banner ad

ด้วงงวงมันเทศ

| September 17, 2014

ด้วงงวงมันเทศ (sweet potato weevil)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cylas formicarius Fabricius

วงศ์ Curculionidae

อันดับ Coleoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ด้วงงวงมันเทศเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมันเทศ โดยตัวเต็มวัยจะทำลายทุกส่วนของพืชในขณะที่ตังหนอนทำลายในหังและเถา สำหรับหัวมันเทสที่ถูกทำลายจะมีลักษณะเป็นทางคดเคี้ยว มีสีเขียวและสีดำ แม้ถูกทำลายเพียวเล็กน้อยก็ไม่สามารถรับประทานได้ เพราะมีกลิ่นเหม็นและรสขม หัวมันเทศที่ถูกทำลายรุนแรงบางครั้งเน่าและมีกลิ่นเหม็น ในช่วงเดือนแรกจะพบด้วงงวงมันเทศทำลายมันเทศเฉพาะบริเวณต้นและเถาเท่านั้น เมื่อมันเทศอายุ 1.5 เดือน ซึ่งเป็นระยะเริ่มมีหัว จะพบด้วงงวงมันเทศเริ่มเข้าทำลาย แต่บางแหล่งปลูกก็พบเมื่ออายุ 2-2.5 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกและความรุนแรงของการระบาด การแพร่กระจายของด้วงงวงมันเทศมีแนวโน้มว่าเป็นแบบรวมกลุ่ม ด้วงงวงมันเทศชอบออกบินในช่วงเวลา 20.00 21.00 น. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศผู้ ส่วนช่วงเช้า
( 8.00-9.00น.) และกลางวัน (12.00-13.00น.) ไม่พบตัวเต็มวัยออกบิน จำนวนตัวเต็มวัยจะพบมากขึ้น เมื่อพืชอายุมากขึ้นและพบสูงสุดในช่วงเก็บเกี่ยวหัวมันเทศ

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยด้วงงวงมันเทศเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก ลำตัวส่วนปีกมีสีน้ำเงินเข็มเป็นมัน บริเวณอกและขามีสีอิฐแดง ส่วนหัวยื่นยาวออกมาเป็นงวงและโค้งลง ปีกคู่แรกแข็งกว่าลำตัว ๆ ยาวประมาณ 5.0-6.5 มม. กว้าง 1 มม. ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณหัวและเถามันเทศ ในรอยเจาะใต้ผิวเปลือก ถ้าเป็นเถามันเทศแมลงจะวางไข่ใกล้ตาและก้านใบ ไข่มีสีครีม ด้านหังแหลม ท้ายกว้างรูปร่างรี ๆ คล้ายไข่ไก่ ผิวเรียบแต่ไม่เป็นมัน เปลือกไข่บางมากและแตกง่าย ขนาดของไข่กว้างยาวเฉลี่ย 0.44 x 1.61 มม. ปกติไข่จะไม่เปลี่ยสี ไข่เมื่อใกล้ฟักจะมองเห็นหัวของตัวหนอนมีสีดำด้านบนของไข่ ระยะไข่ประมาณ 4-5 วัน หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีสีขาวไม่มีขา ลำตัวอ่อนบางสามารถเห็นอวัยวะภายในได้ หัวมีสีน้ำตาลลำตัวงอเล็กน้อย ระยะหนอนประมาณ 11-13 วัน หนอนมี 3 ระยะ หนอนวัยที่1 มักพบทำลายบริเวณผิวมันเทศลึกประมาณ 0.5 ซม. หนอนวัยที่ 2 ทำลายลึกกว่าหนอนวัยที่ 1 และหนอนวัยที่ 3 จะทำลายลึกกว่าหนอนวัยที่ 1 และ 2 หัวมันเทศที่ถูกทำลายและเสียหายมักเกิดจากหนอนวัย 3 หนอนขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 7 ม. หนอนจะเข้าดักแด้บริเวณหัวและเถามันเทศ ดักแด้ระยะแรกมีสีขาว ต่อมาตา ปีก และขาจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ลำตัวมีสีค่อนข้างเหลือง ส่วนท้องมองเห็นไม่ชัด และเคลื่อนไหวได้ ขนาดดักแด้เฉลี่ย 5 มม.ระยะดักแด้ 5-6 วัน มักพบดักแด้ภายในบริเวณหัวและเถามันเทศประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นจึงออกมาภายนอก พบว่า ในสภาพที่มีอาหารตัวเต็มวัยสามารถมีอายุได้นานถึง 40-53 วัน เพศผู้มีอายุยาวนานกว่าเพศเมีย แต่ในสภาพที่ไม่มีอาหารแมลงจะมีอายุเพียง 10 วันเท่านั้น

พืชอาหาร

มันเทศ ผักบุ้ง และวัชพืชตระกูลเดียวกับมันเทศ

ศัตรูธรรมชาติ

ศัตรูธรรมชาติของด้วงงวงมันเทศที่พบ ได้แก่ แตนเบียนหนอน ( Rhaconotus sp.) ซึ่งส่วนใหญ่พบทำลายหนอนที่อยู่บริเวณเถามันเทศเหนือดินเท่านั้น ไม่พบทำลายหนอนที่หัวมันเทศ แต่ความเสียหายของมันเทศนั้น เกิดจากการทำลายของแมลงที่หัวมันเทศ ซึ่งแตนเบียนไม่สามารถเข้าทำลายหนอนได้ ดังนั้นแตนเบียนชนิดนี้จึงไม่สามารถควบคุมการระบาดของด้วงงวงมันเทศได้เชื้อราขาว Beauveria bassiana และ ไส้เดือนฝอย Steinernema carpocapsae และ Heterorhabdtis sp. เป็นศัตรูธรรมชาติของด้วงงวงมันเทศ ซึ่งทำให้ด้วงงวงมันเทศตายภายใน
24 -48 ชั่งโมง ตามลำดับ

การป้องกันกำจัด
1. วิธีเขตกรรม หลีกเลี่ยงการปลูกมันเทศในแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศ หลีกเลี่ยงการปลูกมันเทศซ้ำที่เดิม ถ้าเป็นไปได้ควรปลูกหมุนเวียนโดยใช้พืชต่างตระกูลกับมันเทศ ควรใช้เถามันเทศที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากด้วงงวงมันเทศมาปลูก กำจัดวัชพืชที่เป็นตระกูลเดียวกันกับมันเทศ บริเวณรอบๆ แปลงปลูกมันเทศออกให้หมด
2. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น คาร์โบซัลแฟน ( ฟอสซ์ 20% อีซี) หรือ ฟิโปรนิล (แอสเซนด์ 5% เอสซี) อัตรา 100 และ 20 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ

 

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news