banner ad

อะโวคาโด

| August 22, 2021

อะโวคาโด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Persea americana
ชื่อสามัญ avocado
วงศ์ Lauraceae

  เป็นไม้ผลขนาดกลางถิ่นกำเนิด ในทวีปอเมริกากลางตอนใต้ของเม็กซิโกถึงภาคกลางของเปรู กัวเตมาลา และหมู่เกาะเวสท์อินดิสท ลักษณะทางการเกษตร ทรงต้นแข็งแรง ทรงพุ่มทึบ ใบแก่สีเขียวเข้มหนาใหญ่ ยอดสีเขียวอ่อน บางพันธุ์ยอดสีแดง

ลักษณะผล  กลมใหญ่ เนื้อหนา ผิวผลเรียบสีเขียวเข้ม สุกสีม่วง ขนาดผลเฉลี่ย 300-400 กรัม ความหนาเนื้อ 20-28 มิลลิเมตร เปลือกหนา 1.5 มิลลิเมตร สีผิวด้านในเหลืองเข้ม (YELLOW GREEN 8 A) ผิวติดเปลือกสีเขียว (YELLOW GREEN 145 B) ความกว้างผล 105 มิลลิเมตร ความยาวผล 85 มิลลิเมตร มีรสชาติหวานมัน เหนียวปานกลาง เนื้อผิวเนียนมีเส้นสีน้ำตาล ออกดอกช่วงเดือนมกราคม เริ่มติดผลเดือนพฤษภาคม ฤดูเก็บเกี่ยวเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม

พันธุ์อะโวคาโด มี 3 กลุ่มคือ 1) เม็กซิกัน 2) กัวเตมาลัน 3) เวสต์อินเดียน

การแบ่งกลุ่มอะโวคาโดตามอายุการเก็บเกี่ยว

- พันธุ์เบา คืออาโวคาโดที่เก็บเกี่ยวผลผลิตอายุ 5-7 เดือน

- พันธุ์หนัก คือ อาโวคาโดที่เก็บเกี่ยวผลผลิตอายุ 8-12 เดือน

พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า 

1. พันธุ์แฮส  (Hass) ใบแหลมเรียว ผลรูปแพร์  ผิวขรุขระสีเขียวเข้ม  เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ  ผลมีขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ  200-300  กรัม  เนื้อสีเหลือง  เปลือกผลค่อนข้างหนา  เก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม- กุมภาพันธ์  มีไขมัน 20 เปอร์เซ็นต์ให้ผลดีในที่อากาศเย็น พื้นที่ปลูกสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตรขึ้นไป ระยะปลูก 8×8 เมตร
2. พันธุ์พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton) ปลูกได้ในพื้นที่มีความสูงแค่ 400-500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
3. พันธุ์บูช 7  (Booth-7) ลำต้นขนาดใหญ่ ใบใหญ่เป็นมัน  ผลค่อนข้างกลมป้านขนาด 300 กรัม ผิวผลขรุขระสีเขียว  เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน เมล็ดขนาดกลาง  เมื่อสุกผลมักจะตกกระ มีไขมัน  7-14  เปอร์เซ็นต์  ช่วงเก็บเกี่ยวผลเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม พันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูง
4. พันธุ์ปีเตอร์สัน  (Peterson) เป็นพันธุ์เบา ให้ผลผลิตก่อนพันธุ์อื่น ๆ คือประมาณเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ลักษณะผล กลม ใบเรียงซ้อนกันถี่ ๆ และเป็นมัน ใบอ่อนสีแดง ผลมีลักษณะกลม

การปลูกอะโวคาโดของประเทศไทยพื้นที่รวมทั้งหมด 30,000  ไร่ จาก 11 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ ราชบุรี แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก นครราชสีมา อุทัยธานี น่าน และ เลย  ผลผลิตต่อไร่ 586 กิโลกรัม ราคาขายได้ต่อกิโลกรัม 23.67 บาท

ปริมาณการนำเข้ามูลค่าเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่มาจากนิวซีแลนด์ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,200 ตัน มูลค่า 200 ล้านบาทต่อปี และจากเปรู เฉลี่ย 70 ล้านบาทต่อปี พันธุ์ที่นำเข้าคือ พันธุ์แฮส โดยจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า modern trade

การขยายพันธุ์ : เมล็ด หรือเสียบยอด
การเพาะเมล็ดอะโวคาโด ใช้ถุงดำขนาด 4×10นิ้ว ใช้วัสดุดินผสมแกลบดำ และขุยมะพร้าวอัตรา 1:1 เพื่อทำเป็นต้นตอ เมื่ออายุต้นกล้า 6-8 เดือน นำกิ่งจากต้นพันธุ์ดีมาเสียบยอด
การปลูก ทำการเพาะเมล็ดในเรือนเพาะชำ เสียบยอด เมื่อกล้าอายุ 10 เดือนขึ้นทำการย้ายปลูกลงแปลง ระยะปลูก 6×6, 8×8 เมตร ทำการให้น้ำ มีที่บังแดดในช่วงแรก หลังปลูก 1 เดือนใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมยูเรีย 46-0-0 อัตราส่วน 1:1  ปริมาณ 400 กรัมต่อต้น ใส่ทุก 3 เดือน
ศัตรูพืชที่สำคัญ
1.โรคจุดดำ หรือโรคแอนแทรคโนส (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides)

-อาการที่ใบ พบจุดแผลสีน้ำตาลเข้ม หากอาการรุนแรงแผลจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ใบจะแห้ง และร่วง

