banner ad

บทสรุปผู้บริหารพริก

| December 29, 2015

บทสรุปผู้บริหารพริก

พริกเป็นเครื่องเทศที่มีเป็นที่รู้จักทั่วไปของคนไทย มีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในทางเศรษฐกิจ พริกเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั่วไป ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นได้ทั้งพืชหลัก และพืชเสริมรายได้ สำหรับเกษตรกร เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างดีให้กับผู้รวบรวมผลผลิต เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมแปรรูปทั้งอาหาร และยา สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่นำรายได้จากการส่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่งออกไปยังต่างประเทศ ในทางสังคม ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อประกอบธุรกิจขนาดเล็กในครอบครัว และขนาดกลางในระดับหมู่บ้านจนถึงระดับจังหวัด ในแง่วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เนื่องจากอาหารไทยแทบทุกชนิดจะต้องมีพริกเป็นส่วนประกอบ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงพริกเชื่อได้ว่าคนไทยทุกคนจะต้องรู้จัก

พริกในประเทศไทย หากมองในแง่ของพืชผัก พริกมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดเมื่อเทียบกับพืชผักชนิดอื่นๆ และหากมองในแง่ของเครื่องเทศที่สามารถปลูกเป็นการค้ายิ่งมีปริมาณพื้นที่ปลูกมากกว่าหลายเท่า เมื่อเปรียบเทียบกัน พื้นที่ปลูกพริกทั่วประเทศไทยมีประมาณ 25,000-30,000 ไร่ ในแต่ละปี จากพื้นที่ปลูกพืชทั้งหมด 150 ล้าน ไร่ และพื้นที่ปลูกผักทั้งหมด 1.3 ล้านไร่ ปี 2556 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริก 348,453 ไร่ ลดลงจากปี 2555 ราว 76,600 ไร่ หรือประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ จุดเด่นที่สำคัญของพริกในประเทศไทยที่นอกเหนือจากความหลากหลายของชนิดและสายพันธุ์แล้ว พริกของไทยยังมีคุณลักษณะที่ดีเด่นกว่าพริกของแหล่งอื่นๆ ที่มีคุณภาพที่ดี สีสันสดใส รสชาติที่กลมกล่อม กลิ่นหอมที่ไม่ปรากฏในพริกของชาติใดๆในโลก การใช้ประโยชน์ของพริก

พริกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย พริกหวาน สามารถนำไปใช้ในรูปของผักสด พริก พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกขี้หนูผลเล็ก สามาถนำไปใช้ตั้งแต่กินผลสด นำไปตากแห้งเป็นพริกแห้ง นำพริกแห้งไปบดเป็นพริกป่น เป็นส่วนผสมในพริกแกง น้ำจิ้ม ฯลฯ แปรรูป เป็นซอสพริก อาหารเสริม ใช้พริกผลสด ผลแห้งไปสกัดเป็นส่วนผสมทางยา อาหารเสริม ตลอดจนนำต้นที่มีรูปลักษณ์ที่สวยงานไปปลูกเป็นไม้ประดับ

ในการกำหนดนโยบายด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืช มักจะมีพริกรวมอยู่ด้วยแทบทุกครั้งเนื่องจากความสำคัญหลายด้านดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามในแง่การพัฒนาส่งเสริมการผลิตพริก เพื่อให้บรรลุถึงความต้องการที่หลายหลายของผู้เกี่ยวข้อง สำหรับพืชสำคัญนี้มีความซับซ้อนในหลายแง่มุม และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา โดยเป้าหมายหลักที่ต้องการในการผลิตพริกในประเทศไทย คือทำอย่างไร พริกของประเทศไทยจึงจะเป็นพริกที่มีตรงกับความต้องการของตลาดที่มีความหลากหลายของการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งลักษณะของพริก และปริมาณ พริกที่ผลิตได้มีความปลอดภัย โดยมีมาตรฐานสากลเป็นเกณฑ์สำหรับเปรียบเทียบ และเนื่องจากสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งช่วงเวลา ความเปลี่ยนแปลงของความนิยม พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป และเงื่อนไขทางการค้า ที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นแนวทางในการดำเนินงานสู่เป้าหมาที่ตั้งไว้

