banner ad

หนอนเจาะฝักลายจุด

| September 17, 2014

หนอนเจาะฝักลายจุด (bean pod borer )

ชื่อวิทยาศาสตร์ Maruca testulalis (Hbner)

วงศ์ Pyralidae

อันดับ Lepidoptera

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนเจาะฝักลายจุด เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของถั่วฝักยาวทำความเสียหายและมีผลกระทบต่อผลผลิต หนอนชนิดนี้เมื่อฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปกินภายในดอกอ่อน ต่อมาจะกัดส่วนของดอกและเกสรทำให้ดอกร่วง เมื่อหนอนโตขึ้นจะเจาะเข้าไปกินภายในฝัก ส่วนที่เป็นเมล็ดอ่อน ทำให้ฝักและเมล็ดลีบผลผลิตลดลงหนอนเจาะฝักชนิดนี้พบระบาดในพืชตระกูลถั่วทั่วไปในแหล่งปลูกผักที่สำคัญของประเทศ เช่น จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี จะพบหนอนชนิดนี้ระบาดอย่างรุนแรงในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธุ์ถึงมีนาคมของทุกปี

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยของหนอนเจาะฝักลายจุดเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก กางปีกเต็มที่วัดได้ 2.5 ซม. ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลดำ ตรงกลางปีกคู่หลังเป็นแผ่นใสมากกว่าปีกคู่หน้า วางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือซ้อนกัน 2-3 ฟอง ตามกลีบดอก ลักษณะของไข่เป็นเกล็ดขาว ขนาดเล็กประมาณ 0.5-0.8 มม. มองด้วยตาเปล่าเห็นได้ค่อนข้างยาก ระยะไข่ประมาณ 3 วัน หนอนเมื่อฟักออกจากไข่แล้วจะแทรกตัวเข้าไประหว่างรอยต่อของกลีบดอก และเข้าไปอาศัยกินเกสร หนอนระยะแรกมีขนาดประมาณ 1.3 มม. ลำตัวมีสีขาวนวล คอด้านบนมีแผ่นแข็งสีน้ำตาลดำสังเกตง่าย หนอนเจริญเติบโตโดยกัดกินเกสรภายในดอก ในระยะที่หนอนทำลายอย่างรุนแรงจะมีขนาดประมาณ 5 มม.ขึ้นไป ลักษณะการทำลายจะกัดกินและเจาะรูเข้าไปยังอีกดอกหนึ่ง หนอนเจริญเต็มที่มีขนาด 1.5-1.7 ซม. จะพบการทำลายโดยกัดกินและเจาะรูเข้าไปในฝักถั่ว ก่อนเข้าดักแด้หนอนจะเคลื่อนย้ายจากฝักหนึ่งไปอีกฝักหนึ่ง พบหนอนมากกว่าหนึ่งตัวในฝักเดียวกัน ดักแด้จะพบตามใบแห้ง หรือซอกกลีบดอกแห้งที่ติดตามต้นและฝัก ระยะดักแด้
7 วัน ตัวเต็มวัยมีลักษณะของลำตัวเป็นลายประสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะเช่นนี้จึงเรียกว่าหนอนเจาะฝักลายจุด

พืชอาหาร

ระบาดในพืชตระกูลถั่ว

ศัตรูธรรมชาติ

แมลงศัตรูธรรมชาติที่พบเข้าทำลายหนอนเจาะลายจุด ได้แก่ แมลงห้ำ เช่น ต่อ (Vespa sp.) มวนพิฆาต ( Eocanthecona furcellata (Woff)) เป็นต้น

การป้องกันกำจัด

  1. วิธีกล ก่อนปลูกพืชประมาณ 2 สัปดาห์ ควรทำการไถพรวน และตากดินเพื่อกำจัดดักแด้ของแมลงศัตรูที่อาจหลงเหลืออยู่ในแปลงปลูก
  2. การใช้เชื้อแบคทีเรีย (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) ที่มีจำหน่ายเป็นการค้า ได้แก่ Bacillus thuringiensis subsp. aizawai เช่น เซนทรี และ ฟลอร์แบค ดับบลิวดีจี เป็นต้น Bacillus thuringiensis subsp.kurstaki เช่นเดิลฟิน และแบคโทสปิน เอ็ชพี อัตรา 60-80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เป็นต้น
  3. การใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น เบต้าไซฟลูทริน (โฟลิเทค 025 อีซี 2.5% อีซี) หรือ เดลทาเมทริน (เดซิส 3 3% อีซี) อัตรา 30 และ 20 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute
E-mail : herbdoa@gmail.com

Category: ศัตรูพืช, แมลงศัตรูพืช

Comments are closed.

banner ad

Hit Counter provided by technology news