banner ad

พริก

| June 15, 2015

พริก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum spp.
ชื่อสามัญ : Chili, Chilli Pepper แต่ถ้าเป็นพริกขนาดใหญ่ๆ ที่มีรสอ่อนๆ เราจะเรียกว่า Bell Pepper, Pepper, Paprika, Capsicum เป็นต้น

สถานการณ์โลก ใน ปี 2557 มีการผลิตพริกทั่วโลก 33,632,553 ตัน ประเทศที่ผลิตมากที่สุดคือ ประเทศจีน มีพื้นที่ปลูก 759,630 เฮกตาร์ ผลผลิต 16,454,430 ตัน คิดเป็นร้อยละ 31.92 ของทั้งหมด รองลงมาคือ เม๊กซิโก และตุรกี ซึ่งมีผลผลิต 2,793,037 และ 2,143,845 ตัน ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้ 339,373 ตัน มีพื้นที่ปลูก 88,500 เฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 0.65 ของผลผลิตทั้งโลก

มาตรฐานเมล็ดพันธุ์พริกซื้อขายระหว่างประเทศโดยองค์การการค้าเมล็ดพันธุ์นานาชาติ International Seed Federation (ISF) กำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพของเมล็ดพันธุ์พริกความงอก 80% ส่วน Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) กำหนดค่าความงอกของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเปิด ไว้ที่ 65% และประเทศอินเดียกำหนดค่ามาตรฐานความงอกเมล็ดพันธุ์พริกที่ 60%

สถานการณ์ในประเทศ พริกที่ผลิตในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด ตามขนาดของผล คือ พริกใหญ่ พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกขี้หนูผลเล็ก

พริกขี้หนูผลใหญ่ปลูกกันมากที่จังหวัดชัยภูมิ  ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครพนม  ตาก เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช พริกขี้หนูผลเล็กปลูกกันมากที่จังหวัด ตาก กาญจนบุรี เชียงใหม่  และนครศรีธรรมราช ส่วนพริกใหญ่ปลูกกันมากที่จังหวัดแพร่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และกาญจนบุรี

พริกใหญ่ ปี 2554 – 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตพริกใหญ่อยู่ระหว่าง 9,287 – 22,139 ไร่ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 15,132 -49,463 ตัน ในปี 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 9,656 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 32,148 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2558 พื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.98 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.59

ปี 2562 พื้นที่ปลูก 16,685 ไร่ ให้ผลผลิตพริกขี้หนูผลเล็ก 17,491 ไร่ ผลผลิต 26,368 ตัน  ผลผลิตเฉลี่ย 1,507.51 กก./ไร่ ราคาเฉลี่ย 29.35 บาท/กก.

พริกขี้หนูผลใหญ่ ปี 2554 – 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตพริกขี้หนูผลใหญ่อยู่ระหว่าง 1,604 – 230,975 ไร่ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 3,627 – 277,071 ตัน ในปี 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 76,354 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 165,334 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2558 พื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.97 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.14

ปี 2562 พื้นที่ปลูก 88,886 ไร่ ให้ผลผลิตพริกขี้หนูผลเล็ก 145,829 ไร่ ผลผลิต 111,778 ตัน  ผลผลิตเฉลี่ย 765.98 กก./ไร่ ราคาเฉลี่ย 45.06 บาท/กก.

พริกขี้หนูผลเล็ก ปี 2554 – 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตพริกขี้หนูผลเล็กอยู่ระหว่าง 35,640 – 95,989 ไร่ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 49,813 – 333,256 ตัน ในปี 2559 พื้นที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ5 39,317 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 76,079 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2558 พื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.32 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.73

ปี 2562 พื้นที่ปลูก 59,555 ไร่ ให้ผลผลิตพริกขี้หนูผลเล็ก 177,447 ไร่ ผลผลิต 142,986 ตัน  ผลผลิตเฉลี่ย 805.79 กก./ไร่ ราคาเฉลี่ย 48.72 บาท/กก.

พริกหยวก ปี 2562 พื้นที่ปลูก 1,630 ไร่ ให้ผลผลิตพริกขี้หนูผลเล็ก 2,151 ไร่ ผลผลิต 2,112 ตัน  ผลผลิตเฉลี่ย 981.72 กก./ไร่ ราคาเฉลี่ย 26.8 บาท/กก.

—————————————————————————————————————————————–

โดยมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ มีการนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นแล้ว ลักษณะโดยทั่วไป พริกเป็นพืชที่มีอายุได้หลายฤดู ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 1-1.25 ฟุต ใบแบนเรียบเป็นมัน ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็ก กลีบดอกจะมีสีขาวหรือสีม่วง เกสรตัวผู้ 1-10 อัน เกสรตัวเมีย 1-2 อัน ผลหลายขนาด ส่วนใหญ่ขนาดเล็กยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ผลอ่อนสีเขียวถึงเขียวเข้ม เมื่อแก่เป็นสีแดง ชอบดินร่วนซุย และอากาศร้อนในการเจริญเติบโต

ถิ่นกำเนิด พริกมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ และการใช้ประโยชน์มานานนับหลายพันปีก่อนการสำรวจพบทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ด้วยรสชาติที่น่าพิศวง และได้ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในยุโรป ในชื่อของ พริกแดง (red pepper : Capsicum spp.) ตามลักษณะสีของผล เมื่อเปรียบเทียบกับพริกไทยดำ (black pepper, Piper nigrum L.) ที่นิยมปลูกกันอยู่แล้ว ก่อนแพร่กระจายมายังประเทศต่างๆ ในเอเชีย พริกกับพริกไทย แม้จะมีชื่อว่าพริกเหมือนกัน แต่พืชทั้งสองชนิดไม่มีความเกี่ยวพันกัน พริกเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์โซลานาซิอี (Solanaceae) เช่นเดียวกับมะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง ยาสูบ และพิทูเนีย พริกจัดอยู่ในสกุลแคปซิคัม (Capsicum มาจาก ภาษากรีก kapto แปลว่า “กัด”) ซึ่งมีประมาณ 25 ชนิด (species) ที่นิยมปลูกกันมีเพียง 5 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ C. annuum L., C. baccatum L., C. chinensis Jacq., C. frutescens L., C. pubescens R. & P. และมีพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นอีกมากมาย พริกนั้นมีชื่อที่ใช้เรียกกันอยู่หลายคำ ได้แก่ pepper, chili, chilli, chile และ capsicum คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า chilli

ความเผ็ดของพริกมาจากสารชื่อ แคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งจะมีอยู่มากบริเวณเยื่อแกนกลางสีขาว (คือส่วนเผ็ดมากที่สุด) ส่วนเปลือกและเมล็ดนั้นจะมีสารนี้น้อย ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าส่วนเมล็ดและเปลือกคือส่วนที่เผ็ดที่สุด และสารชนิดนี้จะทนทานต่อความร้อนและความเย็นอย่างมาก แม้จะนำมาต้มให้สุกหรือ แช่แข็งก็ไม่ได้ทำให้สูญเสียความเผ็ดไปแต่อย่างใด โดยเราสามารถเรียงลำดับความเผ็ดของพริกจากมากไป หาน้อยได้ คือ พริกขี้หนู > พริกเหลือง > พริกชี้ฟ้า > พริกหยวก > พริกหวาน เป็นต้น หน่วยวัดความเผ็ดของพริกคือ สโควิลล์ (Scoville) โดยพริกขี้หนูสวนบ้านเราจะมีค่าอยู่ที่ 50,000 -100,000 สโควิลล์ ส่วนพริกที่ได้รับการบันทึกลงในกินเนสส์บุ๊กว่าเผ็ดที่สุดในโลกก็คือ พริกฮาบาเนโร วัดค่าได้ถึง 350,000 สโควิลล์หรือมากกว่า

พริกอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อย่าง วิตามินเอ วิตามินบี6 วิตามินซี ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุเหล็ก ใยอาหาร เป็นต้น โดยในพริก 100 กรัม อาจจะมีวิตามินซีสูงถึง 144 มิลลิกรัม และยังเป็นแหล่งของกรด ascorbic ซึ่งสารเหล่านี้ ช่วยขยายเส้นโลหิตในลำไส้และกระเพาะอาหารเพื่อให้ดูดซึมอาหารดีขึ้น ช่วยร่างกายขับถ่าย ของเสียและนำธาตุอาหารไปยังเนื้อเยื่อของร่างกาย

สารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Capsaicin และ Oleoresin โดยเฉพาะสาร Capsaicin ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์รักษาโรค ในอเมริกามีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในชื่อ Cayenne สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร สาร Capsaicin ยังมีคุณสมบัติทำให้เกิดรสเผ็ด ลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ หัวไหล่ แขน บั้นเอว และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายทั้งชนิดเป็นโลชั่น และครีม
( Thaxtra – P Capsaicin) แต่การใช้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจมีผลกระทบต่ออาการหยุดชะงักการทำงานของกล้ามเนื้อได้เช่นกัน เพื่อความปลอดภัย USFDA ได้กำหนดให้ใช้สาร capsaicin ได้ที่ความเข้มข้น 0.75 % สำหรับเป็นยารักษาโรค

สีของพริกมีหลากหลาย ได้แก่ เขียว แดง เหลือง ส้ม ม่วง และสีงาช้าง โดยเฉพาะเมื่อนำมาปลูกในเขตร้อนชื้นที่ได้รับแสงแดดตลอดวัน จะมีสี ( colorant) ที่สดใส ซึ่งสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งการปรุงแต่งรสชาติ และสีสัน ( colouring spice ) ได้ตามความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มในอนาคตว่าการผสมสีในอาหารจะมาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และพริกเป็นพืชอายุสั้น ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้ง บริโภคสดและแปรรูป หลายหลายชนิด ดังนั้นพริกจึงจัดได้เป็นพืชผัก ที่มีศักยภาพชนิดหนึ่ง

พริกที่มีการปลูกกันในปัจจุบันนี้ถ้ากล่าวรวม ๆ แล้วมีทั้งชนิดที่มีรสชาติเผ็ดมาก เผ็ดน้อย ไปจนถึงไม่เผ็ดเลย และขนาดของผลมีทั้งผลขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เช่น พริกยักษ์ พริกใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามการจัดหมวดหมู่พริกในปัจจุบันยังค่อนข้างสับสน แต่มีวิธีที่นิยมใช้กันคือ การแบ่งแยกประเภทของพริกตามลักษณะลำต้นได้ คือ

1. พวกต้นล้มลุก พริกที่อยู่ในพวกนี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Cap sicum annuum L. เป็นพริกที่มีอายุในการให้ผลผลิตสั้น(อายุสั้น) ดอกอาจมีสีขาวหรือสีม่วง มีหนึ่งดอกต่อข้อ ดังนั้นการเกิดผลจึงเกิดเป็นผลเดี่ยว มีทั้งชนิดที่ปลายผลชี้ขึ้นฟ้าและชี้ลงดิน (การติดผล) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้อีกหลายชนิดโดยพิจารณาตามขนาด รูปร่าง สีของผล ตลอดจนการให้รสชาติว่ามีความเผ็ดมากน้อยเพียงใดหรือไม่เผ็ด ผลที่ยังอ่อนอยู่ สีของผลมักมีสีชีด, สีเขียว หรือสีม่วง เมื่อผลแก่จะมีสีแดงเข้ม เหลืองอมส้ม เหลืองนํ้าตาล ม่วง หรือสีขาวนวล พริกที่จัดอยู่ในพวกนี้ เช่น พริกขี้หนู พริกยักษ์ พริกหยวก พริกจินดา พริกมัน หรือพริกชี้ฟ้า เป็นต้น

2. พวกยืนต้น พริกที่อยู่ในพวกมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum frutescens L.) เป็นพริกที่มีอายุในการให้ผลผลิตนานกว่าพวกแรก (ประมาณ 2-3 ปี) มีลักษณะต้นเป็นไม้กึ่งพุ่ม ดอกสีเขียวอมเหลืองมี 1-3 ดอกต่อข้อ ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นกลุ่มขนาดผลเล็ก ลักษณะของโคนผลใหญ่ ปลายเรียวเล็กยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ปลายผลชี้ขึ้น ผลเมื่อสุกมีสีแดงหรือเหลือง ส่วนใหญ่มีรสเผ็ดจัด เช่น พริกขี้หนูสวน พริกตาบาสโก เป็นต้น

ประเภทของพันธุ์พริก
พริกขี้หนูผลเล็ก  :  กะเหรี่ยง  ขี้นก ขี้หนูสวน แกว ช่อไสว
พริกขี้หนูผลใหญ่  : จินดา ยอดสน ห้วยสีทน หัวเรือ เดือยไก่ ชุปเปอร์ฮอท
พริกชี้ฟ้า  :  เขียวน่าน หยวกเขียว หยวกขาว เหลือง แม่ปิง 80 ฮอทดีวิล จักรพรรดิ นางแบบ ขาวกระดังงา ศรแดงไวตาเอฟ  ศรแดงไซโคลน ศรีกานดา ศรีแม่ยม

สำหรับพันธุ์พริกที่ปลูกทั่วไปในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันออกไปตามท้องที่ปลูกและชื่อพันธุ์พริกก็มักเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น พริกพันธุ์ห้วยสีทน พริกเชียงใหม่ พริกบางช้าง และพริกที่นิยมปลูกมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นพริกขี้หนู รองลงมาได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกมัน พริกสิงคโปร์ และพริกเหลือง เป็นต้น ลักษณะของพันธุ์พริกบางพันธุ์ที่มีการปลูกกัน ซึ่งสามารถปลูกขึ้นได้ดี ได้แก่

1. พันธุ์ห้วยสีทน เป็นพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ สำหรับประวัติของพริกพันธุ์นี้ ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ในปี 2516 ฝ่ายสาขาพืชผัก กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้รับเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูเม็ดใหญ่หรือที่เรียกว่าพริกจินดา จาก ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น และได้นำมาทดลองปลูกศึกษาที่โครงการไร่นาตัวอย่างห้วยสีทน จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะดีทั้งในด้านการเจริญเติบโตและความสม่ำเสมอของสายพันธุ์ รวมทั้งรูปร่าง และขนาดของผลให้เป็นที่นิยมของตลาดต่อมาในปี 2522 ก็ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์พริกดังกล่าว (พันธุ์ห้วยสีทน) แนะนำสู่เกษตรกร ลำต้น เป็นพุ่มรูปตัววี สูงประมาณ 1 เมตร เมื่อเริ่มให้ผลผลิตอายุ 5 เดือน สูงประมาณ 150-160 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้าง 80 เซนติเมตร มีกิ่งแตกจากโคนต้นมากประมาณ 3-5 กิ่ง มีลักษณะเด่นคือ ผลแก่มีสีแดงเข้ม โคนผลใหญ่เรียวไปหาปลาย มีรสชาติเผ็ดจัดทั้งผลสดและแห้งเมื่อนำทำพริกแห้งจะมีสีแดงเข้ม เป็นมันเหยียดตรงผิวเรียบ พริกขี้หนูผลใหญ่ห้วยสีทน ศก.1 ผลแก่มีสีเขียว ผลสุกสีแดงจัด ผลชี้ขึ้นยาวประมาณ 4 เซนติเมตร โคนผลใหญ่และเรียวไปหาปลาย ผลค่อนข้างอ้วนปานกลาง ก้านผลยาวท่ากับความยาวผล จำนวนผล 1,200 ผลต่อกิโลกรัม ทำเป็นพริกแห้งได้ 0.36 กิโลกรัม

ลักษณะเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์พื้นเมือง
1. ให้ผลผลิตสูงกว่า 5. ผลตากแห้งมีลักษณะที่เหยียดตรงมากกว่า
2. ให้น้ำหนักพริกแห้งสูงกว่า 6. ก้านผลยาวกว่า ชื่อเป็นที่นิยมของตลาดมาก
3. ผลสีแดงและเข้มกว่าทั้งสดและแห้ง 7. แตกกิ่งกระโดงที่โคนต้นมากกว่า
4. เมื่อผลแห้งผิวจะมันมากกว่า 8. ทนทานต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดีกว่า

 