สถานการณ์พริก ปี 2550-2556

1. สถานการณ์ โลก

ในปี 2550 มีการผลิตพริกทั่วโลก ประมาณ 20 ล้านตัน เป็นผลผลิตทั้งพริกผลสดเขียว และพริกแดง ประเทศ ที่ผลิตพริกมากที่สุดในโลกคือ จีน ผลผลิตได้ 14,026,272 ตัน รองลงมาคือ เม็กซิโก ตุรกี อินโดนีเซีย และสเปน มีปริมาณผลผลิตรวมทั้ง 5 ประเทศ 19,864,214 ตัน ในจำนวนนี้เป็นพริกแดงที่มีการผลิตและใช้บริโภคกันมากในแถบเอเซีย มีผลผลิตทั่วโลก 7 ล้านตัน บนพื้นที่ 1.5 ล้านเฮกตาร์ทั่วโลก ผู้ผลิตพริกแดงรายใหญ่ที่สุดในโลกคือประเทศอินเดีย ซึ่งในแต่ละปีอินเดียผลิตพริกแดงได้ประมาณ 1.1 รองลงมาคือจีน เอธิโอเปีย พม่า เม็กซิโก เวียดนาม เปรู ปากีสถาน กานา และบังคลาเทศ ซึ่งทุกประเทศดังกล่าวข้างต้นรวมกันถือเป็น 85% ของผู้ผลิตพริกแดงในโลก ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 65 ของโลกในการผลิตพริก สำหรับการใช้พริก ประเทศที่มีการใช้พริกแดงมากที่สุดในโลกคือ อินเดีย รองลงมาคือ จีน และปากีสถาน ส่วนประเทศไทยเป็นผู้บริโภคอันดับ 5 ของโลก โดยปริมาณการผลิตพริกทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2547 ถึง ปัจจุบัน

2. สถานการณ์ของไทย

สถานการณ์การผลิต

ปี 2556 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริก 348,453 ไร่ ผลผลิต 332,888 ตัน พื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 128,932 ไร่ ( 37 %) ผลผลิต 117,150 ตัน ภาคเหนือ 124,011 ไร่ ( 35.6 %) ผลผลิต 84,370 ตัน ภาคกลาง 47,969 ไร่ (13.77 %) ผลผลิต 95,238 ตัน ภาคใต้ 47,541 ไร่ ผลผลิต 35,652 ตัน พริกที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทั้งหมดเป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ ได้แก่ พริกหัวเรือ ยอดสน ตุ้ม ห้วยสีทน ช่อไสว มีทั้งแบบที่ปลูกเป็นพืชหลัก และพืชที่ปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าว ขณะที่พริกที่ปลูกในภาคเหนือมักเป็นพริกใหญ่ พริกหวาน พริกหยวก พริกหนุ่ม และพริกทำซอสพริก ซึ่งมักจะปลูกในช่วงฤดูหนาว ที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพริกกลุ่มนี้ และเป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตก ที่ส่วนใหญ่มีระบบชลประทานรองรับ จะปลูกทั้งพริกขี้หนูผลใหญ่ พริกใหญ่ และพริกขี้หนูผลเล็ก เช่น พริกจินดา พริกเหลือง พริกขี้หนูหอม และพริกกะเหรี่ยง พริกที่ประเทศไทยไทยผลิตได้ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ในบางฤดูกาลหรือบางปี ผลผลิตขาดแคลน ต้องมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากพริกเป็นพืชผักที่มีอายุสั้นประมาณ 3-5 เดือน ทำให้เกษตรกร พื้นที่ปลูกพริกในอดีตจนถึงปัจจุบันมีทั้งพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำหลัก (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ และภาคใต้) และพื้นที่ในเขตชลประทาน (ภาคกลาง) สำหรับพื้นที่ปลูกในเขตชลประทานมักปลูกพริกเป็นพืชหลัก ปริมาณผลผลิตจึงสามารถคาดเดาได้ในแต่ละปี พื้นที่ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการผลิตพริกคือพื้นที่ในเขตที่ต้องพึ่งน้ำฝนธรรมชาติ ทำให้การตัดสินใจในการปลูกพริกหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆทำได้ง่าย ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่นราคาผลผลิตในปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศที่เอื่ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตในปีนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตจากนายทุน การประกันราคาผลผลิต แนวโน้มของราคาผลผลิตของพืชผลชนิดอื่นๆในช่วงเดียวกันรวมถึงความยาก ง่ายในการผลิตพืชเหล่านั้นเมื่อเทียบกับการปลูกพริก

