ส้มป่อย
ส้มป่อย (Som poi)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia concinna (Willd.) DC.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE)
ชื่ออื่น : ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ส้มป่อยเป็นไม้รอเลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป เปลือกต้นสีน้ำตาล ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้น ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน โคนใบและปลายใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแน่น รูปทรงกลมที่ปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาวนวล อัดแน่นอยู่บนแกนช่อดอก ผล เป็นฝักแบนยาวเป็นลอนตามเมล็ด ยาว 4-12 ซม. ปลายฝักแหลม สันฝักหนา มีสารกลุ่มซาโปนินสูงถึง 20% ตีกับน้ำจะเกิดฟอง
สรรพคุณ
ใบ มีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย ต้มน้ำดื่มขับเสมหะ ขับระดูขาว แก้บิด แก้โรคตา ตำประคบให้เส้นเอ็นอ่อน
ดอก มีรสเปรี้ยวฝาดมัน แก้เส้นเอ็นที่พิการให้สมบูรณ์
ฝัก มีรสเปรี้ยว ต้มหรือบดรับประทานเป็นยาถ่าย ขับเสมหะ แก้ไอ แก้ไข้จับสั่น ทำให้อาเจียน แก้น้ำลายเหนียว ต้มเอาน้ำสระผมแก้รังแค ตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผล แก้โรคผิวหนัง
เปลือกฝักมีรสขมเปรี้ยวเผ็ดปร่า เจริญอาหาร กัดเสมหะ แก้ไอ แก้ซางเด็ก
เมล็ดคั่ว บดละเอียด ใช้เป่าจมูก ทำให้จาม
ต้น มีรสเปรี้ยวฝาด แก้น้ำตาพิการ
ราก มีรสขม แก้ไข้
Category: พืชสมุนไพร, พืชสมุนไพร ย-ฮ