banner ad

โรคราน้ำค้าง

| November 29, 2023

โรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Peronospora parasitica)

1. พืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม ฯลฯ) พบโรคได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกจะเห็นบริเวณด้านบนใบมีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นแผลสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อราลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาตรงแผลบริเวณด้านใต้ใบ ถ้าโรคระบาดรุนแรงแผลจะลามขยายใหญ่ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต่อมาใบจะเหลืองและแห้ง หากเป็นโรคในระยะกล้า จะทำให้ต้นกล้าแคระแกร็น หรือตาย

**** ในกะหล่ำดอกและบรอกโคลี หากโรครุนแรงก้านดอกจะยืดและดอกอาจจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง

การป้องกันกำจัด

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค
2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20 – 30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง
4. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5 – 7 วัน
5. แปลงที่มีการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาดซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

2. ข้าวโพด โรคเกิดได้ตั้งแต่ข้าวโพดเริ่มงอก โดยพบจุดเล็ก ๆ สีเขียวฉ่ำน้ำบนใบอ่อน ต่อมาใบข้าวโพดมีสีเหลืองซีดโดยเฉพาะบริเวณยอด หรือใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับเขียวแก่ ในเวลาเช้าที่มีอากาศค่อนข้างเย็นและความชื้นสูง มักพบส่วนของเชื้อรา ลักษณะเป็นผงสีขาวจำนวนมากด้านใต้ใบ บางครั้งพบยอดข้าวโพดแตกเป็นพุ่ม ต้นแคระแกร็น ข้อถี่ ไม่มีฝัก หรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมาก หรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่จะไม่สมบูรณ์ เช่น มีเมล็ดจำนวนน้อย หรือไม่มีเมล็ดเลย

**** ข้าวโพดในระยะเริ่มปลูกถึงอายุประมาณ 30 วัน จะอ่อนแอต่อโรคนี้มาก

การป้องกันกำจัด

1. ควรใช้พันธุ์ต้านทาน และคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7 – 10 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ เมทาแลกซิล-เอ็ม 35% ES อัตรา 3.5 มิลลิลิตรต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 30 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
2. ในแหล่งที่เคยมีการระบาดของโรคหากพบว่ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรค คือ อุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง เมื่อข้าวโพดอายุ 5 – 7 วัน ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30 – 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน จำนวน 3 – 4 ครั้ง
3. ถอนต้นที่แสดงอาการของโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
4. พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

**** เชื้อสาเหตุโรคสามารถเข้าทำลายได้ตั้งแต่ข้าวโพดเริ่มงอก ซึ่งการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช หลังจากข้าวโพด อายุ 20 วันขึ้นไป จะไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้

Category: โรคพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news