โกฐจุฬาลำพา
โกฐจุฬาลัมพา
ชื่ออื่นๆ : โกฐจุฬาลำพา พิษนาด แซไหง ไง่เฮียะ
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE
ชื่อสามัญ : Mugwort
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artemisia vulgaris Linn.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุก โคนต้นมีราก เป็นเหง้าติดพื้นดินหรืออยู่ใต้ดิน กิ่งก้านมีราก แตกออกมาก ใบออกเรียงสลับ ลักษณะหยักเป็นซี่ 2-3 ซี่ ปลายใบแหลมพื้นผิวใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อตั้งตรง ตามง่ามใบและปลายดอก เป็นดอกขนาดเล็ก โคนดอกเชื่อมติดกัน ปลายหยัก 2-3 แฉก ดอกวงนอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังปลาย กลีบดอกหยัก 4-5 แฉก ปลายแหลม เมล็ดเกลี้ยงรูปไข่
การนำไปใช้ประโยชน์ : ใบ ใช้เป็นยาถ่ายน้ำเหลืองเสีย แก้ท้องร่วง ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ ขับลมในลำไส้ แก้ไขข้ออักเสบ ระงับการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้ประจำเดือนมาปกติ บำรุงมดลูก ระงับอาการปวดท้องและอาการเจ็บท้องคลอดลูก โดยการใช้ใบต้มเอาน้ำดื่ม ใช้ภายนอก นำใบสดมาตำให้ละเอียดและนำมาพอกแก้โรค ปวดศีรษะ รักษาบาดแผลเรื้อรัง แก้อาการเคล็ดบวม ใบและช่อดอก ใช้ต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ขับเสมหะ
แก้หืด อาหารไม่ย่อย
การขยายพันธุ์ : เมล็ด
การปลูกและการดูแล : การปลูก ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี ไม่มีน้ำขังแฉะ แสงครึ่งวันหรือตลอดวัน cละมีอากาศเย็น พบปลูกในภาคกลาง เพื่อใช้เป็นยาสมุนไพร
สรรพคุณ
ราก ขับพยาธิรักษาโรคลม
ลำต้น ขับเสมหะ แก้หืด แก้ไข้จับสั่น ไข้เรื้อรัง ไข้รากสาด ประดง
ใบ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับระดู บีบมดลูก ขับน้ำเหลือง รักษากลากเกลื้อน แก้หืด แก้ประดง
ดอก ขับเสมหะ แก้หืด
ทั้งต้น แก้ไข้ที่มีผื่นขึ้นตามตัว เช่นหัด สุกใส ดำแดง ฝีดาษ ไข้รากสาด แก้หืด แก้ไอ และขับเสมหะ เป็นยาเร่งประสาท ขับลมแก้ตกเลือด ตำพอกแก้ลม แก้ช้ำใน แก้ปวดเมื่อยรูมาติก แก้บิด ปวดท้องหลังคลอด แก้ระดูมามากเกินไป
งานวิจัยปี 2554-58
โครงการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพโกฐจุฬาลำพา
1.การปรับปรุงพันธุ์โกฐจุฬาลำพา
1.1 การคัดเลือกพันธุ์โกฐจุฬาลำพา
- ปีแรก ปลูกโกฐจุฬาลำพา (S0) หลายแปลงย่อย ใช้วิธี Mass selection คัดเลือกต้นจากลักษณะภายนอก (phenotype) ผสมตัวเอง เก็บเมล็ด (S1) คัดเลือกได้ 6 สายพันธุ์ ปีที่ 2 ปลูกโกฐจุฬาลำพา (S1) 6 สายพันธุ์ คัดเลือกต้นจากลักษณะภายนอก (phenotype) ผสมตัวเอง เก็บเมล็ด (S2) คัดเลือกซ้ำเหลือ 3 สายพันธุ์
1.2 การทดสอบพันธุ์โกฐจุฬาลำพา
- ปลูกเปรียบเทียบ/ทดสอบ 3 สายพันธุ์ ร่วมกับพันธุ์ทั่วไป 1 พันธุ์ บันทึกข้อมูลลักษณะพฤกษศาสตร์ ลักษณะทางการเกษตร ปริมาณสาร artemisinin ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และอื่นๆ
2. การเขตกรรมโกฐจุฬาลำพา
2.1 ขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมของแปลงทดลองโกฐจุฬาลำพา
- ปลูกโกฐจุฬาลำพาแบบ Uniformity Trial ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ โดยมีระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 75 เซนติเมตร จำนวน 52 แถวๆ ละ 28 ต้น เก็บผลผลิต 48 แถวๆ ละ 24 ต้น (หน่วยย่อย) ติดต่อกันรวม 1,152 หน่วยย่อย โดยเว้นแถวริม 2 แถวโดยรอบ ชั่งน้ำหนักผลผลิตของแต่ละหน่วยย่อย นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และประมวลผลทางสถิติ