พริกขี้หนูพันธุ์ห้วยสีทนสามารถปลูกได้ในสภาพดินฟ้าอากาศทั่วไป ทั่วทุกภาคของประเทศและทุกฤดูกาล เป็นพันธุ์ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ไม่ทนต่อดินปลูกที่ชื้นแฉะ จึงไม่เหมาะสมที่จะปลูกในดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี ทั้งยังเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพริกแห้ง เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานวัน

2. พันธุ์หัวเรือ เป็นพันธุ์พริกขี้หนูเม็ดใหญ่อีกเช่นกัน ปุลูกมากในจังหวัด อุบลราชธานี มีคุณสมบัติของพริกพันธุ์นี้คือ ปลูกง่าย ให้ผลผลิตสูง มีกลิ่นหอม รสชาติชวนกิน รสเผ็ด ลักษณะผลชี้ขึ้น ทั้งยังเหมาะสำหรับทำพริกแห้ง พริกผลสดสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลยาว 7.8 เซนติเมตร กว้าง 1.03 เซนติเมตร อายุ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วันหลังย้ายปลูก ผลผลิตสด 1.74 ตันต่อไร่ ผลผลิตแห้ง 476 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนผล 241 ผลต่อต้น น้ำหนักผลสด 545 กรัมต่อต้น

3. พันธุ์มันบางช้าง ปลูกกันมากในบริเวณจังหวัดสมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เริ่มปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม ออกดอกเร็ว 55-60 วัน หลังหยอดเมล็ด ต้นเตี้ยช่วงให้ผลผลิตค่อนข้างสั้น แต่เก็บได้คราวละมากๆ ผลผลิตประมาณ 25-30 ตันต่อไร่ ผลอ่อนสีเขียวเข้มผิวมัน ผลตรง ปลายผลแหลมเนื้อหนาปานกลาง เผ็ดน้อยมาก ใช้บริโภคเป็นพริกสด พริกดอง พริกแห้งและซอสพริก ผลสุกมีสีแดงเข้ม ตากแห้งใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน จะได้พริกแห้งผิวเรียบมีกลิ่นหอมแต่เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนส มีผลขนาดใหญ่ ยาวเรียว ชี้ลงดิน ผิวขรุขระ ผลดิบมีสีเขียวอ่อน เมื่อสุกมีสีแดงเข้ม เมื่อตากแห้งแล้วผิวจะย่นมาก ลักษณะต้นค่อนข้างเตี้ย ใบหน้าใหญ่ มีสีเขียวอ่อน อายุประมาณ 4 เดือน ปลูกด้วยเมล็ด 3 ต้นต่อหลุม ระยะระหว่างต้น 50 ซม. ระหว่างแถว 1 เมตร เมื่ออายุได้ 20 วัน ให้ปุ๋ยสูตร 24-7-7 ผสมกับสูตร 30-20-0 อัตรา 25 กก.ต่อไร่ ช่วงออกดอกให้ปุ๋ยสูตร 21-7-14 จำนวน 2 ครั้งห่าง 10 วัน ช่วงติดผลให้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ผสมปุ๋ยสูตร 21-7-14 ทุก 10 วัน จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 4-5 ครั้ง ราคากิโลกรัมละ 60-70 บาท เมล็ดพันธุ์อยุ่ที่กิโลกรัมละ 3,600 บาท


4. พริกกะเหรี่ยง ผลยาว ประมาณ 3-4 เซนติเมตร โคนผลโต ปลายผลแหลม ผลแก่สีเขียวอ่อนเกือบซีด ผลสุกสีส้ม มีกลิ่นหอม ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถให้ผลผลิตติดต่อกันเป็นระยะเวลานานสามารถใช้ปลูกเสริมในแปลงปลูกพืชหลักได้ ไม่รบกวนการเจริญเติบโตของพืชหลักอื่นๆมากนัก ใช้บริโภคทั่วไป และโรงงานซอสพริกนิยมนำไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียวเพี่อเพิ่มความเผ็ด และความหอม นิยมทำเป็นพริกตากแห้งได้ดี คุณภาพผลสด 3 กิโลกรัม ตากแห้งได้ 1 – 1.3 กิโลกรัมและใช้เป็นยาพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง เช่นปวดหัว แก้เจ็บคอ ช่วยขับลม และรักษาแผลสดเป็นต้น พริกที่ถูกเรียกว่าพริกกะเหรี่ยงมี 2 แบบที่มีความแตกต่างกันพอสมควร คือพริกกะเหรี่ยง หนองหญ้าปล้อง(เพชรบุรี)ผลแก่จะมีสีเขียว และพริกกะเหรี่ยง จ. ตาก ที่มีผลแก่สีเขียวผลผลิตเฉลี่ย 7-8 ตันต่อไร่ เก็บได้ 3 รอบ ผลผลิตครั้งแรกอายุ 3 เดือนหลังปลูกลงแปลง จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 5 ตันต่อไร่ การใส่ปุ๋ยให้ใช้สูตร 15-5-20 จำนวน 3 ลูก สูตร 16-16-16 จำนวน 1 ลูก สูตร 46-0-0 จำนวน 1 ลูก ผสมกัน ใช้อัตราไร่ละ 30 กิโลกรัม หยอดห่างกันทุกๆ 10 วัน เมื่อพริกอายุ 6-7 เดือนต้นเริ่มโทรมให้พ่นฟังกูราน (Copper) อัตรา 2.5 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ทำให้ใบร่วง แล้วเริ่มบำรุงต้น พริกจะมีอายุได้ปีกว่า ราคาขายกิโลกรัมละ 200 บาท

5. พันธุ์เจแปน มีลำต้นสูงโปร่ง ทรงพุ่มกว้าง ผลค่อนข้างจะใหญ่ ชี้ลงดิน ผลดิบมีสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง เมื่อนำไปตากแห้งมีสีส้ม

6. พันธุ์เคเยนลองสลิม (Cayenne Long Slim) เป็นพันธุ์พริกสีฟ้าพันธุ์ หนึ่ง ผลอ่อนมีสีเขียวแก่ เมื่อผลแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงจัด

7. พันธุ์ฮังกาเรียน เยลโล่ แว๊ก ฮอท (Hangarian Yellow Wax Hot) เป็นพันธุ์พริกหยวก ลำต้นตั้งตรง ใบมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลยังอ่อนมีสีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีแดงจัดเมื่อผลสุก

8. พันธุ์เบลบอย ไฮบริด (Bell Boy Hybrid) เป็นพันธุ์พริกยักษ์มี ลักษณะลำต้นเป็นพุ่มขนาดประมาณ 50-60 เซนติเมตร ผลมีสีเขียวเข้มถึงสีแดงเนื้อหนา

9. พันธุ์บูลสตาร์โฮบริด (Blue Star Hybrid) เป็นพันธุ์ยักษ์อีกเช่นกัน มี ต้นตั้งสูง ผลมีสีเขียวเข้ม เป็นผลขนาดใหญ่ มี 3-4 ลอน เนื้อหนาปานกลาง

10. พริกจินดา เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่พันธุ์พื้นเมืองที่เคยปลูกกันมากในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา เหมาะกับการประกอบอาหารหลายชนิด ให้สีสันสวยงามและรสชาติไม่เผ็ดเกินไปใช้ได้ทั้งในรูป พริกสด พริกแห้ง และซอสพริก ลักษณะของพริกจินดา คือผลยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร รูปร่างเรียวยาวผลแก่มีสีเขียวเข้ม ผลสุกและมีแดงจัด ให้ผลผลิต 1.5 – 2 กิโลกรัมต่อต้น ลำต้นค่อนข้างสูง เนื้อบาง และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวยาวนาน ประมาณ 60 – 90 วัน สามารถอยู่ได้นาน ทนทาน ไม่เหี่ยวง่าย เมื่อนำมาทำเป็นพริกแห้งจะให้พริกแห้งสีแดงเข้ม ผิวเรียบ ไม่หงิกงอ เป็นพริกที่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะพริกแห้ง และเพื่อทำซอสพริก เพราะมีความเผ็ดไม่มากนัก แต่พริกจินดาพันธุ์พื้นเมือง มีผลผลิตค่อนข้างต่ำ

