banner ad

มาตรฐานการขยายพันธุ์

| May 12, 2020

มาตรฐานการขยายพันธุ์

1.มาตรฐานเมล็ดพันธุ์

การผลิตเมล็ดพันธุ์ เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความรู้ และทักษะด้านต่างๆ จึงจะสามารถผลิตได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณลักษณะถูกต้องตรงตามพันธุ์มากที่สุด ตามที่นักปรับปรุงพันธุ์สร้างไว้ และมีคุณภาพเมล็ดพันธุ์ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้งในด้านความบริสุทธิ์ของพันธุ์ และความงอก ลักษณะเมล็ดพันธุ์ที่ดี มีดังนี้ คือ

1.ตรงตามพันธุ์ เมื่อนำไปปลูกสามารถได้ผลลิตสูงและคุณภาพดี
2.ความบริสุทธิ์ของพันธุ์สูง ไม่มีพันธุ์อื่นปลอมปน ปราศจากโรคและแมลง เมล็ดวัชพืชหรือสิ่งเจือปนอื่นๆ เช่น หิน ดิน ทราย เศษพืช เป็นต้น
3.ความงอกดี และมีความแข็งแรงสูงทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
4.ความชื้นต่ำ เพื่อช่วยลดอัตราการหายใจของเมล็ดให้ช้าลง และลดการเข้าทำลายของโรคและแมลงในระหว่างการเก็บรักษา

ชั้นของเมล็ดพันธุ์ แบ่งออกเป็น 4 ชั้นพันธุ์ คือ

1.เมล็ดพันธุ์คัด คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผสมพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์ โดยนักวิชาการเกษตร ซึ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นนี้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของผู้คัดเลือกพันธุ์โดยตรง และต้องอยู่ในความควบคุม ของสถาบันการเกษตรของแต่ละพืชที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518
2.เมล็ดพันธุ์หลัก คือ เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตจากเมล็ดพันธุ์คัด ให้มีคุณลักษณะทางสายพันธุ์และความบริสุทธิ์ของพันธุ์เดิมมากที่สุด การผลิตอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้คัดเลือกพันธุ์หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก ในความควบคุมและตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตร
3.เมล็ดพันธุ์ขยาย คือ เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตจากเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลักโดยหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองแล้ว โดยจะต้องรักษาและตรวจสอบคุณลักษณะทางสายพันธุ์และความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้
4.เมล็ดพันธุ์จำหน่าย คือ เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตจากเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย โดยจะต้องรักษาและตรวจสอบคุณลักษณะทางสายพันธุ์และความบริสุทธิ์ของพันธุ์ตามมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ การผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายผลิตได้โดยหน่วยงานหรือภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่ไดรับรองแล้ว เมล็ดพันธุ์ชั้นนี้ผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่าย จ่ายแจกให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูกต่อไป

มาตรฐานเมล็ดพันธุ์
1. ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่กำหนดมาตรฐาน ความงอก เมล็ดบริสุทธิ์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องคุณภาพและวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควบคุม พ.ศ. 2556 เล่ม 130 ตอนพิเศษ 58 ง ตอนพิเศษ 58 หน้า 26 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2556
2. ต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ในสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ในสถานที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้มีระบบการรักษาความสะอาดอยู่ในที่ร่มและให้มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวกตลอดเวลา
3. ต้องคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามความเหมาะสมของชนิดพืช
4. มีฉลากระบุชนิด จำนวน และวัน เดือน ปี ที่ผลิต
5. คำนิยามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ผัก

2.มาตรฐานกิ่งตอน

1.เป็นกิ่งตอนที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดีตรงตามพันธุ์ และมีการจัดการแปลงตามมาตรฐาน GAP
2.เป็นกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป ความยาวไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร
3.กิ่งตอนที่ตัดมาชำ รากต้องมีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด
4.ต้องชำในถุงเพาะชำตามมาตรฐานที่กำหนด ขนาด 4×9 นิ้ว
5.ใช้วัสดุเพาะชำที่เหมาะสม โดยมีส่วนผสมของ ดิน : แกลบดิบ/ขุยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วนโดยประมาณ 1:2:1 หรือใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่
6.ต้องชำในภาชะที่บรรจุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และไม่เกิน 8 เดือน หากพ้นกำหนดต้องมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม
7.ต้นพันธุ์มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหาร หรือการทำลายของโรคและแมลง
8.ต้องมีป้ายตามมาตรฐานที่กำหนด ติดกับต้นพันธุ์ และสามารถตรวจสอบได้

