กฤษณา
กฤษณา
ชื่ออื่นๆ เนื้อไม้ ไม้หอม กายูกาฮู กายูการู
ชื่อวงศ์ : THYMELAEACEAE
ชื่อสามัญ : Eagle-Wood
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นตรง เปลือกเรียบสีเทา เนื้อไม้อ่อนสีขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรี แกมขอบขนาน ผิวเป็นมัน ดอกช่อออกเป็นช่อเล็กๆ ที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวแถบเขียว ผลเป็นผลแห้งรูปวงรี เปลือกแข็งมีขนสีเทาเมื่อแก่จะแตก กลีบเลี้ยงจะเจริญติดอยู่กับผล
การนำไปใช้ประโยชน์ : แก่นไม้ เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำ ก็จะได้น้ำมันหอมออกมา ซึ่งเรียกว่า Agar- atar และ Chuwah เนื้อไม้บำรุงหัวใจ แก้อาเจียน แก้วิงเวียนศีรษะ ท้องร่วง โรคปวดตามข้อ
การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด
การปลูกและการดูแล : เป็นไม้พื้นเมืองที่ขึ้นอยู่ในป่าดงดิบธรรมชาติโดยเฉพาะในเขตป่าเขาใหญ่ที่มีการยอมรับว่าเป็นกฤษณาที่มีคุณภาพดีที่สุด ระยะปลูกใช้ 2×2 เมตร หรือ 400 ต้น/ไร่ กฤษณาเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดมากเพื่อการเจริญเติบโต แต่ต้องอยู่ในสภาพที่มีการถ่ายเทอากาศน้ำดี และสภาพอากาศต้องไม่ร้อน การปลูกกฤษณาสมารถปลูกแซมกับพืชนิดอื่นได้เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วกฤษณาจะขึ้นอยู่กับป่ายืนต้นชนิดอื่นจึงสามารถปลูกร่วมกันได้ เช่น ปลูกร่วมกับยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนไม้ผล มะพร้าว หรือไม้ป่า เช่น พยุง ประดู่ ต้นสักทอง การดูแล สำหรับการให้น้ำและใส่ปุ๋ยส่วนใหญ่แล้วผู้ปลูกจะนิยมขุดบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ภายในสวนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี และนิยมให้น้ำแบบน้ำหยดให้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด หรืออาจมีการให้น้ำร่วมกับการให้ปุ๋ยโดยหว่านปุ๋ยสูตร 16-11-14 อย่างบางเบาลงไปในอ่างเก็บน้ำแล้วส่งน้ำผ่านไปตามท่อที่มีหัวน้ำหยดอีกทีหนึ่งซึ่งต้องมีระบบการกรองที่ดีด้วย และการให้ปุ๋ยทางดินอาจต้องมีการวิเคราะห์ดินเพื่อทราบถึงปริมาณธาตุอาหารในดิน นอกจากนี้อาจใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อบำรุงดินบ้างเช่น เศษพืชต่างๆ และมูลสัตว์ สำหรับปุ๋ยเคมีอาจใช้สูตร 15-15-15, 16-16-16, 17-17-17, และ 16-11-14 ซึ่งเป็นปุ๋ยสูตรเสมอที่เป็นพื้นฐานในการบำรุงดิน ยิ่งบำรุงต้นกฤษณาให้มีการเจริญเติบโตและสมบูรณ์มากเท่าไรก็จะยิ่งได้ราคาดีมากเท่านั้น
สรรพคุณ : เนื้อไม้ บำรุงโลหิตในหัวใจ บำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ แก้ลม แก้ลมซาง แก้ลมอ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มชื่นใจ บำรุงกำลัง แก้ไข้ บำรุงโลหิต รักษาโรคปวดข้อ
แก่นไม้ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับ และปอดให้ปกติ
น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้มะเร็ง
ไม่ระบุส่วนที่ใช้ บำรุงโลหิต แก้ตับปอดพิการ แก้ไข้เบื่อ ขับเสมหะ บำรุง โลหิตในหัวใจ ทำตับปอดให้เป็นปกติ คุมธาตุ
โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute
Category: พืชน้ำมันหอมระเหย, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