11. พริกยอดสน เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่พันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถบริโภคเป็นพริกสดได้แต่เหมาะกับการทำเป็นพริกแห้งมากที่สุด พริกยอดสนจะมีเนื้อผลบาง เมื่อสุกเป็นสีแดงส้ม ผิวเป็นคลื่นตากแดดแล้วแห้งเร็ว เมื่อตากแห้งสนิทก้านผลจะเป็นสีเหลืองทอง ต่างจากพริกแห้งพันธุ์อื่นๆ ที่ขั้วจะเป็นสีน้ำตาล พริกยอดสนแห้งจะมีกลิ่นหอม รสเผ็ดไม่มาก ผลมีขนาดยาวมากกว่าพริกห้วยสีทน หรือพริกหัวเรือ รูปร่างเรียวยาวอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตปานกลาง

12. พันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือเบอร์ 13 เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ปรับปรุงจากการคัดเลือกพันธุ์พริกหัวเรือพื้นเมือง ให้ผลผลิตสูงและมีความสม่ำเสมอของสายพันธุ์ ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลตรงขนาดผลใหญ่ ผลยาว 7.8 เซนติเมตร ผลกว้าง 1.03 เซนติเมตร ความสูงและเส้นผ่านศูนย์กลาง 80-90 เซนติเมตร การเก็บเกี่ยวผลสุก 90 วันหลังปลูก ผลสด 1.74 ตันต่อไร่ ผลแห้ง 476.9 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนผล 241 ผลต่อตัน น้ำหนักผลสด 545.1 กรัมต่อตัน เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรมีความต้องการสูง ทุกปีจะมีการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกหัวเรือศก.13 มากกว่า 50 กิโลกรัม โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร

13. พันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือเบอร์ 25 เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ปรับปรุงจากการคัดเลือกพันธุ์พริกหัวเรือพื้นเมือง ให้ผลผลิตสูงและมีความสม่ำเสมอของสายพันธุ์ ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ลักษณะเด่น เป็นพริกที่ให้ผลผลิตพริกสดและผลผลิตพริกแห้งสูงกว่าสายพันธุ์ที่เกษตรกรใช้อยู่ ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลตรง ผลยาว 7.0 เซนติเมตร ผลกว้าง 0.95 เซนติเมตร ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-90 เซนติเมตร การเก็บเกี่ยว ผลสุก 90 วันหลังปลูก ผลสด 1.69 ตัน/ไร่ ผลแห้ง 484.2 กิโลกรัม/ไร่ จำนวนผล 252 ผล/ต้น น้ำหนักผลสด 530.2 กรัม/ต้น

14. พริกซุปเปอร์ฮอท เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ลูกผสม ต้นแข็งแรง แตกแขนงดี ทรงพุ่มกว้างปานกลาง ต้นสูง 70-80 เซนติเมตร ติดผลดกมาก ผลชูเหนือทรงพุ่มผลดิบสีเขียวหรือเขียวเข้ม ผลสุกสีแดงสด ยาว 5-7 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 80-90 วัน หลังย้ายกล้า เป็นพริกของบริษัทเอกชน

15. พริกแม่ปิง 80 เป็นพริกลูกผสมของบริษัทเอกชน ผลสีเขียวเข้ม ผลสุกสีแดงเข้ม ผิวเป็นมัน เนื้อหนา ต่อยอดดีอายุเก็บเกี่ยว 85-90 วัน พันธุ์จักรพรรดิ  เป็นพันธุ์ของบริษัทซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเก็บ เกี่ยว  ลักษณะข้อแตกต่างของ  2  พันธุ์  คือลักษณะใบและผล  โดยพันธุ์จักรพรรดิมีลักษณะใบและผลโตกว่าพันธุ์แม่ปิง  สีของผลจะมีสีเขียวเข้มเหมือนกันทั้ง  2  พันธุ์  ให้ผลผลิต เฉลี่ย  3-4  กก./ต้น เกษตรกรทางภาคเหนือนิยมปลูกเพื่อส่งจำหน่ายไปทำซอสพริกแม้จะมีรสค่อนข้างเผ็ด

16. พริกเหลือง พันธุ์เหลืองบางบัวทอง เป็นพริกใหญ่ผิวเหลือง คาดว่าน่าจะเป็นพริกพื้นเมืองที่ปลูกกันในภาคกลาง บริเวณกรุงเทพมหานคร นนทบุรี กาญจนบุรี ออกดอกค่อนข้างช้า ผิวแก่เป็นสีเขียวอ่อน เนื้อหนา ผิวเรียบเป็นมัน เมื่อผลสุกผิวผลจะเป็นสีเหลือง หรือเข้มมากขึ้นจนเกือบเป็นสีส้ม ผลผลิตปานกลาง พริกเหลืองจะเหมาะกับการใช้ผลสดในการประกอบอาหารซึ่งสีเหลืองของพริกเหลืองจะเพิ่มความน่าสนใจในรูปลักษณ์ของอาหาร พริกเหลืองจึงมักมีราคาแพงกว่าพริกใหญ่สีแดงทุกพันธุ์ ปัจจุบันพริกเหลืองบางบัวทองถูกทดแทนด้วยพริกเหลืองพันธุ์ลูกผสมอื่นๆ เช่น เหลืองออเรนท์ เหลืองดาวทอง อย่างไรก็ตามพริกเหลืองมักอ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนส

17. พริกหนุ่ม เป็นพริกที่ผู้บริโภคทางภาคเหนือนิยมนำผลอ่อนมาทำเป็นน้ำพริกหนุ่ม ซึ่งพริกหนุ่มที่ผู้ปรุงพริกหนุ่มต้องการจะเป็นพริกเนื้อหนา สีเขียวค่อนไปทางเขียวอ่อน ไม่ต้องการพริกอ่อนสีเขียวเข้ม ดังนั้นพริกที่เป็นพันธุ์ลูกผสมของบริษัทเอกชนจึงได้รับความนิยมจากเกษตรกร หากมีลักษณะเข้าเกณฑ์ข้างต้น ซึ่งพันธุ์พริกหล่านี้มักจะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกทางภาคเหนือ โดยเฉพาะฤดูที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ

18. พริกขี้หนูผลใหญ่ห้วยสีทน ศก.1 ซึ่งเป็นพริกพันธุ์แรก ที่กรมวิชากาเกษตรทำการปรับปรุงพันธุ์เริ่มจากการได้รับเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูจินดา จาก ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2516 คัดแยกลักษณะต่างๆได้ 200 สายพันธุ์ ในปี 2517 จึงได้นำทาคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยวิธี Plant to row คัดเลือกไว้ 5 สายพันธุ์ในปี 2518 ทดลองปลูกสายพันธุ์ละ 600 ต้นเก็บเมล็ดพันธุ์ของแต่ละสายพันธุ์ที่ถูกต้องตามพันธุ์ที่ถูกต้องตามพันธุ์เอาไว้ สายพันธุ์ กส.3 มีลักษณะที่ดีกว่าสายพันธุ์อื่นในปี 2519 คัดเลือกแบบ mass selection และผลิตเมล็ดพันธุ์แนะนำสู่เกษตรกรในปี 2522 มีลักษณะทางการเกษตรคือ ลำต้น เป็นพุ่มรูปตัววี สูงประมาณ 1 เมตร เมื่อเริ่มให้ผลผลิตอายุ 5 เดือน สูงประมาณ 150-160 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้าง 80 เซนติเมตร มีกิ่งแตกจากโคนต้นมากประมาณ 3-5 กิ่ง มีลักษณะเด่นคือ ผลแก่มีสีแดงเข้ม โคนผลใหญ่เรียวไปหาปลาย มีรสชาติเผ็ดจัดทั้งผลสดและแห้งเมื่อนำทำพริกแห้งจะมีสีแดงเข้ม เป็นมันเหยียดตรงผิวเรียบ พริกขี้หนูผลใหญ่ห้วยสีทน ศก.1 ผลแก่มีสีเขียว ผลสุกสีแดงจัด ผลชี้ขึ้นยาวประมาณ 4 เซนติเมตร โคนผลใหญ่และเรียวไปหาปลาย ผลค่อนข้างอ้วนปานกลาง ก้านผลยาวท่ากับความยาวผล จำนวนผล 1,200 ผลต่อกิโลกรัม ทำเป็นพริกแห้งได้ 0.36 กิโลกรัม

