ขิง
ขิง
ชื่ออื่นๆ : ขิงเผือก ขิงแดง ขิงแกลง สะแอ เกีย
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE
ชื่อสามัญ : Ginger
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Roscoe
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดินขึ้นเป็นกอ แทงหน่อใหม่ออกก้านข้างหนอสด ลำต้นแท้จะเป็นข้อๆ เนื้อในสีขาวหรือเหลืองอ่อน สุดข้อจะเป็นยอดหรือต้นเทียม ซึ่งมีกาบหรือโคนใบหุ้มเป็นใบเดี่ยวรูปหอกเกลี้ยงๆ ออกเรียงสลับกันเป็น 2 แถว หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางน้ำปลายใบโคนใบสอบและเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ดอกสีขาวออกเป็นช่อรูปเห็ดหรือกระบอง ซึ่งแทงขึ้นมากจากเหง้า ทุกดอกมีกาบสีเขียวปนแดงรูปโค้ง ช่อรองรับ กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 3 กลีบ โคนกลับ ดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้าง ผลกลมโตและแข็งมีเมล็ดสีดำ
สถานการณ์ฺ
ปี 2564 พื้นที่เพาะปลูก 35,421 ไร่ ผลผลิต 177,105 ตัน มูลค่า 2,113 ล้านบาท
การนำไปใช้ประโยชน์
- ทางอาหาร ใช้กินกับซุปหน่อไม้ ส้มตำ หัวใช้ผสมกับกระชายทำน้ำยาขนมจีน
- ทางยา ใช้หัวต้มน้ำดื่มแก้ไอ คนคลอดใหม่ เอาหัวผสมกระเทียมสด เกลือ มะนาว กินขับน้ำคาวปลา ขับลม ช่วยทำให้ผมงอก โดยนำเหง้าขิงมาเผาไฟตำ ผสมน้ำขยี้ให้ทั่วศีรษะ
การขยายพันธุ์ : เหง้า
การปลูกและการดูแล : ขิงใหญ่ ลักษณะของตาที่ปรากฏแง่งจะกลมมน เมื่อเจริญเป็นลำต้นและแตกใบแล้วมีปลายบานกว่าของขิงเล็ก และลำต้นมีความสูงกว่าเหมาะที่จะปลูกขยายเป็นขิงอ่อน ขิงเล็กหรือขิงเผ็ด ลักษณะของตาที่ปรากฏบนแง่งขิงนั้นแหลม เมื่อเจริญเป็นลำต้นและแตกใบแล้วมีปลายใบแหลม แง่งจะแตกแขนงหรือแตกกอดี ไม่นิยมปลูกขายเป็นขิงอ่อน มักทำเป็นขิงแห้งเพราะให้น้ำหนักดี ใช้เป็นสมุนไพรประกอบรักษาโรค และวิเคราะห์เอาน้ำมัน
การเตรียมดิน ขิงชอบดินร่วนซุย การระบายน้ำสะดวกจึงต้องเตรียมดินอย่างดี ทำการไถดินอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการไถบุกเบิกพื้นที่ เพื่อปรับระดับดินให้มีความสม่ำเสมอ ส่วนครั้งที่ 2 ที่ 3 เป็นการไถดินใช้ความลึกประมาณ 20-25 ซม. และไถแปร เพื่อคลุกเกล้าดินหญ้าและวัชพืชและตากดินไว้ ส่วนครั้งที่ 4 เป็นการไถพรวนเพื่อย่อยดินให้ละเอียด เก็บเศษหญ้าแห้งและวัชพืชที่ไม่เน่าเปื่อยออก แล้วทำการยกร่องให้สูงประมาณ 15-20 ซม. วางท่อนพันธุ์ลงในหลุมๆละ 1 ท่อน หลุมลึกประมาณ 4-5 ซม.ใช้ระยะระหว่างหลุม 20-25 ซม. และระยะระหว่างแถว 50-70 ซม. เมื่อปลูกเสร็จใช้ใบไม้ใบหญ้าคา ใบอ้อยหรือเศษหญ้า คลุมในตลอดทั้งสันร่องและสันร่อง
การดูแล การใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของดินเป็นสิ่งจำเป็นควรใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยอินทรีย์
สรรพคุณ
ต้น ขับลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่นท้อง บำรุงไฟธาตุ รักษานิ่ว ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ
ใบ บรรเทาอาการฟกช้ำจากการล้มหรือกระทบกระแทก ดอก รักษาโรคนิ่ว ผล รักษาอาการไข้ บำรุงน้ำนม ตาฟาง วิงเวียนศีรษะ
ราก จะมีรสเผ็ดและขม ทำให้หลอดคอโปร่ง
เหง้า ใช้เป็นเครื่องเทศ ทำเครื่องดื่ม กลบรส แต่งกลิ่น
โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute
Category: พืชผัก, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ, พืชเครื่องเทศ