2.2 การปรับปรุงดินกรดเพื่อปลูกโกฐจุฬาลำพา
- เก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ความเป็นกรด-ด่างของดินและความต้องการปูนก่อนและหลังเก็บเกี่ยวทุกครั้งเตรียมพื้นที่โดยการไถ แล้วว่านปูนตามกรรมวิธีในอัตราที่วิเคราะห์ได้ ปลูกโกฐจุฬาลำพาในแปลงทดลอง บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโต ผลผลิต และการเป็นโรค วิเคราะห์ข้อมูล สรุปรายงานผลการทดลอง
3 ศึกษาการเพิ่มผลผลิตโกฐจุฬาลัมพาด้วยวิธีการกำจัดวัชพืชแบบต่างๆ
3.1 ศึกษาจุดวิกฤตของการแข่งขันระหว่างวัชพืชและโกฐจุฬาลำพา
- วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ มี 10 กรรมวิธี ประกอบด้วย 1.แข่งขันกับวัชพืชนาน 2 สัปดาห์หลังปลูก 2.แข่งขันกับวัชพืชนาน 4 สัปดาห์หลังปลูก 3.แข่งขันกับวัชพืชนาน 6 สัปดาห์หลังปลูก 4.แข่งขันกับวัชพืชนาน 8 สัปดาห์หลังปลูก 5.ปลอดวัชพืชนาน 2 สัปดาห์หลังปลูก 6.ปลอดวัชพืชนาน 4 สัปดาห์หลังปลูก 7.ปลอดวัชพืชนาน 6 สัปดาห์หลังปลูก 8. ปลอดวัชพืชนาน 8 สัปดาห์หลังปลูก 9.ปลอดวัชพืชตลอดฤดูปลูก 10.ไม่มีการกำจัดวัชพืชตลอดฤดูปลูก
3.2 ศึกษาวิธีการกำจัดวัชพืชด้วยวัสดุธรรมชาติในโกฐจุฬาลำพา
-วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ ประกอบด้วย 9 กรรมวิธี ได้แก่ 1) ควบคุมวัชพืชด้วยพลาสติกสีดำเทา 2) ควบคุมวัชพืชด้วยแผ่นชีวมวล 3) ควบคุมวัชพืชด้วยสแลนสีดำ 4) ควบคุมวัชพืชด้วยฟางข้าว 5) ควบคุมวัชพืชด้วยหญ้าคาแห้ง 6) ควบคุมวัชพืชด้วยถั่วเขียว 7) ควบคุมวัชพืชด้วยขี้เถ้าแกลบ 8) ควบคุมวัชพืชด้วยแรงงานจอบถาก 9)ไม่มีการกำจัดวัชพืช
3.3 ศึกษาการกำจัดวัชพืชแบบผสมผสานในโกฐจุฬาลัมพา
- วางแผนการทดลองแบบ Split plot in RCB มี 4 ซ้ำ ประกอบด้วย Main plot คือ การให้น้ำ มี 3 วิธีการ ส่วน Sub plot คือ การกำจัดวัชพืช มี 4 วิธีการ เตรียมดินให้ร่วนซุยด้วยการไถดะ ไถแปร แล้วคราดกลบ ทำการปลูกในแปลงย่อย 4 x 4 เมตร ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม หลุมละ 0.5 กรัม ใส่กรรมวิธีการกำจัดวัชพืชตามช่วงเวลาที่กำหนดตั้งแต่ 1-8 ส่วนกรรมวิธีที่ 9 กำจัดวัชพืชตลอดฤดูปลูก กรรมวิธีที่ 10 ไม่กำจัดวัชพืชเลยเป็นวิธีการเปรียบเทียบ ศึกษาวิธีการกำจัดวัชพืชด้วยวัสดุธรรมชาติในโกฐจุฬาลำพา ใช้วัสดุคลุมดินหลังย้ายกล้าปลูกตามกรรมวิธี ส่วนถั่วเขียวปลูกลงในแปลงย่อยแล้วคราดกลบลงในดิน ส่วนการทดองด้วยวิธีการแบบผสมผสานนั้นมีการให้น้ำมาก ปานกลาง และน้อย โดยมีที่เก็บกักน้ำ และวัดความชื้น ส่วนวิธีการกำจัดวัชพืชคัดเลือกวิธีการที่ดีเด่นเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ การเก็บข้อมูล ประสิทธิภาพการควบคุมวัชพืช โดยการประเมินด้วยสายตา 1-10 คือ 1 ไม่สามารถควบคุมวัชพืชได้ จนถึง 10 คือ ควบคุมวัชพืชได้ดีมาก ชนิดและน้ำหนักแห้งวัชพืชจากกรอบขนาด 0.5×0.5 เมตร จำนวน 2 จุด/แปลง การเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชปลูก นำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลทางสถิติ อธิบายผลและเขียนรายงานผลการทดลอง
Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