banner ad

ด้วงงวงมะพร้าว

| October 1, 2019

ด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงสาคู หรือ ด้วงลาน หรือด้วงไฟ ในประเทศไทยพบทำลายมะพร้าวอยู่ 2 ชนิด คือ ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ ทั้งสองชนิดจัดเป็นแมลงศัตรูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก ด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่มักชอบทำลายมะพร้าวบริเวณยอดอ่อน ในขณะที่ด้วงงวงชนิดเล็กชอบเจาะหรือทำลายบริเวณลำต้น

 ความสำคัญและลักษณะการเข้าทำลาย

ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก ทำลายมะพร้าวโดยเจาะเข้าไปในลำต้น และส่วนยอด เช่น บริเวณคอมะพร้าว การเข้าทำลายในระยะเริ่มแรกเกษตรกรอาจไม่ทราบ เพราะหนอนเจาะเข้าไปกัดกินและเจริญเติบโตอยู่ภายในต้นมะพร้าวตลอดชีพจักร กว่าจะทราบมะพร้าวก็ถูกทำลายอย่างรุนแรง เช่น ยอดเน่า หรือลำต้นถูกกัดกินจนเป็นโพรงไม่อาจป้องกันหรือรักษาได้ทันการณ์ มะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวทำลายส่วนใหญ่จะตาย ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็กมักทำลายตามรอยทำลายของด้วงแรดมะพร้าว โดยวางไข่บริเวณบาดแผลตามลำต้นหรือบริเวณที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้ หรือบริเวณรอยแตกของเปลือก หนอนที่ฟักออกจากไข่จะกัดกินชอนไชไปในต้นมะพร้าว ทำให้เกิดแผลเน่าภายในต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการเฉาหรือยอดหักพับ เพราะบริเวณที่หนอนทำลายจะเป็นโพรง มีรูและแผลเน่าต่อเนื่องไปในบริเวณใกล้เคียง หนอนจะกัดกินไปจนกระทั่งต้นเป็นโพรงใหญ่ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปถึงยอดได้ และทำให้ต้นมะพร้าวตายในที่สุด

รูปร่างลักษณะและชีววิทยา

ไข่ ด้วงงวงเพศเมียวางไข่เดี่ยวๆ โดยใช้งวงเจาะให้เป็นรูแล้วใช้อวัยวะสำหรับวางไข่สอดเข้าไปวางในรูที่เจาะ ไข่มีสีขาว รูปร่างยาวรี ขนาดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร กว้าง 0.7 มิลลิเมตร วางไข่ได้ประมาณ 30 ฟองต่อวัน ตลอดอายุขัยสามารถวางไข่ได้ประมาณ 527 ฟอง อายุไข่ประมาณ 2 – 3 วัน

หนอน เริ่มต้นฟักออกจากไข่หนอนมีสีขาว หัวสีน้ำตาลแดง ลำตัวย่นเป็นปล้องๆ มีขนาดยาวประมาณ 1.8 มิลลิเมตร กว้าง 0.9 มิลลิเมตร หนอนมีการลอกคราบ 10 – 11 ครั้ง หนอนอาศัยกินอยู่ภายในต้นมะพร้าว ตลอดชั่วอายุการทำลายของหนอน ระยะหนอนประมาณ 61 – 109 วัน

ดักแด้ เมื่อเข้าดักแด้ หนอนจะใช้เศษอาหารเช่นเศษใบพืชสร้างเป็นรังดักแด้ หากอยู่ในต้นมะพร้าวจะใช้เส้นใยจากต้นมะพร้าวสร้างเป็นรัง รังดักแด้มีรูปร่างกลมยาว มีลักษณะขรุขระค่อนข้างรุงรัง ระยะดักแด้ 9 – 25 วัน จากนั้นจึงออกเป็นตัวเต็มวัย วงจรชีวิตจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 75 – 135 วัน

ตัวเต็มวัย เป็นด้วงสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำ บริเวณด้านหลังของส่วนอกมีสีน้ำตาลแดงอาจมีจุดหรือลาย ด้วงมีขนาดแตกต่างกันคือประมาณ 25 – 50 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีงวงยื่นออกมา เพศผู้มีงวงสั้นกว่าเพศเมีย และมีขนสั้นๆ ขึ้นหนาแน่นตามความยาวของงวง เพศเมียไม่มีขนบริเวณงวง ด้วงงวงมะพร้าวสามารถบินได้แข็งแรง บินได้ไกลประมาณ 900 เมตร และหากินในเวลากลางวัน ด้วงตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 61 – 139 วัน

พืชอาหาร ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน เขื่องหลวง หมาก ลาน สาคู อินทผลัม ต้นชิด

การป้องกันกำจัดด้วงงวงมะพร้าว

1. ป้องกันกำจัดด้วงแรด ไม่ให้ทำลายมะพร้าวเพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะเป็นช้องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ และทำลายมะพร้าวล้มตายได้

2. หมั่นดูแลทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าว หากพบรอยแผล รอยเจาะ ใช้เหล็กยาวปลายเป็นตะขอแทงเข้าไปเกี่ยวตัวหนอนทำลาย

 

สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap
Professional Research Scientist
Horticultural Research Institute(HRI), Department of Agriculture (DOA)
P.O.Box 50 Chattuchak, Bangkok 10900, Thailand
Tel: 66-2940-5484
Fax: 66-2561-4667
E-mail address : herbdoa@gmail.com

Category: แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news