19. พริกใหญ่พิจิตร 1 เป็นพริกใหญ่ที่คัดเลือกพันธุ์โดยศูนย์พืชสวนพิจิตร กรมวิชาการเกษตรและได้รับการรับรองพันธุ์เมื่อปี 2540เหมาะสมใช้ทำพริกแห้ง สามารถปลูกได้ทุกภาค ทั้งสภาพไร่อาศัยน้ำฝนและสภาพสวนในเขตชลประทาน โดยเฉพาะในดินร่วนหรือร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ทรงพุ่มตั้งตรงรูปตัววี ออกดอกหลังย้ายปลูกประมาณ 40 วัน ดอกสีขาว ผลเรียว ผลกว้าง ประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 78 – 150 วัน ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงเข้ม ผลผลิตสด 1701 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตพริกแห้ง 350 กิโลกรัมต่อไร่ อัตราส่วนพริกสดต่อพริกแห้ง4.5.:1 พริกแห้งผิวเรียบเป็นมัน ปริมาณสารแคบไซซิน 3.37 เปอร์เซนต์ แต่ไม่ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนส หากมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ตามหลักวิชาการไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้ ลักษณะเด่น คือให้ผลผลิตแห้ง สูงเฉลี่ย 378 กืโลกรัมต่อไร่ เป็นพริกแห้งจะมีผิวค่อนข้างเรียบเป็นมัน ใช้เวลาตากแห้งเพื่อทำพริกแห้ง ประมาณ 3 – 7 วัน เร็วกว่าพริกบางช้าง

20. พริกขี้หนูผลใหญ่ศรีสะเกษ 1  ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ โดยการรวบรวมแล้วคัดเลือก แล้วเปรียบเทียบพันธุ์ในแหล่งปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ จากนั้นนำไปทดสอบในแปลงเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษและสุโขทัย มีลักษณะเด่นคือ ผลผลิตสดรวมในพื้นที่ปลูกภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในฤดูแล้ง 1.03 – 1.87 ตันต่อไร่ ในฤดูฝน 0.51 -0.55 ตันต่อไร่ ต้านทานโรคแอนแทรคโนส ในระดับต้านทาน พื้นที่แนะนำคือ แหล่งปลูกพริกขี้หนูผลใหญ่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

21. พริกขี้หนูผลเล็กกาญจนบุรี 1 ได้จากรวบรวมพันธุ์ตั้งแต่ ปี 2539 คัดเลือกพันธุ์เปรียบเทียบพันธุ์ทดสอบพันธุ์ในแหล่งปลูกและในแปลงเกษตรกรที่จังหวัดกาญจนบุรี 1 ได้จากรวบรวมพันธุ์ตั้งแต่ปี 2539 คัดเลือกพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ ทดสอบพันธุ์ในแหล่งปลูกและในแหล่งปลูกและในแปลงเกษตรกรที่จังหวัดกาญจนบุรี นครราชสีมา และแพร่ มีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาด คือมีผลเรียวยาว ขนาดผล 3.0 – 3.8 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 2.5 เซนติเมตร ผลแก่สีเขียว (YG 144A) มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลสุกสีแดง (R 44B) ผิวเรียบเป็นมัน ให้ผลผลิตสูง 860 – 1339 กิโลกรัมต่อไร่ มีสารแคบไซซิน 1.59 มิลลิกรัมต่อกรัมน้ำหนักสด หรือปริมาณ 100,000 SHU สามารถปลูกกลางแจ้งได้โดยไม่ใช้ร่มเงา ได้รับการรับรองพันธุ์ ประเภทพันธุ์แนะนำเมื่อ วันที่ 26 ธันวาคม 2559

22. พริกชีหรือพริกชีขาวหรือพริกนางชี เป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองนิยมมากที่สุดในภาคใต้ เอาหารภาคใต้เป็นอาหารที่มีรสเผ็ดจัด ปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังมีขนาดเล็ก เป็นพริกที่ต้องการแสงแดดน้อย ปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยแถบจังหวัดกระบี่ เรียกพริกชนิดนี้ว่าพริกชีหมายถึงนางชี เนื่องจากคนใต้ชอบพูดสั้นๆคำเดียว ส่วนสาเหตุที่เรียกชื่อเช่นนั้นเพราะขณะที่เป็นผลจะเป็นสีขาวดั่งชุดสีขาวของแม่ชี จากนั้นค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีส้มเข้มตามลำดับ สำหรับรสชาติความเผ็ดร้อนเหมือนพริกขี้หนูสวน หรือพริกที่มีรสเผ็ดทั่วไป แต่ไม่ได้รับความนิยมเอามาปรุงเป็นอาหาร เนื่องจากสีสันไม่ชวนรับประทานเหมือนพริกที่มีผลสีแดง เลยทำให้พริกนางชีเกือบสูญพันธุ์ แต่ในปัจจุบัน พริกชีกลับเป็นที่นิยมของเกษตรกรและผู้บริโภคอีกครั้ง ผลแห้งพริกชีในปัจจุบันมีราคาสูง และมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด พื้นที่ปลูกหลัก คือจังหวัดกระบี่ พัทลุง และพังงา สามารถนำไปประกอบอาหาร แต่งสีอาหาร และทำเครื่องแกง ผลมีวิตามินเอ วิตามินซีสูง รสชาติเผ็ดร้อนเหมือนพริกขี้หนูและพริกกะเหรี่ยง ติดผลดก ผลอ่อนมีสีขาว ปลูกง่าย โรคและแมลงรบกวนน้อย ข้อด้อยประการเดียวคือสีผลเมื่อสุกไม่แดงจัด

23. พริกป๊อบ หรือพริกตุ้มสั้น  เป็นพันธุ์พริกพื้นเมืองที่เป็นพริกขี้หนูผลเล็กพันธุ์ที่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ปลูกแซมในแปลงปลูกพริกขี้หนูผลใหญ่ ให้ผลผลิตได้ยาวนาน (สุชีลา,ไม่ระบุปีที่พิมพ์) ในช่วงที่เกษตรกรเก็บผลผลิตพริกใหญ่ในแปลงหมดแล้ว หากมีพ่อค้ามารับซื้อ เกษตรกรก็นำจะนำผลผลิตพริกป๊อบจำหน่ายด้วย พริกบ๊อบเป็นพริกที่ใช้เป็นพริกสด ตำส้มตำ หรือเป็นพริกที่รับประทานคู่กับอาหารพื้นบ้านของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใบพริกป๊อบ จะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม ออกดอกมากกว่าหนึ่งดอกต่อข้อและดอกมีสีขาวเขียว ลักษณะที่มีผลของพริกป๊อบจะมีผลค่อนขางใหญ่ ผลแก่สีเขียวอ่อน ผลสุกสีส้ม รสเผ็ดจัด และมีกลิ่นหอมเฉพาะ ทนทานต่ออากาศร้อน เมื่อเปรียบเทียบ ลักษณะการเจริญเติบโตขนาดและรูปร่างผล ลักษณะใกล้เคียงกับพริกกะเหรี่ยง หรืออาจจะเป็นพริกพันธุ์เดียวกับพริกกะเหรี่ยงผลแก่มีสีเขียวอ่อน ผลสุกสีส้ม

24. พริกขี้หนูเลย หรือพริกปากปวน หรือพริกส้ม เป็นพริกพันธุ์หนึ่งที่คนอีสานนิยมรับประทานผลสด เพราะมีลักษณะเด่นคือ มีกลิ่นหอม นิยมนำมาทำน้ำพริกอีสาน (แจ่ว) เป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ มีลักษณะที่แตกต่างจากพริกพันธุ์อื่นๆคือลำต้นสูงการแตกกิ่งน้อย ผลดก ผลดิบมีสีเขียวอมเหลือง หรือขาวอมเหลือง ผลสุกสีส้มแดง นิยมปลูกมากที่สุดในตำบลปากปวน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ปัจจุบันนิยมปลูกทั้งในเขตอำเภอเมืองและอำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย ปัจจุบันนิยมปลูกทั้งในเขตอำเภอเมืองและอำเภอวังสะพุง เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในรูปผลผลิตสด (ไม่นิยมนำไปทำพริกขี้หนูแห้ง)