3.มาตรฐานการเสียบยอด/ติดตา

 1.เป็นยอด/ตาพันธุ์ดีที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ และมีการจัดการแปลงตามมาตรฐาน GAP
2.เป็นยอดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป และมีตาที่สมบูรณ์ไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ตา
3.ต้นตอได้จากเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง/พันธุ์เฉพาะที่ต้องการ ที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง มีขนาดใกล้เคียงกับยอดพันธุ์ดี (เทคนิคการชำต้นตอและการเสียบยอดแตกต่างกันตามชนิดพืช)
4.ต้นพันธุ์ที่เสียบยอด/ติดตา ต้องชำในถุงเพาะชำตามมาตรฐานที่กำหนด ขนาด 4×9 นิ้ว
5.ใช้วัสดุเพาะชำที่เหมาะสม โดยมีส่วนผสมของ ดิน : แกลบดิบ/ขุยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก
6.ในอัตราส่วนโดยประมาณ 1:2:1 หรือใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่
7.รอยแผลจากการเสียบยอด/ติดตา ต้องประสานสนิท และต้องนำวัสดุที่พันรอยแผลออก
8.ต้นพันธุ์มีความสูงไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร โดยวัดจากโคนต้นในระดับดินถึงปลายยอด
9.ต้นพันธุ์ที่พร้อมจำหน่ายหรือพร้อมปลูกต้องมีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหาร หรือการทำลายของโรคและแมลง
10.ต้องชำในภาชะที่บรรจุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และไม่เกิน 8 เดือน หากพ้นกำหนดต้องมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม
11.ต้องมีป้ายตามมาตรฐานที่กำหนด ติดกับต้นพันธุ์ และสามารถตรวจสอบได้

 4.มาตรฐานการทาบกิ่ง

1.เป็นยอดพันธุ์ดีที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ และมีการจัดการแปลงตามมาตรฐาน GAP
2.เป็นยอดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป มีความยาวไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร โดยวัดจากยอด
3.ต้นตอได้จากเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง/พันธุ์เฉพาะที่ต้องการ ที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง มีขนาดใกล้เคียงกับยอดพันธุ์ดี (เทคนิคการเตรียมต้นตอและทาบกิ่งแตกต่างกันตามชนิดพืช)
4.ก่อนตัดกิ่งพันธุ์มาเพาะชำ ต้องให้รอยแผลประสานสนิท และรากมีการพัฒนาสมบูรณ์
5.ต้นพันธุ์ที่ได้จากการทาบกิ่ง ต้องชำในถุงเพาะชำตามมาตรฐานที่กำหนด ขนาด 4×9 นิ้ว
6.ใช้วัสดุเพาะชำที่เหมาะสม โดยมีส่วนผสมของ ดิน : แกลบดิบ/ขุยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก
7.ในอัตราส่วนโดยประมาณ 1:2:1 หรือใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่
8.ต้นพันธุ์มีความสูงไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์) โดยวัดจากโคนต้นในระดับดินถึงปลายยอด
9.ต้นพันธุ์ที่พร้อมจำหน่ายหรือพร้อมปลูกต้องมีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหาร หรือการทำลายของโรคและแมลง
10.ต้องชำในภาชะที่บรรจุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และไม่เกิน 8 เดือน หากพ้นกำหนดต้องมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม
11.ต้องมีป้ายตามมาตรฐานที่กำหนด ติดกับต้นพันธุ์ และสามารถตรวจสอบได้

5.มาตรฐานท่อนพันธุ์ (มันเทศ วนิลา พริกไทย ดีปลี รางจืด)

1.เป็นท่อนพันธุ์ที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดีและตรงตามพันธุ์ มีการจัดการตามมาตรฐาน GAP
2.เป็นท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป มีความยาวไม่ต่ำกว่า 30-50 เซนติเมตร หรือตามความเหมาะสมของชนิดพืช
3.ท่อนพันธุ์มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหาร หรือการทำลายของโรคและแมลง
4.หลังตัดท่อนพันธุ์ต้องนำไปจุ่ม/แช่ในสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง ตามความเหมาะสมของชนิดพืช
5.นำท่อนพันธุ์จากข้อ 4 มาห่อด้วยกระดาษที่ชุบน้ำ บรรจุในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิท
6.ต้องมีป้ายตามมาตรฐานที่กำหนด ติดกับบรรจุภัณฑ์ และสามารถตรวจสอบได้

6.มาตรฐานหน่อพันธุ์

1.เป็นหน่อพันธุ์ที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ และมีการจัดการแปลงตามมาตรฐาน GAP
2.เป็นหน่อพันธุ์มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหาร หรือการทำลายของโรคและแมลง
3.อายุของหน่อไม่เกิน 3-4 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช
4.ต้องมีป้ายตามมาตรฐานที่กำหนด ติดกับหน่อพันธุ์/บรรจุภัณฑ์ และสามารถตรวจสอบได้

7.มาตรฐานการเพาะเมล็ด
1.เป็นเมล็ดพันธุ์ดีที่ได้จากแปลงผลิตพันธุ์ดี ตรงตามพันธุ์ และมีการจัดการแปลงตามมาตรฐาน GAP
2.เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ สุกแก่ตามสรีรวิทยา ปลอดจากโรคและแมลง
3.ต้นพันธุ์ ต้องชำในถุงเพาะชำตามมาตรฐานที่กำหนด ขนาด 2.5×7 นิ้ว
4.ใช้วัสดุเพาะชำที่เหมาะสม โดยมีส่วนผสมของดิน : แกลบดิน/ขุยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วนโดยประมาณ 1:2:1 หรือใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่
5.ต้นพันธุ์มีความสูงไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร โดยวัดจากโคนต้นในระดับดินถึงปลายยอด
6.ต้นพันธุ์มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ปรากฏอาการของการขาดธาตุอาหารหรือการทำลายของโรคและแมลง
7.ต้องชำในภาชนะบรรจุไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และไม่เกิน 8 เดือน หากพ้นกำหนดต้องมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม
8.ต้องมีป้ายตามาตรฐานที่กำหนด ติดกับต้นพันธุ์ และสามารถตรวจสอบได้

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: เทคโนโลยีสมัยใหม่

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news