banner ad

โฮย่า

| May 6, 2015

โฮยา (Hoya หรือ Wax Plant)

สกุล Hoya
วงศ์ Asclepiadaceae
ชื่ออื่นๆ นมตำเลีย

กระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นไม้เถาหรือไม้เลื้อย ทุกส่วนมียางขาวๆ คล้ายน้ำนม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ นมตำเลีย นั่นเอง โฮยาจะออกดอกเป็นช่อ และใน 1 ช่อประกอบด้วยดอกเล็กๆ หลายดอก ตรงกลางดอกจะมีส่วนที่เรียกว่า มงกุฎ ขนาดดอกต่างกันไปตามสายพันธุ์ มีตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กมากๆ ดอกมีหลายสีแล้วแต่พันธุ์บางชนิดให้ดอกตลอดปี บางชนิดให้ดอกปีละครั้ง ดอกมีกลิ่นหอมแตกต่างกันออกไป บางชนิดมีกลิ่นเหม็น ดอกจะเกิดที่ช่อเดิม และเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดรำไร

1.แป๊ะลักยิ้ม 2.น้องดำ
3. cornosa red 4.incrassata หอมกลิ่นมะนาว

ความเป็นไปเป็นมาของต้นโฮยา แบบย่อยๆ ว่ากันว่า ในปี ค.ศ. 1800 โธมัส ฮอย คนสวนของท่านดยุคแห่งนอร์ธทัม เบอร์แลนด์ (Northum berland) ประเทศอังกฤษ ท่านชอบสะสมต้นไม้ และมีชื่อเสียงในด้านนี้มาก เดินทางมาท่องเที่ยวในทวีปเอเชียบ่อยครั้ง และส่งต้นไม้ที่น่าสนใจกลับไปประเทศอังกฤษ ท่านจะดูแลต้นไม้เหล่านั้นเป็นอย่างดี หนึ่งในบรรดาต้นไม้เหล่านั้น มีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตดี ออกดอกสวยงาม เป็นที่ชื้นชอบของชาวอังกฤษ ในความอ่อนช้อย ทั้งก้าน ใบ ลำต้นที่เลื้อยแลดูอ่อนหวาน ทรงดอกที่แปลกตา ผิวมันวาว (ที่มาของชื้อ Wax Plant) และบางชนิดมีกลิ่นหอมตรึงใจ ในสมัยนั้นท่านดยุคและโธมัส ฮอย ไม่ได้ตั้งชื่อให้ต้นไม้ชนิดนี้ แต่ในการนำต้นไม้เข้าประเทศจะต้องมีชื่อและสายพันธุ์เพื่อการจัดลำดับ โรเบิร์ต บราวน์ เรียกชื่อต้นไม้เหล่านี้ว่า Hoya ซึ่งมาจากชื้อของ โธมัส ฮอย (Thomas Hoy) ผู้เพาะเลี้ยงต้นไม้นี้จนประสบความสำเร็จนั่นเอง ไม้ในกลุ่มนี้มีมากกว่า 200 ชนิด พบในประเทศไทยประมาณ 40 ชนิด และในจำนวนนี้เองมีโฮยาอยู่หนึ่งชนิดที่รูปร่างลักษณะของใบละม้ายคล้ายคลึงกับรูปหัวใจ มองดูโดดเด่นสะดุดตาน่าสนใจ คือ “โฮยาใบหัวใจ”

โฮยาใบหัวใจ (Heart Leaf Hoya) หรือที่รู้จักกันดีในอีกหลายชื่อได้แก่ โฮยาหวานใจ (Sweetheart Hoya) โฮยาวาเลนไทน์ (Valentines Hoya) ต้าง และด้าง (อุบลราชธานี) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hoya kerrii Craib ถิ่นกำเนิดอยู่แถบอินโดจีน (ประเทศไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา) ตัวอย่างชิ้นแรกที่ใช้ตั้งชื่อชนิดนี้ถูกเก็บจากดอยสุเทพ โดย ดร.เคอร์

โฮยาใบหัวใจ พบตามป่าดิบแล้วทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ เป็นไม้เถาอิงอาศัย มีน้ำยางขาว ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ มีลักษณะอวบหนา โคนใบสอบหรือมน ปลายใบเว้าตื้นคล้ายกับรูปหัวใจ ช่อดอกเกิดตามข้อใบ ออกเป็นช่อรูปครึ่งวงกลม

ก้านดอกย่อย เรียงเป็นซี่ร่ม มี 10-20 ดอกต่อช่อ ดอกมีขนาดประมาณ 0.8 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาวครีมแกมม่วง มีขนฟูเป็นกำมะหยี่ โคนกลีบดอกเชื่อมกัน ปลายกลีบดอกแหลมแยกเป็น 5 กลีบ มงกุฎสีชมพูถึงสีม่วงเข้ม เมื่อดอกบานกลีบดอกจะพลิกกลับไปด้านหลัง ชาวบ้านในสมัยก่อนใช้ประโยชน์โดยนำลำต้นไปตากแดดจนแห้ง แล้วใช้จุดเช่นเดียวกับเทียน

 

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

Tags:

Category: พืชไม้ประดับ

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news