25. พริกทาบาสโก เป็นพริกชนิด C.frutescens วึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกเนื่องจาก พริกทาบาสโกเป็นวัตถุดิบหลักของซอสพริกทาบาสโก ซอสพริกที่มีการผลิตสืบทอดกันมายาวนานกว่า 140 ปี ปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ทั่วโลก พริกทาบาสโก มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในรัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากพริกที่ใช้แปรรูปทั่วไปที่ต่างประเทศนิยมใช้เป็นวัตถุดิบ เอกลักษณะสำคัญคือผลจะชี้ขึ้นจากทรงพุ่ม ลักษณะผลคล้ายพริกกะเหรี่ยงขาวของประเทศไทย สีผลอ่อนเป็นสีเหลือง เมือแก่จัดเปลี่ยนสีส้มและเป็นสีแดงจัดเมื่อสุกเต็มที่เนื้อภายในมีความฉ่ำน้ำ มีความเผ็ด 30,000 – 50,000 สโควิลล์

26. พริกขี้หนูหอมและพริกขี้นก เป็นพริกขี้หนูผลเล็กพันธุ์พื้นเมือง ผลมีขนาดเล็กมาก มักจะพบขึ้นเองตามสวนผลไม้ หรือใต้ร่มไม้ใบใหญ่ บางครั้งอาจเรียกว้าพริกขี้นก เนื่องจากการกระจายพันธุ์พริกกลุ่มนี้มักอาศัยนกที่ชอบกินผลสุก แล้วไปถ่ายมูลไว้ในที่อื่นๆ ที่มีสภาพเหมาะสม เป็นพริกที่ชอบอยู่ใต้ร่มเงา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ความเข้มแสงประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ (ร่มเงา 25 เปอร์เซ็นต์) จะทำให้พริกเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณ พริกขี้หนูหอมเหมาะกับการบริโภคผลสด ตำน้ำพริก ทำน้ำจิ้มซีฟู๊ด ประกอบอาหารประเภทยำฯลฯ ด้วยลักษณะเด่นคือ มีกลิ่นหอม รสเผ็ดจัด ทำให้เป็นที่ต้องการของ พ่อครัวแม่ครัว แม้พริกขี้หนูหอมจะมีราคาแพงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบน้ำหนัก แต่หากต้องการรสและกลิ่นแท้จริงของอาหาร ผู้ประกอบอาหารก็จะพยายามและหาพริกขี้หนูหอมมาไว้ในครัวเสมอและขาดไม่ได้

27. พริกขี้หนูผลเล็กกาญจนบุรี 1 ได้จากการรวบรวมพันธุ์ตั้งแต่ ปี 2539 คัดเลือกพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ทดสอบพันธุ์ในแหล่งปลูก และในแปลงเกษตรกรที่จังหวัดกาญจนบุรี นครราชสีมา และแพร่ มีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาด คือผลเรียวยาว ขนาดผล 3.0 – 3.8 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 2.5 เซนติเมตร ผลแก่สีเขียว (YG 144A) มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลสุกสีแดง (R 44B) ผิวเรียบเป็นมันให้ผลผลิตสูง 860 – 1,339 กิโลกรัมต่อไร่ มีสารแคบไซซิน 1.59 มิลลิกรัมต่อกรัมน้ำหนักสด หรือ ประมาณ 100,000 SHU สามาถปลูกลางแจ้งได้โดยไม่ใช่ร่มเงา ได้การรับรองพันธุ์ ประเภทพันธุ์แนะนำเมือวันที่ 26 ธันวาคม 2559

28. พริกตุ้มระยอง เป็นพริกพื้นบ้านของจังหวัดระยอง มีมากแถบอำเภอแกลง ช่วงเดือนธันวาคม จะมีพริกตุ้มมากที่สุด เป็นพริกผลกลม คล้ายมะเขือพวง กลิ่นหอมอ่อนๆ เผ็ดน้อย รสชาติเหมือนพริกหยวก ผลแก่จัดมีสีเขียวเข้ม เมือสุกจะมีสีแดงจัด เวลาจะทำกับข้าวก็เด็ดขั้วออก แล้ว จึงใส่ไปทั้งผล ชาวระยองนิยมใส่ในแกงป่าแกงเขียวหวาน เพิ่มรสชาติอาหารให้เผ็ดอร่อยยิ่งขึ้น เป็นพริกพื้นเมืองของอำเภอแกลง จังหวัดระยอง

29. พริกพันธุ์ขาวกระดังงา (พริกชี้ฟ้า) มีลำต้นสูงเฉลี่ย  7.5  ซม.  ทรงพุ่ม  45 ซม.  จำนวนรุ่นของดอกมี  12-15  รุ่น/ต้น  ผลมีสีเหลืองออกขาวมีความยาวผล   17.44  ซม.  เส้นรอบวง  3.4  ซม.  ให้ผลผลิตเฉลี่ย  4-5  กก./ต้น

30. พริกพันธุ์นางแบบ (พริกชี้ฟ้า) มีความสูงลำต้นเฉลี่ย  80  ซม.  ทรงพุ่ม  45  ซม.  จำนวนรุ่นของดอกมี  12-15  รุ่น/ต้น  ผลสีเขียวเข้ม  ความ ยาวผล  14.54  ซม.  เส้นรอบวง  1.63  ซม.  ผลผลิตเฉลี่ย  2  กก./ต้น

พริกมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมในระดับต่ำทั้งอาศัย ข้อมูลจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาและเครื่องหมายโมเลกุล โดยมีค่าเฉลี่ยของ polymorphic information contents (PIC) เท่ากับ 0.334 ในช่วงระหว่าง 0.061 – 0.63 ค่าเฉลี่ย HO และ gene diversity (GD) เท่ากับ 0.383 และ 0.154 ตามลำดับ สามารถจัดกลุ่มพริกได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาของวันดอกบาน เฉลี่ย 56.9 วัน อยู่ในช่วงระหว่าง 48 ถึง 65 วัน ความยาวเฉลี่ยของผลพริกเท่ากับ 6.9 ซม. อยู่ในช่วงระหว่าง 2.6 ถึง 13.9 ซม. ความกว้างเฉลี่ยของผลพริกเท่ากับ 1.9 ซม. อยู่ในช่วงระหว่าง 0.5 ถึง 4.2 ซม

การเพาะเกล้าพริกสามารถทำได้ 2 วิธี 

1) การเพาะเมล็ดพันธุ์ในแปลง นำเมล็ดหว่านกระจายให้ทั่วทั้งแปลงเพาะหรือโรยเมล็ดเป็นแถวลงไปในร่องลึก 0.6 – 1 เซนติเมตร ห่างกันแถวละประมาณ 10 เซนติเมตร กลบด้วยปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหรือดินผสมละเอียด รดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยหญ้าฟางแห้งหรือหญ้าแห้งบางๆ เมื่อเกล้าเริ่มงอกมีใบจริงอายุประมาณ 12 – 15 วัน ให้ถอนแยกต้นที่เป็นโรค ไม่สมบูรณ์หรือต้นที่เบียดกันแน่นเกินไปทิ้ง ให้มีระยะห่างกันพอสมควรและควรให้ปุ๋ยเสริมทางใบเพื่อให้ต้นเกล้าเจริญเติบโตและแข็งแรง  ในช่วงระหว่างต้นเกล้าเจริญเติบโตควรรดน้ำผสมเชื้อไตรโคเดอร์มาสด อัตรา 250 กรัมเชื้อสดต่อน้ำ 50 ลิตร เพื่อป้องกันโรคจากเชื้อรา เมื่อต้นเกล้าอายุ 30 – 40 วันจึงย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่ได้