-อาการที่ก้านใบ กิ่ง และก้านช่อดอก พบแผลจุดหรือขีดสีม่วง ถ้าอาการรุนแรงแผลจะขยายลุกลาม ทำให้ก้านใบและกิ่งแห้ง หากเกิดที่ก้านช่อดอกจะทำให้ช่อดอกเหี่ยวแห้ง หลุดร่วงก่อนติดผล

-อาการที่ผล ผลอ่อนพบจุดแผลสีน้ำตาลถึงดำ หากอาการรุนแรงผลจะหลุดร่วงก่อนกำหนด อาการบนผลแก่ มักพบในระยะใกล้เก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว พบแผลจุดสีน้ำตาลถึงดำรูปร่างกลม ต่อมาแผลขยายลุกลามเป็นแผลยุบตัวในเนื้อผล ทำให้ผลเน่า บางครั้งพบเมือกสีส้มซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุโรคที่บริเวณแผล ผลร่วงพบได้ในช่วงมีฝนตกฝนตกหนักในระยะผลอ่อน

การป้องกันกำจัด

1. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบเริ่มมีอาการของโรค ตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค 2. กำจัดวัชพืชรอบโคนต้นเพื่อลดความชื้นสะสม 3. หากพบว่าเริ่มมีการระบาดของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรคลอราซ 45% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน 4. หลังจากเก็บผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง และขั้วผลที่ติดอยู่บนต้น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค

แมลงศัตรูพืช

1) แมลงค่อมทอง หรือ ด้วงงวงกัดกินใบ ตัวอ่อนหรือหนอน จะกัดกินราก ตัวเต็มวัย จะกัดกินใบอะโวคาโด้

ใบแหว่งหรือมีรูพรุน และสามารถกัดกินใบจนเหลือแต่กิ่ง บางครั้งเข้าทำลายช่อดอกด้วย

2)หนอนผีเสื้อระบาดมากในช่วง เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนธันวาคม ต้นที่ถูกกัดกินใบมากจะไม่ออกดอก เพราะเสียอาหารที่สะสมไป

3)เพลี้ยไฟระบาดในช่วงฤดูร้อน เป็นระยะแทงช่อดอกหรือดอกบาน เข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ช่อดอกสั้นลง หรือเข้าทำลายในระยะดอกบานจะทำให้ดอกแห้งร่วง บางครั้งเข้าทำลายขณะติดผลอ่อน ทำให้ผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมีตำหนิ

4)เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงที่กิ่งและใบ ทำให้ไม่เจริญเติบโต หรือดูคล้ายมีราดำจับตามกิ่งและใบ แต่นั่นคือ มูลของเพลี้ยที่ถ่ายออกมาทำให้ราดำเจริญเติบโต

5)เพลี้ยหอยมีหลายชนิดทำลายยอดอ่อนและใบของอะโวคาโด้ อาการที่พบคือ ด้านล่างของใบจะถูกดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ด้านบนของใบมีสีซีดเหลือง ถ้าเป็นที่กิ่งอ่อนจะทำให้กิ่งเหี่ยวแห้ง

6)หนอนเจาะกิ่งเป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน เข้าไปในส่วนของลำต้นและกิ่ง ทำโพรงอาศัยและกัดกินทำให้ใบของกิ่งแห้งเหี่ยว

ผลผลิต 2-4 ตันต่อไร่ ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 25-40 บาท

มาตรฐานการคัดเลือกเพื่อปรับปรุงพันธุ์

- คุณภาพผลผลิตและผลมีรูปทรงดี ผลมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ผลสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง มีน้ำหนักแห้งไม่ต่ำกว่า 19 เปอร์เซ็นต์ เนื้อหนามากกว่า 2.5 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดเล็ก

- เปลือกผลไม่บางเกินไปเพื่อทนต่อการขนส่ง ผลผลิตบนต้นไม่ร่วงง่ายเมื่อแก่จัด

- สีของเนื้อมีสีเหลือง เนื้อในมากกว่า 65% ขึ้นไป น้ำมัน 12-25% รสชาติดี เนื้อมีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นฉุนของเมล็ด เนื้อมีรสมัน-มันหวาน ไม่มีรสขม

- ติดผลดกและสม่ำเสมอ ให้ผลผลิตต้นละ 200 กิโลกรัมขึ้นไปเมื่ออายุ 10 ปี ต้านทานต่อโรคและแมลง

มาตรฐานอะโวคาโดแบ่งเกรดเป็น 3 ขนาด

1. “Extra Class” ต้องมีรูปร่าง คุณภาพ สี คุณสมบัติตรงตามพันธุ์และตรงตามความต้องการของตลาด การเก็บรักษาและสะดวกในการขนส่ง มีความทนทานสูงสุด 5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก Size code 2, 4, 6, 8

2. Class I ต้องมีรูปร่าง คุณภาพ สี คุณสมบัติตรงตามพันธุ์และตรงตามความต้องการของตลาด การเก็บรักษาและสะดวกในการขนส่ง มีข้อบกพร่องของผิวจากการถูกทำลายพื้นที่ผิวต้องไม่มากกว่า 4เซนติเมตร มีความทนทานสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก Size code 10, 12, 14

3. Class II ต้องมีรูปร่าง คุณภาพ สี คุณสมบัติตรงตามพันธุ์และตรงตามความต้องการของตลาด การเก็บรักษาและสะดวกในการขนส่ง มีข้อบกพร่องของผิวจากการถูกทำลายพื้นที่ผิวต้องไม่มากกว่า 6 เซนติเมตร มีความทนทานสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก Size code 16, 18, 20, 22, 24, 26, 28, 30, S2

Category: พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ย-ฮ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news