แมลงดำหนามมะพร้าว
แมลงดำหนามมะพร้าว
ความสำคัญและลักษณะการเข้าทำลาย
แมลงดำหนามมะพร้าวเป็นแมลงศัตรูพืชต่างถิ่นรุกราน มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินี แมลงดำหนามมะพร้าวได้แพร่กระจายเข้าไปหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน เกาะตาฮิติ เกาะมัลดีฟส์ นารัว เกาะไหหลำ กวางโจว เวียดนาม สำหรับในประเทศไทยตรวจพบครั้งแรกที่จังหวัดนราธิวาส ในปี 2543 เดิมทีเข้าใจว่าเป็นแมลงดำหนามมะพร้าวชนิด Plesispa reichei Chapuis ที่มีประจำถิ่นและทำลายต้นมะพร้าวไม่รุนแรง แต่ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้รับรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ว่าพบแมลงดำหนามมะพร้าวต่างถิ่นนี้ระบาดอย่างรุนแรงในอำเภอทับสะแกบางสะพาน บางสะพานน้อย และอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่เกาะสมุย และเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำรวจพบว่ามีการแพร่ระบาดต่อไปยังแหล่งอื่นๆ
แมลงดำหนามมะพร้าวทำลายส่วนใบของมะพร้าว โดยทั้งตัวเต็มวัย และตัวอ่อนอาศัยอยู่ในใบอ่อน ที่ยังไม่คลี่ของมะพร้าว และแทะกินผิวใบ ใบมะพร้าวที่ถูกทำลายเมื่อใบคลี่กางออกจะมีสีน้ำตาลอ่อน หากใบมะพร้าวถูกทำลายติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ยอดของมะพร้าวมีสีน้ำตาลเมื่อมองไกลๆ จะเห็นเป็นสีขาวโพลน ชาวบ้านเรียกว่า “มะพร้าวหัวหงอก”
รูปร่างลักษณะและชีววิทยา
ไข่ ลักษณะไข่แบนรี ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มๆ ละ 1-4 ฟอง บนใบมะพร้าวที่ยังไม่คลี่
หนอน มี 4 วัย ลำตัวสีครีมอ่อน เมื่อฟักออกจากไข่จะเริ่มแทะกินใบอ่อนที่เรียงซ้อนกันและยังไม่คลี่ออก
ดักแด้ ดักแด้มีสีครีม เมื่อใกล้ฟักเป็นตัวเต็มวัยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ตัวเต็มวัย เป็นด้วงปีกแข็ง ส่วนหัวและอกมีสีส้ม ลำตัวสีดำ ตัวเต็มวัยกัดกินอยู่ระหว่างใบหรือภายในใบมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ออก เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้
พืชอาหาร ได้แก่ มะพร้าว ปาล์มประดับ
ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียนอะซีโคเดสฮิสไพนารัม แตนเบียนเตตระสติคัสบรอนทิสปี้ และเชื้อราบิวเวอร์เรีย
การป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าว
การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าว ได้แก่
1) แตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว อะซีโคดีส ฮีสพินารัม ควบคุมระยะหนอนหัวดำมะพร้าว
2) แตนเบียนดักแด้แมลงดำหนามมะพร้าว เตตตระสติคัส บรอนทิสปี้
ปล่อยแตนเบียนแมลงดำหนามะพร้าวในสวนมะพร้าว จำนวน 5-10 มัมมี่/ไร่ ทุกๆ 7-10 วัน ต่อเนื่อง 1 เดือน โดยแขวนหลอดพลาสติกด้านข้างเจาะรูที่มีมัมมี่ ในจุดที่มีมะพร้าวถูกทำลายแขวนหลอดพลาสติกให้สูงจากพื้นดิน 1.5 เมตร โดยตอกตะปูและผูกเชือกติด และทาจาระบีที่โคนตะปูเพื่อป้องกันมด
1 กรณีมะพร้าวสูงกว่า 12 เมตร ให้ฉีดสารเข้าต้น ด้วยสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ
Category: แมลงศัตรูพืช