ตารางที่ 1: พื้นที่ปลูกพริก (ไร่) ปี 2552-2556

ปี พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกขี้หนูผลเล็ก พริกใหญ่ พริกยักษ์ พริกหยวก
2552 115,143 169,141 24,269 1,736 6,637
2553 108,558 149,134 3,102 1,600 5,829
2554 333,994 171,075 31,614 530 3,968
2555 113,450 156,908 23,430 1,540 6,494
2556 180,933 130,389 30,989 362 5,779

ที่มา: ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร

ตารางที่ 2: ผลผลิตพริกแต่ละชนิดรายภาคปี 2556 และรายปี

ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ (รายภาค) : (ตัน)

ภาค พริกขี้หนูผลเล็ก พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกใหญ่ พริกหยวก พริกยักษ์
ภาคกลาง 57,415.63 32,762.05 3,828.89 1,233.03 -
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,652.63 101,934.07 2,931.25 4,625.46 2.00
ภาคเหนือ 36,824.22 24,180.16 20,613.71 2,753.84 475.82
ภาคใต้ 20,247.68 14,679.62 22.40 704.81 2.62

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร

ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ (รายปี) : (ตัน)

ปี พริกขี้หนูผลเล็ก พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกใหญ่ พริกหยวก พริกยักษ์
2552 - - - - -
2553 - - - - -
2554 97,151.20 277,071.66 53,627.00 6,637.06 131.14
2555 333,256.58 230,706.36 49,462.65 7,446.49 300.33
2556 122,140.15 173,555.90 27,396.24 9,317.14 480.44

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร

ตารางที่ 3: ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปี 2555 (บาท/กิโลกรัม)

 

ชนิด ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค.
พริกขี้หนูสวน 121.33 83.31 49.87 60.17 43.61 28.23 36.58 62.00 44.70 35.52 37.43 29.23
พริกใหญ่ 23.55 31.21 38.55 18.69 22.06 31.87 22.73 21.55 19.90 31.94 46.40 45.00
พริกยอดสน 39.29 46.31 31.97 29.07 32.81 29.53 29.00 39.68 33.93 29.77 29.17 31.00
พริกหยวก 29.39 23.03 17.77 16.40 23.45 33.43 30.71 24.81 15.63 28.97 26.67 46.13
พริกจินดาเขียว 29.73 20.86 17.02 16.43 22.29 18.70 30.74 35.65 20.87 24.00 31.63 35.00

ที่มา: ตลาดสี่มุมเมือง

สถานการณ์การตลาด การส่งออกและการนำเข้า

ผลผลิตพริกส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศ โดยราคาผลผลิตขึ้นกับช่วงเวลาที่พริกออกสู่ตลาด ช่วงเวลาที่ผลผลิตพริกออกสู่ตลาดมากที่สุดคือช่วงฤดูหนาวสำหรับพริกใหญ่ ผลผลิตส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือ ส่วนพริกขี้หนูผลใหญ่ออกสู่ตลาดมากมี 2 ช่วง ขึ้นกับพื้นที่ปลูก แต่ราคาจะต่ำเนื่องจากผลผลิตมีจำนวนมาก และเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถกำหนดเองได้ แต่หากเกษตรกรขายผลผลิตเป็นผลสดในช่วงต้นฤดูจะได้ราคาสูงกว่า เนื่องจากผลผลิตยังมีน้อย และพริกช่วงต้นฤดูจะเป็นพริกที่มีคุณภาพดีที่สุด

