พลูคาว
พลูคาว
ชื่ออื่นๆ : ผักก้านตอง ผักเข้าตอง ผักคาวตอง ผักคาวทอง ผลูแก
ชื่อวงศ์ : SAURUACEAE
ชื่อสามัญ : Vap ca
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Houttuynia cordata Thunb.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ขนาดเล็กต้นตั้งเตี้ยๆ แตกกิ่งก้านใบ แผ่อยู่เหนือดินเล็กน้อย ใบเดี่ยว เหมือนใบพลู แต่หนากว่าเล็กน้อย โคนใบเว้าลึก ยาว 2-3 นิ้ว ใบมีกลิ่นคาวเหมือนปลาช่อน ดอกช่อขนาดเล็กไม่มีก้าน ต้นและใบมีสีเขียวเข้ม
การนำไปใช้ประโยชน์ : ใบสดใช้รับประทานเป็นผัก แก้กามโรค ทำให้น้ำเหลืองแห้ง และใช้แก้โรคผิวหนัง ในประเทศจีนใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ขับปัสสาวะและต้านเนื้องอก นำมาขยี้หรือตำแล้วทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังวันละ 2-3 ครั้ง
การขยายพันธุ์ : ปักชำ
การปลูกและการดูแล : โดยการเตรียมดินใส่ปุ๋ยคอกคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วยกร่องป้องกันน้ำท้วมขัง นำยอดพันธุ์พลูคาว ยาวประมาณ 1 คืบ (มีข้อ 3-4 ข้อ) เด็ดใบออกเกือบหมดเหลือเฉพาะยอด ปักลงแปลงให้มิดข้อ 1 ข้อ โดยจะปักจุดละ 1-3 ยอดก็ได้ ระยะปลูกประมาณ 15×15 ซม. หรือนำยอดพันธุ์ลงปลูกในกระถาง 3-5 ยอด ต่อกระถาง รดน้ำตามปกติ อย่าให้แชะมาก เพราะจะทำให้เน่าได้
สรรพคุณ
ใบ แก้กามโรค ทำให้น้ำเหลือง แก้เข้าข้อ แก้โรคผิวหนังทุกชนิด ทำให้แผลแห้ง ทำให้แท้ง
ทั้งต้น ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ฝีบวม อักเสบ แก้ปอดอักเสบ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไอ แก้บิด แก้โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้หูชั้นกลางอักเสบ แก้ริดสีดวงทวาร
งานวิจัย
โครงการวิจัยพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลูคาว ปี 2554-58
1 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพันธุ์
1.1 รวบรวมและศึกษาพันธุ์พลูคาว
- สำรวจและรวบรวมพันธุ์พลูคาวจากแหล่งต่างๆ มาปลูกในแปลงทดลอง ปฏิบัติดูแลรักษา ให้น้ำและให้ปุ๋ย ตามความเหมาะสม ศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ การเจริญเติบโต และศัตรูที่พบทำลาย จำแนกพันธุ์ทางชีวโมเลกุล (DNA) โดยเทคนิค AFLP การบันทึกข้อมูล แหล่งที่มาของพันธุ์พลูคาวจากแต่ละพื้นที่ ลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะสัณฐานวิทยา ลักษณะพฤกษศาสตร์ ได้แก่ ทรงพุ่ม ลำต้น การแต่งกิ่ง ลักษณะใบ ดอก บันทึกภาพถ่าย ในแต่ละระยะของการเจริญเติบโต
1.2 ทดสอบพันธุ์พลูคาวในแหล่งปลูกต่างๆ
- เตรียมกล้าพันธุ์พลูคาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ปลูกพลูคาวจำนวน 4 สายพันธุ์ ปฏิบัติดูแลรักษาแปลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร วางแผนการทดลองแบบ 2×4 แฟคทอเรียลในสุ่มสมบูรณ์ภายในกลุ่ม (RCB) 8 กรรมวิธี 5 ซ้ำ (บล็อก) ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ปลูกทดสอบที่มีระดับความสูงต่างกัน 2 พื้นที่ คือ ระดับน้ำทะเล 150 m asl และระดับน้ำทะเล 950 m asl และ ปัจจัยที่ 2 ได้แก่ พันธุ์พลูคาว 4 พันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์ใบแดง สายพันธุ์ใบเขียว สายพันธุ์ก้านม่วง และ สายพันธุ์ใบด่าง ขนาดแปลงปลูก 5 ตารางเมตร/ซ้ำ บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโต ปริมาณ คุณภาพของผลผลิต และปริมาณสารสำคัญ
2.วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเขตกรรม
2.1 การจัดการปุ๋ยสำหรับการผลิตพลูคาว
- วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ภายในกลุ่ม (RCB) 6 กรรมวิธี 4 ซ้ำ (บล็อก) ได้แก่ 1. ใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์พืช 2. ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ 3. ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ 4. ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ 5. ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ 6. ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี (ตัวควบคุม) เก็บตัวอย่างพลูคาวส่วนเหนือดินในระยะเก็บเกี่ยว (สุ่มเก็บจากบริเวณที่ใช้ปุ๋ยต่างๆกัน) เมื่อได้ผล วิเคราะห์พืช จึงกำหนดสัดส่วนปุ๋ยในกรรมวิธีที่ 1 ปรับปรุงดินตามผลวิเคราะห์ดิน บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตทุกเดือน บันทึกผลผลิตเชิงปริมาณ คุณภาพผลผลิต และปริมาณสารสำคัญ
2.2 ผลของการพรางแสงที่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของพลูคาว
-วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ภายในกลุ่ม (RCB) 4 กรรมวิธี 5 ซ้ำ (บล็อก) ได้แก่ 1. การพรางแสงด้วยซาแรนสีดำพรางแสง 70% 2.การพรางแสงด้วยซาแรนสีดำพรางแสง 60% 3. การพรางแสงด้วยซาแรนสีดำพรางแสง 50% 4. การปลูกกลางแจ้ง บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโต ผลผลิตเชิงปริมาณ คุณภาพผลผลิต และปริมาณสารสำคัญ
2.3 การจัดการโรคและแมลงศัตรูพลูคาว
- สำรวจชนิดและปริมาณโรคและแมลงเข้าทำลายพลูคาวทุกเดือน ศึกษาแนวทางป้องกันกำจัดโรคและแมลงพลูคาว ปลูกพลูคาวในแปลงขนาด 5 ตารางเมตร/ซ้ำ การบันทึกข้อมูล จำนวนและชนิดของโรคพลูคาวทุกเดือนๆละ 1 ครั้ง จำนวนและชนิดของแมลงศัตรูพลูคาวทุกเดือนๆละ 1 ครั้ง ลักษณะการทำลาย ลักษณะอาการของโรค ช่วงระยะเวลาการเข้าทำลาย สาเหตุการเกิดโรคข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน และข้อมูลอื่น ๆ
2.4 ศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของพลูคาว
- เตรียมแปลงทดลองพลูคาว วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ภายในกลุ่ม (RCB) มี 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ (บล็อก) ได้แก่ 1. เก็บเกี่ยวอายุ 4 เดือน ภายหลังปลูก 2. เก็บเกี่ยวอายุ 5 เดือน ภายหลังปลูก 3. เก็บเกี่ยวอายุ 6 เดือน ภายหลังปลูก 4. เก็บเกี่ยวอายุ 7 เดือน ภายหลังปลูก 5. เก็บเกี่ยวอายุ 8 เดือน ภายหลังปลูก ขนาดแปลงปลูก 5 ตารางเมตร/ซ้ำ โดยใช้พันธุ์ใบแดง บันทึกข้อมูลคุณภาพผลผลิต ปริมาณสารสำคัญ
3 วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
3.1 การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาวัตถุดิบที่มีผลต่คุณภาพของพลูคาว
- วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ภายในกลุ่ม (RCB) 6 กรรมวิธี 4 ซ้ำ (บล็อก) ได้แก่ 1. การตากแดดจนแห้งสนิท 2. การอบแห้งที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส 3. การอบแห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส 4. การอบแห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 5. การอบแห้งที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส 6 การผึ่งโดยวางแผ่กระจายในที่ร่ม ลมถ่ายเทได้สะดวกจนแห้งสนิท (ตัวควบคุม)บันทึกข้อมูลคุณภาพผลผลิต ปริมาณสารสำคัญ โดยใช้พันธุ์ใบแดงจากขนาดแปลงปลูก 5 ตารางเมตร
Category: พืชผักพื้นบ้าน, พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร บ-ม