพื้นราบ ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ปลูกได้ 400 ต้น/ไร่ ปลูกแบบสามเหลี่ยมใช้กล้า 461 ต้น/ไร่ แต่ถ้าปลูกบนร่อง จำนวนต้นจะลดลงขึ้นกับระยะระหว่างร่อง การปลูกแบบสี่เหลี่ยมควรทำสันร่องกว้าง 4 เมตร แบบสามเหลี่ยมควรทำสันร่องกว้าง 3.50 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ 3 แถว/ร่อง

การเตรียมหลุม  ถ้าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำควรขุดหลุม ขนาด 50×50×50 ซม. แต่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ขนาดหลุมเล็กกว่านี้ได้ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก และหินฟอสเฟต คลุกกับดินชั้นบนแล้วกลบหลุมด้วยดินที่เหลือใส่ปุ๋ยระหว่างต้น ประมาณ 1-4 ครั้ง/ปี ไม่ควรใส่ปุ๋ยขณะที่ผลหมากอ่อน เพราะจะทำให้ผลร่วง

ฤดูปลูก  ควรเป็นต้นฤดูฝน หลังจากที่มีฝนตกหนัก 1-2 ครั้ง
การปลูก  เวลาปลูกควรตั้งต้นกล้าให้ตรง และให้ด้านบนของผลอยู่ระดับผิวดิน กลบดินให้แน่นปักหลักค้ำเพื่อกันต้นโยก รดน้ำให้ชุ่ม ควรทำร่มบังแดด เพื่อลดการคายน้ำ และป้องกันไม่ให้ใบไหม้

หมากให้ผลผลิตเกือบตลอดปี แบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ

  1. หมากปี เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ตุลาคม ช่วงให้ผลมากคือ เดือน กรกฎาคม สิงหาคม
  2. หมากทะวาย เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ พฤษภาคม ซึ่งจะมีราคาแพงกว่าหมากปี

การเก็บเกี่ยวหมาก สามารถเก็บเกี่ยวได้เป็น 3 ช่วง คือ

  1. เก็บเมื่ออายุประมาณ 1.5 เดือนหลังดอกบาน เรียกว่าหมากอ่อน ซึ่งมีตลาดส่งเฉพาะคือ ไต้หวัน
  2. เก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุ 3-6 เดือน เปลือกผลมีสีเขียว เรียกว่าหมากสด
  3. เก็บเมื่ออายุ 7-9 เดือน เรียกว่าหมากแก่ หรือหมากสง เก็บเกี่ยวเมื่อหมากสุก ผลมีสีเหลืองจัด

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ : ควรเพาะทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาไว้ทำให้สูญเสียความงอก

ปฏิทินการปฏิบัติงานที่เหมาะสม
-  เพาะเมล็ด -  ทำได้ตลอดปี
-  ชำกล้า  -  2 เดือนหลังเพาะ
-  ย้ายปลูก -  6-8 เดือน หลังชำหรือมีใบ 4-6 ใบ

การทำหมากแห้งทำได้หลายวิธี ขึ้นกับอายุของหมากที่ใช้เป็นวัตถุดิบ เช่น หมากซอย หมากเจียน หมากหั่น หมากผ่าสอง เป็นต้น โดยมีอัตราส่วนหมากสด 1,000 ผล ทำหมากแห้งได้5 กิโลกรัมหรือ หมากแก่ (หมากสง) 1,000 ผล ทำหมากแห้งได้ 14-15 กิโลกรัม

 

การใช้ประโยชน์

1. ใช้ในพิธีทางศาสนา เช่น พิธีกรานกฐินเมื่อออกพรรษา

2. ใช้บริโภคเป็นของขบเคี้ยว ปัจจุบันคนนิยมกินหมากน้อย นอกจากประเทศไทยแล้ว มีประเทศพม่า อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ที่ประชาชนยังนิยมกินหมากเช่นเดียวกัน

3.ใช้เป็นยาสมุนไพร เช่น

- กำจัดหนอน ในเวลาที่วัวควายเป็นแผลมีหนอน หนอนก็จะตายหมด

- ใช้เป็นยาสมานแผล ใช้เมล็ด(เนื้อ)หมากมาปิด ทำให้เลือดหยุดไหล และแผลจะหายเร็ว

- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ (โดยเฉพาะผู้เลี้ยงไก่ชน จะนำผลแก่มาบดให้ไก่กิน)

- ใช้ขบเคี้ยว เพื่อรักษาเหงือก และฟันให้คงทน ซึ่งจะเห็นว่าคนแก่ที่กินหมาก ฟันจะไม่ค่อยเสีย

- ใช้รักษาอาการท้องเดิน ท้องเสีย

- ในยุโรป ใช้เป็นส่วนผสมของยาสีฟัน เชื่อว่าทำให้ฟันขาว

ราก นำมาต้มกิน แก้ปากเปื่อย ขับปัสสาวะ และโรคบิด

ใบ นำมาต้มกิน เป็นยาขับพิษ นำมาทาแก้คัน

4. ใช้ในทางอุตสาหกรรม ผลหมากเมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยาง และสารอัลลอยล์ Arecoline ซึ่งมีแทนนิน Tannin สูง จึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรมได้หลายชนิด เช่น ใช้ทำสีต่างๆ ใช้ย้อมแห อวน ทำให้แหและอวนนิ่ม อ่อนตัวยืดอายุการใช้งานได้นาน เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว ใช้สกัดทำยารักษาโรค เช่น ยาสมานแผล ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเดิน ท้องเสีย ยาขับพิษ ยาทาแก้คัน น้ำมันนวด ยาขับปัสสาวะ และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น ใช้สกัดเป็นน้ำยาฟอกหนัง จำทำให้หนังนิ่ม และมีสีสวย ที่ประเทศอินเดียมีจำหน่ายในชื่อต่างๆกันคือ Gambier catechu, Begal catatechu ,Bombaycatechu

5. ใช้ในประโยชน์อื่นๆ เช่น กาบใบใช้ทำปลอกมีด ทำพัด ลำต้นใช้ทำเสา ทำสะพาน และทำเฟอร์นิเจอร์ จั่นหรือดอกหมาก เมื่อยังอ่อนอยู่ใช้รับประทานเป็นอาหาร ยอดอ่อนใช้ปรุงอาหาร

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ย-ฮ

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

banner ad

Hit Counter provided by technology news