ประเทศไทยส่งออกพริก ประมาณ15000 19000 ตัน โดยส่งออกพริกไปยังมาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ สหภาพยุโรป โดยประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำเข้าพริกรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ประมาณ 70 % ของปริมาณส่งออกของพริกของไทยในทุกปี อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2552- 2556 ซึ่งปริมาณในการส่งออกขึ้นกับปริมาณการผลผลิตได้ในประเทศ สินค้าพริกที่ส่งออกประกอบด้วย พริกสดหรือแช่เย็น พริกบดหรือป่นเครื่องแกงสำเร็จรูป พริกแห้ง และซอสพริก โดยซอสพริกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด ในปี 2555 ปริมาณและมูลค่าของซอสพริกที่ประเทศไทยคิดเป็น 50% ของพริกและผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยส่งออกทั้งหมด

ตารางที่ 4: ปริมาณและมูลค่าการส่งออกพริกของประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ (ปริมาณ:ตัน มูลค่า:ล้านบาท)

ประเทศ 2552 2553 2554 2555 2556
ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า
รวมทุกประเทศ 18,117 253 14,643 213 18,768 367 16,185 306 15,725 212
มาเลเซีย 14,456 83 12,298 73 9,636 61 10,224 62 11,349 74
อินโดนีเซีย 73 13 2,460 68 123 12 2,294 63
ญี่ปุ่น 104 13 124 13 48 4.5 737 49 43 18
สหรัฐอเมริกา 47 4.1 44 4.5 166 23 158 24 14 2.8
ออสเตรเลีย 35 2.3 20 1 123 13 61 8 4 0.4

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ตารางที่ 5: ปริมาณและมูลค่าการส่งออกพริกและผลิตภัณฑ์พริกของประเทศไทย (ปริมาณ:ตัน มูลค่า:ล้านบาท)

ชนิด 2552 2553 2554 2555 2556
ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า
พริกสดหรือแช่เย็น 15,229 114 12,457 93 12,797 138 14,536 197 12,886 128
พริกบดหรือป่น 2,084 69 1,578 53 2,119 70.23 994 87.59 - -
ซอสพริก 23,457 1,052 26,091 1214 28,147 1,409 29,345 1,397 - -
เครื่องแกงสำเร็จรูป 10,636 1,115 12,342 1259 12,265 1,338 12,969 1,207 - -
พริกแห้ง 925 92 403.69 55.29 582.58 60.92 988.23 73.26 - -

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

แม้ประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกพริกค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกพืชผักทั้งหมด แต่พริกที่ประเทศไทยไทยผลิตได้ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งในบางฤดูกาลหรือบางปี ผลผลิตขาดแคลน ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ พริกนำเข้าเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาทดแทนพริกในการบริโภคที่ยังขาดอยู่ และนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์พริกอื่นๆ ประเทศไทยนำเข้าพริกเข้ามาทดแทน จากประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งนี้เฉพาะที่มีรายงานอย่างเป็นทางการ ไม่นับรวมถึงพริกที่ลักลอบนำเข้ามาซึ่งค่อนข้างเสี่ยงด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค และเสี่ยงต่อการเข้ามาของศัตรูพืชที่ไม่ผ่านตอนสุขอนามัย

ตารางที่ 6: ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าพริกของประเทศไทยกับประเทศคู้ค้าที่สำคัญ (ปริมาณ:ตัน มูลค่า:ล้านบาท)

ประเทศ 2552 2553 2554 2555 2556
ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า
รวมทุกประเทศ 1,240 22 1,207 19 40,898 780 54,867 1,172 43,516 837
สาธารณรัฐประชาชนจีน 94 1.8 184 2.5 9,641 265 11,130 312 11,877 272
อินเดีย 25,068 398 40,268 664 25,537 390
เวียดนาม 90 0.7 212 2.2 398 10 767 12 4,323 75
มาเลเซีย 8 0.1 56 1.1 122 3 4 1.2 2 1.03

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ตารางที่ 7: ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าพริกและผลิตภัณฑ์พริกของประเทศไทย (ปริมาณ:ตัน มูลค่า:ล้านบาท)

ชนิด 2552 2553 2554 2555 2556
ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า
พริกสดหรือแช่เย็น 501 9 23.77 0.40 2,375 62,14 716.94 12.04 3,128 46.8
พริกบดหรือป่น 2,084 69 922.56 84.57 905.75 93.30 3,996 172.56 2,788 116
พริกแห้ง 44,912 837 32,501 585.31 34,566 631.98 46,658 945.42 29,946 554

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

การวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค ของการผลิตพริกของประเทศไทย