2) การเพาะเมล็ดในกะบะเพาะ หรือถุงพลาสติกดำที่มีวัสดุเพาะเมล็ดที่อุ้มน้ำได้พอเหมาะ และระบายน้ำได้ดี ซึ่งอาจเป็นส่วนผสมสำเร็จรูป หรือผสมวัสดุเพาะเอง จากดินดี ขี้เถ้าแกลบ และปุ๋ยคอกเก่าอัตราส่วน 2:1:1 โดยกะบะเพาะอาจมีจำนวนหลุม 50 หลุม 60 หลุม หรือ 104 หลุม หยอดเมล็ดในถาดเพาะ 1 – 2 เมล็ดต่อหลุม หลังจากหยอดเมล็ด รดน้ำให้ชุ่มในครั้งแรก และรดน้ำวันละครั้งทุกวัน เมล็ดจะใช้เวลางอกประมาณ 7 – 10 วัน ในช่วงระหว่างต้นเกล้าเจริญเติบโตควรรดน้ำผสมเชื้อไตรโคเดอร์มาสด อัตรา 250 กรัม เชื้อสดต่อน้ำ 50 ลิตร เพื่อป้องกันโรคจากเชื้อรา ดูแลรักษาไม่ให้มีโรค แมลง และลักษณะผิดปกติ จนกระทั่งมีอายุอย่างน้อย 1 เดือน จึงเตรียมย้ายเกล้าปลูก ในการเพราะกล้าหากต้องการกระตุ้นให้ต้นเกล้าเจริญเติบโตเร็ว และมีความสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อปลูกพริกพันธุ์พื้นเมือง อาจเพาะเกล้าโดยโรยเมล็ดลงในภาชนะขนาดเล็ก เมื่อต้นเกล้างอกประมาณ 8 – 10 วัน ค่อยย้ายจากภาชนะ เลือกต้นเกล้าที่มีขนาดใกล้เคียงกันลงชำในถาดเพาะ ต้นเกล้าจะถูกกระตุ้นให้ออกรากใหม่และเจริญเติบโตเร็วขึ้นนอกจากนั้น หากเป็นไปได้ ไม่ควรวางถาดเพาะกล้าบนดินโดยตรง ควรวางบนชั้นโปร่งที่เตรียมไว้เพื่อป้องกันแมลง และสัตว์อื่นๆเข้ามากัดกินต้นพริกทำให้เสียหาย และยังช่วยให้การระบายน้ำจากถาดเพาะดีขึ้นด้วย และควรมีหลังคาชั่วคราวที่ช่วยป้องกันฝนอีกด้วย

การเตรียมแปลงเพาะเกล้า

ปรับสภาพดินด้วยปูนมาร์ล หรือไดโลไมท์ หรือปูนขาวอัตรา 0.5 – 1.0 กิโลกรัมต่อ 10 ตารางเมตร (หรือ 80 – 160 กิโลกรัมต่อไร่) รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโคเดอร์มาสด อัตรา 25 กรัมเชื้อสดต่อปุ๋ยหมัก 10 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร(หรือ 80 – 160 กิโลกรัมต่อไร่) รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้งผสมเชี้อไตรโคเดอร์มาสด อัตรา 25 กรัมเชื้อสดต่อปุ๋ยหมัก 10 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร ในกรณีที่เกษตรกรเพาะเกล้าในถาดเพาะ ให้ใช้ปุ๋ยหมักแห้งที่ผสมเชื้อไตรโคเดอร์มาสดเรียบร้อยแล้ว ผสมแกลบดำ ผสมดินขุยไผ่หรือดินบริสุทธิ์อัตราส่วน 2:1:1 หรือ ใช้ดินผสมระหว่าง  ดิน: แกลบดำ: ปุ๋ยคอก อัตรา 3:1:1  หลุมละ 1 เมล็ด  หลังการเพาะรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 1 เดือน หรือมีใบจริง 3-4 ใบ จึงย้ายลงแปลงปลูก

การเตรียมแปลงปลูก

ไถดะดินลึกประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 7 – 10 วัน แล้วนไถพรวนอีก 1 – 2 ครั้งเก็บวัชพืชออก หว่านปูนขาว อัตรา 200-300 กก./ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน และปรับสภาพดินด้วยปูนขาว อัตรา 25 ยกแปลงสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ในกรณีที่ต้องการลดแรงงานในการกำจัดวัชพืชอาจคลุมแปลงด้วยพลาสติกสีเงิน – ดำ (วางให้ด้านสีเงินอยู่ด้านบนแปลง) หรือฟางข้าวคลุมแปลง ขุดหลุมปลูกตามระยะปลูกลึกประมาณ 20 เซนติเมตร ระยะปลูกถ้าปลูกแบบแถวเดี่ยว ระยะห่างระยะต้น 50 – 60 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 80 – 100 เซนติเมตร ถ้าปลูกเป็นแถวคู่ ระยะห่างระหว่างต้น 50 – 60 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 60 – 80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวคู่ 100 – 120 เซนติเมตร และตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร

การย้ายปลูก

ย้ายกล้าปลูกเมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 30 – 40 วัน หลังจากเมล็ดงอกโผล่พ้นดินซึ่งพริกมักจะมีใบจริง 5 – 7 ใบ ทั้งนี้อาจขึ้นกับช่วงการตกของฝน หากล่าช้ากล้าพริกมีอายุมากเกินไปควรเด็ดยอดเพื่อให้พริกแตกพุ่มเร็วขึ้น หนึ่งหลุมปลูก 1 – 2 ต้น ใส่ปุ๋ย 15 – 15 – 15 ประมาณ 100 กรัม นำกล้าลงปลูกในหลุม กลบดินและรดน้ำจนชุ่ม ก่อนย้ายเกล้า 3 วัน ค่อยๆลดปริมาณการให้น้ำต้นกล้าลง เพื่อให้ต้นเกล้าแกร่ง (hardening) เมื่อย้ายปลูกจะช่วยลดอัตราการตายได้ดี หากมีต้นตาย ควรทำการปลูกซ่อมกล้าที่ตาย ในช่วง 5 – 7 วัน นอกจากนั้นหากก่อนย้ายกล้า อาจแช่รากกล้าพริกด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มาสดผสมน้ำนาน 10 – 20 นาที

การให้น้ำ

พริกเป็นพืชที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอและไม่ทนสภาพน้ำขัง การให้น้ำพริกขึ้นกับสภาพพื้นที่และต้นทุนที่เกษตรกรสามารถลงทุนได้ วิธีการให้น้ำได้แก่ ให้น้ำโดยระบบน้ำหยด ระบบสปริงเกลอร์ ใช้สายยางรด สัปดาห์แรกหลังการย้ายกล้าให้น้ำ 2 ครั้ง/วัน คือ ตอนเช้าและตอนเย็น หลังจากนั้นในสัปดาห์ที่สองให้น้ำวันละ 1 ครั้งในตอนเช้าหรีอปล่อยน้ำตามร่อง ควรให้ทุกๆ 2 – 3 วัน วันละ 2 – 3 ชั่วโมง  หรือสังเกตที่ผิวดิน ถ้าหากผิวดินแห้งอาจให้น้ำทุกวัน

การใช้น้ำของพริก อายุพืช 150 วัน ค่าการระเหยเฉลี่ย 4.9 มิลลิเมตร ค่า ET/E0 (KP) 0.79 น้ำใช้ของพืชต่อวัน 3.9 มม. น้ำที่ใช้ตลอดอายุพืช 465 มม. และใช้น้ำ 743 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ที่ความลึก 1.5 มม.

