กุ่มน้ำ
กุ่มน้ำ
ชื่ออื่น : กุ่ม รอเถาะ เหาะเถาะ อำเภอ ผักกุ่ม
ชื่อวงศ์ : CAPPARIDAEAE
ชื่อสามัญ : -
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva magna DC.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5-20 ม. ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบยาว 4-14 ซม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย ใบย่อยรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-6.5 ซม. ยาว 4.5-18 ซม. ปลายค่อยๆ เรียวแหลม ยาวประมาณ 2.5 ซม. โคนสอบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยวเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ 9-20 เส้น บางครั้งพบมีถึงข้างละ 22 เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ใบแห้งสีค่อนข้างแดง ใบย่อยไม่มีก้านหรือถ้ามียาวไม่เกิน 5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะถี่ ออกที่ยอด ช่อหนึ่งมีหลายดอก ก้านดอกยาว 4-7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ปลายแหลม กว้างประมาณ 2 มม. ยาว 2-4 มม. กลีบดอกสีขาว ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง รูปค่อนข้างกลมหรือรูปรี กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 1.5-3 ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว 0.5-1.2 ซม. เกสรเพศผู้สีม่วง มี 15-25 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 3.5-6.5 ซม. อับเรณูยาว 2-3 มม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 3.5-8 ซม. รังไข่รูปรีหรือทรงกระบอก มี 1 ช่อง ผลสีนวล รูปรี กว้าง 1.5-4.5 ซม. ยาว 5-8 ซม. เปลือกผลมีนวล ก้านผลยาว 8-13 ซม. หนา 3-5 มม. มีเมล็ดมาก เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปเกือกม้า ขนาดกว้างและยาวเท่าๆ กันคือ 6-9 มม.
การนำไปใช้ประโยชน์ :
– ทางอาหาร นำใบอ่อนและดอกอ่อนมาดองก่อน แล้วจึงนำไปรับประทาน หรือนำไปทำอ่อม คล้ายแกงขี้เหล็ก
- ทางยา อบสมุนไพรแก้อัมพาต แก่น ต้มรับประทานบำรุงเลือด เปลือกสด ตาก บดให้แห้ง บดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานเพื่อขับลม เปลือกต้ม กินเป็นยาขับปัสสาวะ ราก ใช้ฝนแก้ไข้
การขยายพันธุ์ : ปักชำ เมล็ด
การปลูกและการดูแล : นิยมปลูกตาม ริมน้ำที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน นำเมล็ดมาเพาะประมาณ 2-3 ปี จึงเริ่มผลิดอก
สรรพคุณ
- ราก แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับหนอง
- ใบ ขับเหงื่อ แก้ไข้ เจริญอาหาร แก้สะอึก ขับผายลม
- ดอก แก้เจ็บตา แก้เจ็บคอ แก้ไข้
- ลูก แก้ไข้
- เปลือกต้น แก้สะอึก ขับผายลม ขับเหงื่อ แก้ในกองลม แก้กระษัย แก้รีดสีดวงผอมแห้ง ผิวหนัง แก้ไข้ ขับน้ำดี แก้อาเจียน
– กระพี้ แก้รีดสีดวงทวารหนัก
– แก่น แก้นิ่ว
โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute
Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ก-ณ