จุดแข็ง

1. เป็นเครื่องเทศหลักที่มีความต้องการสูงภายในประเทศ และสำหรับต่างประเทศพริกและผลิตภัณฑ์พริกของไทยจัดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพในระดับพรีเมี่ยม ทั้งรูปลักษณ์ และรสชาติ มักถูกเลือกเป็นอันดับต้นๆ

2. มีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะกับการปลูกและการเจริญเติบโต รวมถึงพริก

3. มีชนิด พันธุ์ที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของการใช้ประโยชน์ในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงเอื้อต่อการสร้างพันธุ์ใหม่ๆที่หลากหลาย และพันธุ์ส่วนใหญ่มีรสชาติที่เป็นที่ต้องการของตลาด

4. มีแหล่งรองรับวัตถุดิบ ทั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน และ โรงงานแปรรูปภายในประเทศ ที่มีความต้องการผลผลิตจำนวนมาก

5. ผลผลิตสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ทั้งเพื่อการบริโภคสด เป็นเครื่องปรุงรสหลากชนิด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เวชภัณฑ์ และอาหารเสริม

6. ประเทศไทยมีมาตรฐานพืช (รวมถึงพริก) ได้แก่ GAP GMP HACCP ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

จุดอ่อน

 

1. ความนิยมที่หลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้การผลิตเป็นปริมาณน้อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละท้องถิ่น ไม่มีการผลิตเป็น mass ใหญ่

2. แรงงานในการเก็บเกี่ยวสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมด และแรงงานที่มีทักษะหายากขึ้น และไม่มีแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน

3. ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้น ทำให้เหมาะกับการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ของสัตรูพริก เช่นเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แมลง เพลี้ย และไร ทั้งนี้รวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน

4. ผลผลิตที่มีคุณภาพมีน้อย ผลผลิตทั่วไปพบการตกค้างของสารเคมีเกินค่ามาตรฐานการส่งออก หรือการปนเปื้อนของศัตรูพืช และ/หรือ เศษชิ้นส่วน

5. เกษตรกรยังไม่ได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานไปใช้ เท่าที่ควร

6. ขาดการบูรณาการภายในและระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินงานเรื่องพริก ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลพริกที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่และสถานการณ์ 7. ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ยังขาดจิตสำนึกในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับราคาสินค้าที่ถูกกว่ามากกว่าสินค้าที่มีคุณภาพแต่มีจำเป็นจะต้องมีราคาสูงขึ้น

โอกาส

1. โรงงานแปรรูปผลผลิตพริกที่มีอยู่มากมาย และวิสาหกิจชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศยังมีความต้องการผลผลิตคุณภาพอยู่มาก

2. กระแสความนิยมอาหารที่ปลอดภัย และการรักษาสภาพแวดล้อม โดยไม่จำกัดด้านราคา มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการผลิตที่ปลอดภัย

3. อาหารไทยเริ่มเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมากขึ้นๆ ทำให้มีความต้องการผลผลิตมากขึ้น

อุปสรรค

1. สารเคมี และ ปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง

2. เกษตรกรยังไม่เห็นประโยชน์และความสำคัญของการรวมกลุ่ม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกษตรกรตระหนักในเรื่องดังกล่าว ที่ส่งผลไปยังอำนาจในการต่อรองราคา

3. การเปิดเสรีทางการค้าทำให้ผลผลิตจากประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำ เข้ามาแข่งขันและมักได้เปรียบสินค้าจากประเทศไทยที่มีราคาสูงกว่า รวมถึงโอกาสที่จะสูญเสียเชื้อพันธุกรรมที่มีอยู่ได้ง่าย

4. สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้ ก่อให้เกิดความเสียหาย และก่อให้เกิดศัตรูพืชใหม่ๆ

ประเด็นปัญหาของพริก

พริกแม้จะเป็นพืชผักแต่มีความซับซ้อนมากกว่าพืชผักอื่น และมีผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิต ผู้รวบรวม โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ส่งออก ไปจนถึงผู้บริโภค โดยปัญหาหลักสำคัญที่ควรแก้ไขเป็นลำดับแรกๆ คือ ปัญหาคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตพริก พริกที่มีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาดในปริมาณที่เพียงพอ โดยไม่ต้องมีการนำเข้าพริกจากต่างประเทศที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคพริกและผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัญหาหลักนี้มีที่มาจากปัญหาย่อยๆ ต่อไปนี้

