โลควอท
โลควอท
ชื่อสามัญ โลควอท(Loquat) หรือปีแป๋ (pipa) ในภาษาจีน หรือบีวะ (biwa) ในภาษาญี่ปุ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eriobotrya japonica
วงศ์ Roraceae
นักพฤษศาสตร์พบหลักฐานว่า แต่เดิมโลควอทมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ต่อมาได้ถูกนำเข้าไปปลูกในประเทศญี่ปุ่นจนมีชื่อเสียง และกระจายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางในทั้งในแถบเกาหลี ไต้หวัน ฝั่งยุโรป และอเมริกา ในปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้ผลิตโลควอทรายใหญ่ของโลก รองลงมา คือ ปากีสถาน ตุรกี สเปน และญึ่ปุ่น (ภาพที่ 1) มีหลากหลายสายพันธุ์แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่มีไม่กี่สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมและมีการปลูกอย่างแพร่หลาย เช่น พันธุ์ Zhaozhong และ Zhongjing ของประเทศจีน พันธุ์ Tomegi และ Mogi ของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น โดยโลควอทแต่ละสายพันธุ์ในแต่ละประเทศจะมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ในจีน โลควอทจะมีใบเรียว ผลมีลักษณะคล้ายลูกแพร์ ผลมีสีส้ม เนื้อไม่ฉ่ำน้ำมากนัก เมล็ดมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ส่วนในญี่ปุ่น ใบมีลักษณะแผ่กว้าง ผลเป็นรูปไข่ ผลมีสีเหลืองอ่อน เนื้อไม่ฉ่ำน้ำมาก เมล็ดขนาดใหญ่และมีจำนวนไม่มาก เป็นต้น ผลโลควอทมีรสชาติหวานหรือหวานอมเปรี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละพันธุ์ มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ตั้งแต่ 7%-20% มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระทั้งแคโรทีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ และวิตามินซี มีประโยชน์ในด้านการปรับระบบภูมิคุ้มกัน ชะลอความเสื่อมของอวัยวะ ส่งเสริมและควบคุมให้ระบบต่างๆของร่างกายทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ และมีสรรพคุณทางยา ซึ่งได้รับความสนใจในการศึกษาวิจัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสาร ursolic acid ที่พบทั้งในใบ ดอก และผล ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory activity) มีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเป็นยาชนิดใหม่เพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ เช่น เป็นส่วนผสมในยารักษาอาการไอ ขับเสมหะ และรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโลควอท
ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกมีผิวเรียบ มีสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน มีลักษณะทรงกลมรี ขอบใบหยัก พื้นผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ใบแข็งและหนา ก้านใบยาว ใบมีสีเขียว ดอกออกเป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 5-20 ซม. มีขนสีน้ำตาลปกคลุม ดอกมีสีขาว ลักษณะเป็นทรงกลมเล็กๆ ขนาดกว้างประมาณ 1.2-1.5 ซม. ด้านนอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ ถัดจากกลีบดอกเข้าไปมีเกสรเพศผู้อยู่ประมาณ 20 อัน ตรงกลางมีเกสรเพศเมีย 1 อัน โดยยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 5 แฉก ก้านดอกยาว 5-8 มม. มีกลิ่นหอม อาศัยแมลงในการผสมเกสร ผลเป็นทรงรี มีขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์ผลประมาณ 2-5 ซม. น้ำหนักผลเฉลี่ย 30 – 70 กรัม ติดผลเป็นพวง ผลมีสีเหลืองอมส้มคล้ายมะยงชิด ผิวผลและขั้วผลจะมีขนละเอียดนุ่มปกคลุม เนื้อโลควอทมีสีเหลือง ลักษณะฉ่ำน้ำ มีเมล็ดสีน้ำตาลหรือดำขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่ด้านในประมาณ 3-5 เมล็ด ความหวานแตกต่างกันไปในแต่ละพันธุ์
การขยายพันธุ์
โลควอทสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ วิธีการที่นิยมมากที่สุด คือการเพาะเมล็ด เนื่องจากให้ต้นที่มีระบบรากแข็งแรงมากกว่าวิธีอื่น โดยการนำเมล็ดมาเพาะในถุงเพาะชำ เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 3-4 เดือน จึงย้ายมาปลูกลงในแปลง สามารถให้ผลผลิตได้เมื่ออายุ 4-5 ปี ส่วนการปักชำและการตอนกิ่ง มีข้อดี คือ ได้ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์ ออกดอกและให้ผลผลิตได้เร็วกว่าต้นที่เพาะจากเมล็ด โดยสามารถให้ผลผลิตได้เมื่ออายุเพียง 2-3 ปี แต่อัตราการความสำเร็จของการปักชำและการตอนกิ่งก็แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งพันธุ์ สภาพพื้นที่ และสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน
การปลูก
โลควอทเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น โดยอุณหภูมิต่ำสุดไม่ควรต่ำกว่า 12 องศา และอุณหภูมิสูงสุดไม่ควรเกิน 35 องศา ถ้าได้รับอุณหภูมิสูงในระหว่างการพัฒนาผลจะทำให้สีผิวผลพัฒนาได้ไม่สม่ำเสมอ เกิดอาการไหม้สีน้ำตาล ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ สามารถแก้ไขได้ด้วยการพรางแสง พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามบริเวณไหล่เขาที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,000 ม. ระยะปลูกระหว่างแถวอยู่ที่ 2.0–2.5 ม. และระหว่างต้น 2.5–4 ม. ต้นโลควอทมีการตอบสนองที่ดีต่อการจัดทรงต้นและการตัดแต่งทรงพุ่ม จึงควรเริ่มทำการจัดทรงต้นตั้งแต่อายุน้อย โดยมีการตัดแต่งกิ่งให้มีกิ่งหลัก 3-4 กิ่ง ควบคุมทิศทางการเจริญเติบโตของกิ่งให้กิ่งก้านรับแสงได้ดี แสงส่องผ่านเข้าไปในทรงพุ่มได้ทั่วถึง และในต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว ตัดกิ่งที่อยู่ตรงปลายและผ่านการเก็บผลผลิตแล้ว กิ่งที่ถูกโรคหรือแมลงเข้าทำลาย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับติดดอกออกผลในฤดูกาลต่อไป นิยมให้ปุ๋ยเคมีสูตร 6-6-6 NPK ในอัตรา 0.1-0.3 กก. 3 ครั้งต่อปี โดยโลควอทจะให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ 20-40 กก.ต่อต้น ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา
โรคและแมลง
โรคที่สำคัญของโลควอท คือ โรคเหี่ยว (Crown Rot) ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Phytophthora ทำให้พืชแสดงอาการเหี่ยวตั้งแต่ยอด ใบ และผล รากและโคนต้นถูกทำลาย เกิดอาการรากเน่าโคนเน่า
แมลงศัตรูพืชที่สำคัญของโลควอท คือ แมลงวันผลไม้ (oriental fruit flies) ความเสียหายของผลผลิตเกิดจากตัวเต็มวัยเพศเมียของแมลงวันเข้าไปวางไข่ในผลผลิต ตัวหนอนกัดกินและพัฒนาอยู่ภายใน ทำให้ผลผลิตเน่าและร่วงก่อนกำหนด
การจัดการช่อและผล
การผลิตโลควอทมักประสบปัญหาที่สำคัญ คือ ผลมีขนาดเล็กกว่าที่ตลาดต้องการ ทำให้จำหน่ายไม่ได้ราคา แนวทางการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ คือ การตัดแต่งช่อดอกและผล (cluster thinning) เพื่อลดการแข่งขัน ทำให้ส่วนที่เหลือได้รับสารที่จำเป็นในการเจริญเติบโตมากขึ้น ผลจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเทคนิคที่ใช้ในการตัดแต่งก็จะแตกต่างกันไป เช่น โลควอทพันธุ์ Mogi ที่นิยมปลูกในไต้หวันจะทำการตัดแต่งให้เหลือประมาณ 3-5 ผลต่อช่อ และห่อผลเพื่อป้องกันความเสียหายจากการเข้าทำลายของแมลง
การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
โดยทั่วไป ในเขตภูมิอากาศหนาว โลควอทจะเริ่มออกดอกในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และเก็บผลผลิตได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ส่วนในเขตภูมิอากาศกึ่งร้อนชื้น โลควอทจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม – กันยายน ผลจะเริ่มสุกในเดือนกุมพาพันธ์ และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม โดยราคาจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลผลิต พิจารณาจากหลักเกณฑ์เบื้องต้น คือ ขนาดผล สีผล ความหวาน ความแน่นเนื้อ และไม่มีตำหนิต่าง ๆ มีราคาค่อนข้างสูงประมาณ 200 – 300 บาท/กก.
โลควอทจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลสุกเต็มที่ คือ สีผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มทั้งผล จึงส่งผลให้มีอายุการเก็บรักษาและอายุการวางจำหน่ายสั้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการจัดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องประมาณ 20°C – 25°C ผลโลควอทจะเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเก็บที่อุณหภูมิ 0°C – 2°C ร่วมกับการใช้สารเคมีจะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ประมาณ 1 เดือน
งานวิจัย
1. การรวบรวมและคัดเลือกสายต้นโลควอท
2. การศึกษาพัฒนาการของดอกและผลโลควอทที่ปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย
3.การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในผลผลิต
Category: พืชไม้ผล, พืชไม้ผล ย-ฮ