การป้องกันกำจัดศัตรูพริก

1.เพลี้ยไฟพริก ใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อพืชให้ช้ำ แล้วดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช ทำให้ใบและยอดอ่อน มีลักษณะด้านสีน้ำตาลขอบใบหงิก และม้วนงอขึ้นด้านบนทั้งสองข้าง ถ้าเข้าทำลายระยะพริกออกดอก จะทำให้ดอกพริกร่วงไม่ติดผล การทำลายในระยะผล จะทำให้รูปทรงของผลบิดงอ ถ้าการระบาดรุนแรงพืชจะชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด สุ่มสำรวจพริก 100 ยอด ต่อไร่ ทุกสัปดาห์ โดยเคาะลงบนแผ่นพลาสติกสีดำ และทำการป้องกันกำจัดเมื่อพบเพลี้ยไฟพริกเฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ในขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้พืชขาดน้ำ เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอ และเพลี้ยไฟพริกจะระบาดอย่างรวดเร็ว ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด แหล่งปลูกใหม่ พ่นด้วยคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโพรไทโอฟอส 50% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นซ้ำตามการระบาด แหล่งปลูกเดิม พ่นด้วยฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% เอสเอล อัตรา 20-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออะบาเม็กติน 1.8% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นซ้ำตามการระบาด ขณะพ่นสารควรปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยที่สุด และพ่นให้ทั่วตามส่วนต่างๆ ของพืชที่เพลี้ยไฟพริกอาศัยอยู่ กรณีระบาดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ควรใช้ปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวจากอาการใบหงิกได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น

2. เพลี้ยอ่อน ทำให้ใบและยอดอ่อนหงิกงอ บิดเบี้ยว ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกติดผลพริก การป้องกันกำจัด การใช้วิธีเขตกรรม เช่น กำจัดวัชพืชในบริเวณแปลงปลูก ถ้าพบเพลี้ยอ่อนมีความหนาแน่น 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ใบทั้งต้นจากจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทั้งหมด ให้พ่นสารฆ่าแมลง ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีโทเฟนพร็อกซ์ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่ง

3.ไรขาว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอด และดอก ทำให้ใบและยอดหงิกงอ ขอบใบม้วนงอลงด้านล่าง ทำให้ใบมีลักษณะเรียวแหลม ก้านใบยาว เปราะหักง่าย อาการขั้นรุนแรงส่วนยอดจะแตกเป็นฝอย ถ้าทำลายดอก กลีบดอกจะบิดแคระแกร็น ชะงักการเกิดดอก หากระบาดรุนแรง ต้นพริกจะแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต มักพบระบาดในช่วงที่มีอากาศชื้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน การป้องกันกำจัด สุ่มสำรวจพริกทุกสัปดาห์ หากพบอาการใบหงิกม้วนงอลงที่เกิดจากการทำลายของไรขาวพริก ให้ทำการป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดใช้สารฆ่าแมลง-ไร ที่มีประสิทธิภาพ เช่น อะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไพริดาเบน 20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% เอสซี อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ กำมะถัน 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นซ้ำตามการระบาด

4. ไส้เดือนฝอยรากปม ใช้ fluopyram 40% sc อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลังย้ายกล้าปลูก 1 เดิอน ทำการราดสาร 100 มิลลิลิตรต่อหลุมปลูก

ต้นทุนการผลิตพริก

พริกใหญ่ เกษตรกรจะทำการปลูกพริกปีละ 1 ครั้ง หรือฤดูละ 7 เดือน เริ่มปลูกเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวกรกฎาคม มีต้นทุนปลูกพริกใหญ่ไร่ละ 20,489.10 บาท หรือต้นทุนกิโลกรัมละ 7.96 บาท รายได้ที่เกษตรกรขายผลผลิตไร่ละ 31,575.94 บาท มีผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 11,086.84 บาท หรือกิโลกรัมละ 4.31 บาท

พริกเล็ก เกษตรกรจะทำการปลูกพริกปีละ 1 ครั้ง หรือฤดูละ 7 เดือน เริ่มปลูกเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวกรกฎาคม มีต้นทุนปลูกพริกใหญ่ไร่ละ 14,275.93 บาท หรือต้นทุนกิโลกรัมละ 10.03 บาท รายได้ที่เกษตรกรขายผลผลิตไร่ละ 59,671.70 บาท มีผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 45,395.77 บาท หรือกิโลกรัมละ 31.88 บาท

 

ตารางที่ 1 ต้นทุนพริกเล็กและพริกใหญ่

รายการ

ปี 2558

พริกเล็ก

พริกใหญ่

- ต้นทุนผันแปร- ต้นทุนคงที่- รวมทั้งหมด (บาท/ไร่)

13,201.46

1,074.47

14,275.93

19,951.83

537.27

20,489.10

- ต้นทุนทั้งหมดต่อกิโลกรัม (บาท/กก.)- รายได้ที่เกษตรกรขายผลผลิตได้- ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่- ผลตอบแทนสุทธิ (บาท/กก.)

10.03

59,671.70

45,395.77

31.88

7.96

31,575.94

11,086.84

4.31

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 

การส่งออก

พริกตระกูลแคบซิกัมสดหรือแช่เย็น ปี 2554 – 2559 ปริมาณการส่งออกพริกตระกูลแคบซิกัม อยู่ระหว่าง 74 – 882 ตัน มูลค่าอยู่ระหว่าง 7 – 34 ล้านบาท ในปี 2559 ปริมาณการส่งออก 112 ตัน มูลค่าการส่งออก 11 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2558 ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.45 และมีมูลค่าการส่งออกลเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.50

พริกตระกูลพิเมนตาสดหรือแช่เย็น ปี 2554 – 2559 ปริมาณการส่งออกพริกตระกูลพิเมนตา อยู่ระหว่าง9,626 – 17,584 ตัน และมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 125 – 196 ล้านบาท ในปี 2559 ปริมาณการส่งออก 9,626 ตัน มูลค่าการส่งออก 125 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2558 ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 99.33 และมีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 99.25

พริกตระกูลแคบซิกัมทำไว้ไม่ให้เสียชั่วคราว ปี 2554 – 2559 ปริมาณการส่งออกพริกตระกูลแคบซิกัมทำไว้ไม่ให้เสียชั่วคราว อยู่ระหว่าง 1,249 – 3,679 ตัน มูลค่าอยู่ระหว่าง 50 – 118 ล้านบาท ในปี 2559 ปริมาณการส่งออก 1,249 ตัน มูลค่าการส่งออก 50 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2558 ปริมาณการส่งออลดลงร้อยละ 47.54 และมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 34.21

—————————————————————————————————————————————————

คู่ค้ากับประเทศอาเซียน

การนำเข้า มีการนำเข้าพริกมาจากกัมพูชา ปริมาณ 6,593,930 กิโลกรัม มูลค่า 197,632,900 บาท และเมียนมาร์ ปริมาณ 10,125 กิโลกรัม มูลค่า 491,191 บาท

การส่งออก มีการส่งออกพริกขี้หนูไปยังมาเลเซีย และบรูไน ปริมาณ 27,693,761 และ 56,666 กิโลกรัม มูลค่า 414,882,195 บาท และ 2,641,686 บาท ตามลำดับ และส่งออกพริกชี้ฟ้าไปยังบรูไน ปริมาณ 32,708 กิโลกรัม มูลค่า 1,197,300 บาท

————————————————————————————————————————————————-

การเปรียบเทียบพันธุ์พริก วางแผนการทดลองแบบ RCBD 4 ซ้ำ ไม่น้อยกว่า 5 กรรมวิธี โดยค่า df ไม่น้อยกว่า 12 ต้องสร้างแปลงพริกขนาด 1*6 เมตร ใช้ระยะปลูก 50×100 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวคู่ 100 เซนติเมตร ปลูกพริกแถวคู่ 24 ต้นต่อพันธุ์ บันทึกความสูง ความกว้างทรงพุ่ม เมื่ออายุ 2 เดือนหลังย้ายกล้า และทุกเดือนจนกระทั่งทรงพุ่มชนกัน อายุเมื่อดอกบาน 50% (เมื่อมีที่มีต้นดอกแรกบาน 12 ต้นจาก 24 ต้น) อายุที่ผลแรกในแต่ละพันธุ์สามารถเก็บเกี่ยวผลสุกได้ อย่างน้อย 50% ของจำนวนต้นทั้งหมด จำนวนครั้งและปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้แต่ละครั้ง อัตราเปลี่ยนเป็นผลแห้งโดยใช้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวครั้งที่ 4

ปัญหาของพืช ข้อจำกัดและโอกาส 

- ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ / พันธุ์ต้านทาน / พันธุ์ทนทาน โรคแอนแทรคโนสหรือโรคเหี่ยว
- ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพต่ำ โดยเฉพาะการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล และปลอดภัยจากสารพิษตดค้าง
- ยังขาดความรู้และวิธีการจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ และมีความเสียหายมาก
- ปริมาณและคุณภาพของพริกที่ผลิตได้ไม่สอดคล้องหรือสม่ำเสมอกับความต้องการใช้ของผู้แปรรูป

 

 

โดย สัจจะ ประสงค์ทรัพย์
Satja Prasongsap (Research Scientist)
Horticultural Research Institute

Tags:

Category: พืชผัก, พืชผัก บ-ม

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news