1. พันธุ์พริกที่มีอยู่เป็นพันธุ์พริกที่ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะท้องถิ่นซึ่งมีความหลากหลาย แต่พันธุที่ต้องการของพริกในตลาดส่งออกจะมี 2-3 พันธุ์ ซึ่งคุณลักษณะส่วนใหญ่ที่ตลาดต้องการมีอยู่ในพันธุ์พริกพื้นเมืองของไทย แต่จากการเก็บพันธุ์ไว้ใช้เองเป็นทอดๆ ทำให้ลักษณะที่ดีเสื่อมลงตามกาลเวลา ผลผลิตจึงน้อยลง อ่อนแอต่อโรค

2. เกษตรกรยังขาดการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ให้ได้พริกที่มีคุณภาพดี และปลอดภัย ที่มีอยู่ไปใช้ในการปฎิบัติจริง ทำให้ผลผลิตส่วนใหญ่ที่ออกสู่ตลาดยังเป็นผลผลิตที่มีปัญหาสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน การปนเปื้อนของเชื้อโรค หรือชิ้นส่วนของแมลง

3. ปริมาณผลผลิตพริกไม่สม่ำเสมอ และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากพริกจะให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพมากที่สุดในฤดูหนาว ทำให้ผลผลิตล้นตลาด แต่ผลผลิตน้อยในช่วงฤดูฝน เนื่องจากการเข้าทำลายของโรคในฤดูดังกล่าว นอกจากนั้นอาจเกิดจากปัญหาการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ผลิตและตลาดที่ทำให้ไม่ทราบว่า ณ เวลาใดมีผลผลิตพริกที่ต้องการอยู่ที่ใด มีปริมาณเท่าไร หรือในทางกลับกัน ผู้ผลิตไม่ทราบว่าตลาดมีความต้องการพริกชนิดใด เวลาใด และเท่าใด

4. ปริมาณผลผลิตพริกลดลง และคุณภาพพริกด้อยลงสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างกะทันหัน ซึ่งไม่สามารถป้องกันหรือควบคุมได้ในสภาพแปลงปลูกเดิม ทำให้เกษตรกรต้องใช้ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น ใช้สารเคมีมากขึ้นเนื่องจากเกิดศัตรูใหม่เพิ่มขึ้น ศัตรูเดิมต้านทานยาขึ้น

5. ผลผลิตในฤดูกาลปกติของพริกที่มีคุณภาพดีมีมากเกินความต้องการของตลาด แต่ในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้พริกเป็นวัตถุดิบค่อนข้างน้อยชนิด ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกระจายผลผลิตสู่ตลาดได้ ประกอบกับค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวมีราคาแพง หากราคาไม้คุ้มทุน เกษตรกรจะเลือกการปล่อยผลพริกคาต้น ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และยังอาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับศัตรูพืชให้มีอาหารเพื่อการดำรงชีพ หรือเกษตรกรเลือกที่จะเก็บเกี่ยวแต่ยังขาดวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลรักษาผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวให้เหมาะสม ผลผลิตที่ดีจากแปลงปลูกอาจจะมีคุณภาพด้อยลงได้

6. แม้ผลผลิตพริกของไทยเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ในบางฤดูหากพริกที่ตลาดต้องการมีไม่เพียงพอ จะมีการนำเข้าพริกจากต่างประเทศทั้งที่ถูกต้อง และการลักลอบนำเข้า ซึ่งมักมีราคาถูกกว่า แต่ไม่มีหลักประกันด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิต

7. กระบวนการในการตรวจสอบคุณภาพย้อนกลับเพื่อให้สินค้าที่วางตลาดมีคุณภาพและความปลอดภัยยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ขาดกระบวนการและขั้นตอนที่ปฏิบัติได้สะดวก ทำให้สินค้าปกติ กับสินค้าคุณภาพได้ค่าตอบแทนเท่ากัน

 

Tags:

Category: บทสรุปผู้บริหาร, พืชผัก, พืชผัก บ-ม

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news